รุกแนวทางพัฒนาโคเนื้อ พัฒนาศักยภาพ ดึงนวัตกรรม สร้างความเข้มแข็งเกษตรกร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 รุกแนวทางการพัฒนาโคเนื้อ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลจากเกษตรกรและภาคส่วนเกี่ยวข้อง เดินหน้าสู่การพัฒนาการผลิตโคเนื้อคุณภาพ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้วยนวัตกรรม พัฒนาสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน

นายวิณะโรจน์  ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ได้แก่ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ มีกลุ่มสินค้าที่สำคัญ คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส้มเขียวหวาน อ้อยโรงงาน  ส่วนสินค้าปศุสัตว์ที่สร้างมูลค่าให้กับกลุ่มจังหวัด ได้แก่ โคเนื้อ และสุกร ขณะเดียวกันรัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ และเป็นโครงการหนึ่งในแผนปรับโครงสร้างระบบการผลิตภาคการเกษตร

โดยตั้งเป้าหมายให้มีการเลี้ยงโคเนื้อเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น สศก. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาสินค้าปศุสัตว์ จึงร่วมกับสำนักงาน ปศุสัตว์เขต 6 พิษณุโลก ศึกษาแนวทางการพัฒนาสินค้าโคเนื้อในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1

สำหรับการจัดทำแนวทางการพัฒนาโคเนื้อ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 สศท.2 ได้ศึกษาและจัดเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เกษตรกร  ผู้ประกอบการตลาดนัดโค และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1  โดยกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาโคเนื้อ  มุ่งเน้นพัฒนาการผลิตโคเนื้อคุณภาพ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้วยนวัตกรรม พัฒนาสถาบันเกษตรกรเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 4  แนวทางการดำเนินงาน ได้แก่

  1. เพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิตและการบริหารจัดการโคเนื้อ เน้นการผลิตโคเนื้อคุณภาพมาตรฐานตามความต้องการตลาดทั้งในและต่างประเทศ การเพิ่มมูลค่าสินค้าโคเนื้อและเนื้อโค พัฒนาระบบและเครือข่ายตลาด สนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และส่งเสริมการค้าชายแดนการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ 2. ส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน โดยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิตและการตลาดโคเนื้อเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ
  2. ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการเสริมสร้างความภาคภูมิใจในอาชีพการเลี้ยงโค พัฒนาองค์ความรู้สู่เกษตรกรให้เป็น Smart Farmer และเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกร สถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง และ 4. มีการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรอย่างยั่งยืน การพัฒนาบุคลากร ระบบการทำงานของภาครัฐ  และสนับสนุนการเชื่อมโยงบูรณาการองค์กรภาครัฐอย่างเป็นระบบ

สำหรับรายละเอียดแนวทางการพัฒนาโคเนื้อ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1  สศท.2 ได้เผยแพร่ผลงานดังกล่าว ในรูปแบบเอกสารรายงาน เพื่อนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางการจัดทำแผนงานโครงการในการขอรับสนับสนุนงบประมาณจากงบพัฒนาจังหวัด และเป็นแนวทางในการบริหารจัดการสินค้าโคเนื้อได้อย่างครบวงจร เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ท่านที่สนใจต้องการขอรับทราบข้อมูลยุทธศาสตร์การพัฒนาโคเนื้อ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 เพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สศท.2 โทร. 055 322 650 , 055 322 658 หรือ อีเมล [email protected]