ฟาร์มกวาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย สร้างต้นแบบการเลี้ยงแบบครบวงจร

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  ได้สนับสนุนชุดโครงการวิจัยบูรณาการนวัตกรรมเชิงประจักษ์เพื่อพัฒนาต่อยอดการทำฟาร์มกวางสู่การเกษตรสมัยใหม่ แก่โครงการวิจัย เรื่องนวัตกรรมเพื่อการทำฟาร์มกวางสมัยใหม่ ภายใต้แผนบูรณาการ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรสมัยใหม่ แก่ ดร. มณี อัชวรานนท์ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ผ่านงบประมาณแผ่นดิน ประจำปี 2561 และมอบรางวัล Platinum Award ถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงานให้แก่โครงการวิจัยดังกล่าว ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561 (Thailand Research Expo 2018) ที่ผ่านมา

ผลงานวิจัยนวัตกรรมเพื่อการทำฟาร์มกวางสมัยใหม่ เป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่สนใจในธุรกิจการเลี้ยงกวางเชิงพาณิชย์ และเป็นการต่อยอดการทำฟาร์มกวาง สู่การเกษตรสมัยใหม่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอนและมั่นคง

ดร. มณี อัชวรานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ฟาร์มกวาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อตั้งมาเกือบ 16 ปี ด้วยการนำผลการวิจัยพื้นฐานที่เป็นองค์ความรู้ครบวงจร ทั้งการเลี้ยงกวางที่มีมาตรฐาน การผลิตอาหารชนิดต่างๆ เพื่อเลี้ยงกวาง การบริหารจัดการฟาร์มกวาง การเพิ่มผลผลิตลูกกวางที่แข็งแรง มีคุณภาพ การขยายสายพันธุ์กวางใหม่ให้เหมาะสมกับการเลี้ยงในภูมิประเทศของประเทศไทย รวมทั้งศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของเขากวางอ่อนและผลของเขากวางอ่อนต่อสิ่งมีชีวิต และได้นำองค์ความรู้จากงานวิจัยถ่ายทอดให้เกษตรกร ทำให้ชุมชนรอบบริเวณฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหงมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถคาดเดาทิศทางการตลาดและระบายสินค้าได้อย่างสม่ำเสมอ

เช่น การนำผลจากการวิจัยถ่ายทอดให้เกษตรกรปลูกหญ้าเนเปียร์ วิธีการหมักหญ้าเนเปียร์ที่มีสารอาหารสูงครบถ้วนด้านโภชนาการ และนำกลับมาขายเป็นอาหารให้กับกวางที่เลี้ยงในฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง และฟาร์มเลี้ยงสัตว์อื่นๆ เพราะเป็นอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพสูง

ที่ผ่านมา ฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ดำเนินการอบรมถ่ายทอดผลจากการวิจัยให้กับเกษตรกร ปีละ 2 ครั้ง ทำให้เกิดเครือข่ายฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีสมาชิกเกือบ 200 คน จากทั่วประเทศ ที่มีความสนใจในการทำธุรกิจฟาร์มกวาง

ดร. มณี อัชวรานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัย

ฟาร์มกวาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นศูนย์กลางในการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน วิธีการเลี้ยงกวาง การสร้างผลผลิตจากการเลี้ยงกวาง การตลาด และเทคโนโลยีในการทำธุรกิจ เพื่อประหยัดเวลาและเงินลงทุนของเกษตรกรที่จะต้องลองผิดลองถูกในการเลี้ยง เพราะฟาร์มกวาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง คอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกร เป็นการลดต้นทุนในการลงทุนของเกษตรกรอีกทางหนึ่ง

โดยเกษตรกรหรือประชาชนผู้สนใจจะเข้าเยี่ยมชมหรือขอข้อมูล ฟาร์มกวาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ติดต่อสอบถามได้ที่สถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน โทรศัพท์ 02-310-8694 ได้ในวันและเวลาราชการ

………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2561