เนื้อเถื่อน จับกันไปเท่าไรแล้ว?

สำหรับผลการปฏิบัติงานจับกุมการลักลอบนำเข้าเนื้อเถื่อน ของกรมปศุสัตว์ ในปีงบประมาณ 2558-2559 คือตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557-4 พฤษภาคม 2559 นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ให้ข้อมูลว่า

ปีงบประมาณ 2558 ได้จับกุม/ยึด/อายัดของกลาง 51 ครั้ง ได้ของกลาง 685,895 กิโลกรัม มูลค่า 62,404,520 บาท ของกลางที่ทำลายไปแล้ว จำนวน 502,002 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 52,694,020 บาท

ขณะที่ปีงบประมาณ 2559 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558-4 พฤษภาคม 2559 ได้จับกุม/ยึด/อายัดของกลาง 76 ครั้ง ได้ของกลาง 373,902.39 กิโลกรัม มูลค่า 38,826,311 บาท ของกลางที่ทำลายไปแล้ว จำนวน 285,759 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 30,687,521 บาท

ทั้งนี้ เนื้อเถื่อนที่จับได้ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อที่นำเข้ามาจากประเทศอินเดีย โดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับการนำเนื้อเถื่อนเข้ามาจำหน่าย หรือที่เรียกว่า การสวมเนื้อว่า ทำได้โดยนำเนื้อโคอินเดียมารวมกับเนื้อวัวไทยที่เพิ่งเชือด แล้วนำเลือดมาสาดละเลงให้เป็นเนื้อเดียวกันก่อนนำออกขายตลาด

โดยจะมีการลักลอบนำเนื้อโคเถื่อนประเทศอินเดียเข้ามาในประเทศไทยผ่านทางชายแดนไทย-มาเลเซีย จากนั้นนำมาสวมเป็นเนื้อไทยจัดส่งขายทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ กรุงเทพฯ ภาคกลาง

มีข้อมูลอีกว่า ราคาต้นทุนเนื้อโคจากต้นทาง คือประเทศอินเดีย ซื้อขายกันในราคาเพียง กิโลกรัมละ 30 บาทเท่านั้น ทำให้ปัจจุบันมีเนื้อโคอินเดียทะลักเข้าประเทศไทยทั้งทางน้ำและทางบก มูลค่าหลายล้านบาท

สำหรับเส้นทางเนื้อเถื่อน เมื่อผสมกับเนื้อไทยแล้วก็จะกระจายส่งขายตามตลาดทั่วไป ร้านค้า ร้านอาหาร และนำไปทำลูกชิ้นเนื้อ วงจรเหล่านี้ส่งผลกระทบกับตลาดเนื้อไทยอย่างมาก เพราะเนื้อต่างประเทศที่เข้ามามีราคาถูกกว่า แต่เมื่อนำมาจำหน่ายในราคาเนื้อของไทยออกไปตามตลาด ก็ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าชิ้นไหนเนื้อเถื่อน ชิ้นไหนเนื้อไทย

 

 ภาพจาก : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์