Zero Waste กับ เกษตรยั่งยืน

ตัวอย่างฟาร์มที่ใช้หลักการ Zero Waste กับ เกษตรยั่งยืน

Zero Waste เป็นแนวคิดในการที่จะทำให้ไม่เกิดของเหลือ หรือทำให้เกิดของเหลือน้อยที่สุดในกระบวนการผลิต แล้วจึงนำส่วนที่เหลือไม่สามารถใช้ประโยชน์แล้วไปกำจัด เริ่มมีการนำมาใช้ในช่วง ค.ศ. 1970 ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งภาคอุตสาหกรรมยังได้มีการแลกเปลี่ยนหรือขายของเหลือดังกล่าวให้กับโรงงานหรือสถานประกอบการอื่นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ทำให้ของเหลือเหล่านั้นมีจำนวนน้อยลงไปอีกด้วย

ประชากรที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลาทำให้มีการผลิตที่ต้องตอบสนองความต้องการของประชากรจำนวนมาก ภาคอุตสาหกรรมจึงมีการเติบโตเป็นอย่างมาก ทำให้ปัจจุบันภาคการเกษตรที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชากรโลกได้ถูกภาคอุตสาหกรรมและชุมชนเมืองเข้ามาใช้พื้นที่แทนเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าจะมีการรุกคืบหน้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ในการทำการเกษตรมีน้อยลง อีกทั้งทรัพยากรที่จะนำมาใช้สำหรับการทำเกษตรกรรมก็ยังถูกแบ่งไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมและชุมชนเมือง เช่น ทรัพยากรน้ำ เป็นต้น

1469343148

การจัดการทรัพยากรทางด้านการเกษตรจึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับการรุกเข้ามาของภาคอุตสาหกรรมและชุมชนเมือง รวมถึงการที่จะต้องปรับใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด การปรับลดการใช้ทรัพยากร การใช้ทรัพยกรที่มีอยู่ไม่ต้องไปหาจากแหล่งอื่นมาเป็นหนทางที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่ายังที่จะต้องพึ่งพาทรัพยากรจากภายนอกบ้างก็ตาม

จากการทำเกษตรกรรมในพื้นที่กว้างและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมากมาย ต้องเปลี่ยนมาทำการเกษตรในพื้นที่ที่น้อยลง รวมถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ภาคการเกษตรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและการปฏิบัติการทางด้านเกษตรเสียใหม่ การนำแนวคิด Zero Waste มาใช้เป็นแนวทางหนึ่งที่ภาคเกษตรกรรมสามารถเลือกมาปรับปรุงการดำเนินการได้จึงเป็นการนำไปสู่ยุคของ Zero Waste ทางด้านการเกษตร หรือ “Zero Waste Agriculture”

เกษตรยั่งยืน (Sustainable Agriculture) หมายถึง การทำการเกษตรด้วยความตระหนักถึงสภาพแวดล้อม มีการปรับปรุงการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพ ดิน น้ำ อากาศ รวมถึงสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทำให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน ให้ผลผลิตอย่างเหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ เป็นการลงทุนที่ไม่เสียเปล่า เพราะการที่ไม่ทำการศึกษาสภาพแวดล้อมก่อนการทำการเกษตรอาจทำให้ไม่เกิดผลผลิตตามที่คาดการณ์ไว้ ได้ผลผลิตน้อยหรืออาจเสียหายทั้งหมด

แกลบรองพื้นคอกสัตว์ ของเหลือที่นำไปใช้เป็นปุ๋ยคอกให้กับแปลงผัก
แกลบรองพื้นคอกสัตว์ ของเหลือที่นำไปใช้เป็นปุ๋ยคอกให้กับแปลงผัก

ปัจจุบันเกษตรกรหรือบริษัทที่ดำเนินการทางด้านเกษตรได้นำหลักการ “เกษตรยั่งยืน” มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งเกษตรยั่งยืนเป็นภูมิปัญญาของมนุษย์อยู่แล้วในบางส่วน เช่น การปลูกข้าวมีการเลือกพันธุ์ข้าวที่มาปลูกให้เหมาะสมกับฤดูที่จะทำการปลูก ที่มีการเรียกกันว่า “ข้าวนาปี” กับ “ข้าวนาปรัง” เป็นต้น อีกทั้งยังมีการนำวัตถุดิบที่เหลือใช้มาทำประโยชน์ แทนที่จะนำไปทิ้งให้หมดคุณค่า เช่น การนำต้นกล้วยมาเป็นอาหารสัตว์หลังจากที่เก็บผลผลิตกล้วยแล้วเนื่องจากต้นกล้วยจะให้ผลผลิตเพียงครั้งเดียว ถ้าปล่อยไว้ก็ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด การนำมาทำอาหารสัตว์เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับต้นกล้วยและไม่เป็นการทิ้งโดยเปล่าประโยชน์

Zero Waste และ Zero Waste Agriculture กับ เกษตรยั่งยืน (Sustainable Agriculture) มีส่วนที่เหมือนกันคือการใช้ภูมิปัญญาของมนุษย์ในการนำสิ่งที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดโดยที่ไม่มีสิ่งใดเหลือทิ้งให้เปล่าประโยชน์ ซึ่งของเหลือบางอย่างยังต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการกำจัดด้วย การที่นำมาทำประโยชน์ได้ จึงเป็นการลดภาระด้านเวลาและค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเหลือเหล่านั้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าที่ทำให้เกิดรายรับที่มากขึ้นกว่าการที่จะทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ หรืออาจนำไปใช้ในกิจกรรมอื่นเพื่อลดต้นทุนในกิจกรรมนั้นทำให้ได้กำไรของกิจกรรมนั้นเพิ่มมากขึ้น

จากตัวอย่างที่ได้ยกมาแล้วว่าต้นกล้วยสามารถนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้ ทำให้ต้นทุนค่าอาหารสัตว์ชนิดนั้นต่ำลงจึงทำให้กำไรจากการเลี้ยงสัตว์มากขึ้น อีกทั้งก็ยังไม่เหลือต้นกล้วยให้ต้องนำไปกำจัดอีกด้วย

เกษตรยั่งยืนจึงได้นำหลักการของ “การจัดการของเหลือให้เป็นศูนย์” (Zero Waste Management) มาปรับใช้กับการเกษตรในมิติต่างๆ อย่างเป็นระบบเพื่อลดต้นทุนการผลิตและลดของเหลือจากกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะการบริหารจัดการฟาร์ม การจัดการเกษตรพอเพียง การเกษตรที่มีลักษณะการจัดการเช่นนี้จะทำให้สามารถแข่งขันกับราคาสินค้าเกษตรที่มีราคาผันผวนได้อย่างดีเนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำ หน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา รวมถึงแหล่งเรียนรู้ชุมชน ได้มีการเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวกับการทำเกษตรยั่งยืนที่มีการนำหลักการดังกล่าวนี้มาใช้กันอย่างแพร่หลาย เกษตรกรควรที่จะศึกษาและนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง

 

เกษตรกรสามารถสอบถามหรือขอข้อแนะนำต่างๆ ได้ตามหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา แหล่งเรียนรู้ชุมชน ที่อยู่ในพื้นที่ของท่าน หรือพื้นที่ใกล้เคียง และสามารถปรึกษากับวิทยากรของทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพสุวรรณภูมิ แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ที่เปิดเป็นฟาร์มตัวอย่างให้สามารถเข้าชมได้ โดยติดต่อที่ผู้ดูแลโครงการ อาจารย์พนิตา ภักดี (091) 436-6291 และอาจารย์ประดิษฐ ดีใจ (081) 475-0510