ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
---|---|
เผยแพร่ |
กระบือ ในยุคนี้ไม่ได้เป็นสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อไว้ไถนาเหมือนเช่นเก่าก่อน แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาและเลี้ยงได้หลากหลาย โดยมุ่งเน้นการทำตลาดได้ง่ายกว่าเดิม ซึ่งเกษตรกรหรือผู้สนใจเลี้ยงต้องมีทิศทางและเป้าหมายของการสร้างตลาดว่าจะไปในทิศทางใด จึงส่งผลให้กระบือเป็นสัตว์ที่นับวันตลาดกำลังเติบโตได้ไม่แพ้สัตว์เศรษฐกิจอื่นๆ
คุณจิราภัค ขำเอนก อยู่บ้านเลขที่ 193 หมู่ที่ 6 ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเกษตรกรที่เลี้ยงกระบือจนประสบผลสำเร็จ สามารถผลิตลูกพันธุ์และสร้างกระบือสวยงาม พร้อมทั้งเริ่มมีการพัฒนาแปรรูปนมกระบือพร้อมดื่ม สร้างเป็นอีกหนึ่งสินค้าน่าซื้อเพื่อให้ตลาดมีทางเลือก จึงเกิดการทำตลาดที่หลากหลายสร้างรายได้ให้กับเธอได้เป็นอย่างดีทีเดียว
จากอดีตลูกจ้าง
สู่เกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือ
คุณจิราภัค เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างอยู่ในหน่วยงานราชการ และได้ลาออกมาภายหลังเพื่อช่วยครอบครัวเลี้ยงสุกร ซึ่งในช่วงที่กลับไปเลี้ยงสุกรนั้น ครอบครัวได้มีกระบือเลี้ยงไว้ 4-5 ตัว และเมื่อการเลี้ยงกระบือไม่ติดปัญหาเจออุปสรรคมากนัก จึงได้ตัดสินใจมาทำฟาร์มสำหรับเลี้ยงกระบือโดยเฉพาะในปี 2554
“ช่วงที่เริ่มเลี้ยงใหม่ๆ ก็มีการหากระบือมาจากเพื่อนเกษตรกรรายอื่นบ้าง เข้ามารวบรวมไว้ภายในฟาร์ม พอทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง จึงตัดสินใจมาเลี้ยงเองแบบเต็มรูปแบบ มีการผสมและพัฒนาสายพันธุ์เองภายในฟาร์ม ซึ่งช่วงแรกบอกเลยว่า เป็นคนที่กลัวกระบือมาก แต่ด้วยแฟนเป็นคนชอบเลี้ยง พอเราได้มาอยู่คลุกคลีอย่างจริงจัง ได้มาลองทำและอยู่กับกระบือทุกวัน ก็ยิ่งเห็นความน่ารักของสัตว์ชนิดนี้ จึงเกิดความคิดว่าอยากจะอนุรักษ์ เพราะนับวันกระบือยิ่งลดน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้ตัดสินใจมาทำเองอย่างเต็มตัวแทนแฟนเลยก็ว่าได้” คุณจิราภัค เล่าถึงเหตุผลของการเลี้ยงกระบือ
ซึ่งจากวันนั้นที่เริ่มเลี้ยงกระบือเพียง 5 ตัว เมื่อเวลาเปลี่ยนผ่านมาจึงปัจจุบันทำให้เวลานี้ภายในฟาร์มของเธอมีกระบือเลี้ยงอยู่ถึง 52 ตัว โดยทุกตัวเป็นตัวเมียที่เน้นใช้การผสมเทียมเป็นหลัก
เลี้ยงแบบกึ่งประณีต
กึ่งธรรมชาติ
ในส่วนของการเลี้ยงกระบือให้ได้มีคุณภาพนั้น คุณจิราภัค บอกว่า ไม่ได้เน้นให้กระบืออยู่แบบยืนโรงเพียงอย่างเดียว ในบางช่วงเวลาได้พากระบือออกไปเดินเล่นในทุ่งหญ้าที่ปลูกไว้บ้าง โดยในช่วงเช้า 07.00 น จะปล่อยให้กระบือออกไปเดินและลงแช่น้ำเล่นประมาณ 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็จะนำมากินฟางกับอาหารเสริมภายในคอก และปล่อยในพักผ่อนอยู่ในคอกในช่วงตอนกลางวัน และเมื่อเวลา 16.00 น. ก็จะนำกระบือออกมาเดินเล่นและแช่น้ำอีกครั้งหนึ่ง
“อาหารของกระบือในแต่ละวัน ก็จะเน้นเป็นหญ้าและฟางเป็นหลัก มีอาหารข้นให้กินด้วย ถ้าช่วงไหนที่พื้นที่นี้อากาศแล้ง หญ้าที่มีในแปลงโตไม่ทัน ก็จะปล่อยให้อยู่ภายในคอก และหาอาหารมาให้กินภายในคอกแทน เพื่อไม่ให้กระบือเดินมากจนสูญเสียพลังงาน ซึ่งที่นี่จะเลี้ยงด้วยอาหารข้นไม่มาก กระบือก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี” คุณจิราภัค บอก
กระบือที่ใช้สำหรับเป็นแม่พันธุ์ผสมเทียมได้นั้น คุณจิราภัค เล่าว่า จะใช้กระบือที่มีอายุอย่างต่ำ 3 ปี เพื่อให้มีการเจริญเติบโตและสมบูรณ์เพศอย่างเต็มที่ จากนั้นก็จะนำน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ที่ต้องการมาผสมให้กับแม่พันธุ์ที่คัดเลือกไว้ เมื่อผสมพันธุ์ติดรอตั้งท้องประมาณ 11 เดือน แม่พันธุ์ก็จะออกลูกกระบือมาให้ได้เชยชม
หลังจากลูกกระบือออกมาลืมตาดูโลกแล้ว ในช่วง 7-14 วันแรก จะดูแลอย่างใกล้ชิดให้ลูกกระบืออยู่ภายในคอก ยังไม่ปล่อยรวมกับฝูง หลังจากนั้นเมื่อลูกกระบือได้อายุ 1 เดือน ก็จะเริ่มหัดกินอาหารจำพวกหญ้าและอาหารข้นที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 16 ควบคู่ไปกับการกินนมจากแม่พันธุ์กระบือ
“พอเลี้ยงลูกกระบือได้อายุประมาณ 10 เดือน ช่วงนี้ก็จะมีความพร้อมหย่านมได้แล้ว ก็จะจับแยกออกจากแม่ ซึ่งการทำวัคซีนของกระบือภายในฟาร์ม วัคซีนป้องกันโรคคอบวมจะทำปีละ 1 ครั้ง ส่วนการป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยจะทำทุก 4 เดือนครั้ง ซึ่งการป้องกันโรคของสัตว์ภายในฟาร์มที่ดีที่สุด จะต้องไม่ให้คนนอกเข้ามาสัมผัสกับสัตว์ หรือหากมีการมาเยี่ยมชมมาดูงาน ก็จะให้พ่นยาฆ่าเชื้อก่อน เพื่อเป็นการป้องกันที่ดีได้อีกระดับหนึ่ง นอกเหนือจากการทำวัคซีน” คุณจิราภัค บอก
ทำตลาดจำหน่ายกระบือ
แบ่งลูกค้าออกเป็น 4 กลุ่ม
ในเรื่องของการทำตลาดจำหน่ายกระบือนั้น คุณจิราภัค บอกว่า จะแบ่งการจำหน่ายกระบืออย่างชัดเจนโดยมี 4 กลุ่มลูกค้า คือ
- ลูกค้าสำหรับซื้อเพื่อนำกระบือไปพัฒนาสายพันธุ์ สร้างเป็นกระบือสวยงามส่งเข้าประกวด
- ลูกค้าที่เป็นเกษตรกรต้องการซื้อกระบือนำไปเลี้ยงต่อในพื้นที่ของตนเอง
- ส่งขายไปให้กับตลาดจำหน่ายเนื้อ และ
- กลุ่มผู้เลี้ยงเพื่อต้องการรีดนมกระบือสร้างเป็นสินค้าแปรรูปจำหน่าย
ซึ่งการสร้างตลาดหลากหลายให้ลูกค้าได้มีทางเลือก คุณจิราภัค บอกว่า สามารถทำรายได้จากการจำหน่ายกระบือได้มากขึ้น เพราะถ้ายึดการทำตลาดเพียงตลาดเดียว ลูกค้าจะไม่มีทางเลือกและเป็นการตัดโอกาสการจำหน่ายกระบือของฟาร์มเธอเอง
“พอเรามีกระบือที่สร้างตลาดหลายหลาก ช่วงไหนเราอยากนำกระบือภายในฟาร์มไปโชว์ให้คนเห็น เราก็มีกระบือสวยงามส่งเข้าประกวด ส่วนกลุ่มอื่นๆ ต้องการกระบือที่มีราคาถูกลงมาหน่อย ก็สามารถมาซื้อได้จากฟาร์มของเรา ก็ทำให้ฟาร์มมีโอกาสขายได้ทุกช่องทาง ยิ่งตลาดขายเนื้อนี่ มีกระบือส่งขายเท่าไรก็ไม่พอ เพราะฉะนั้นการทำตลาด 4 กลุ่ม จึงทำให้เราเกิดเป็นรายได้อยู่เสมอ” คุณจิราภัค เล่าถึงหลักการทำตลาด
โดยราคาจำหน่ายกระบือมีความแตกต่างกันไป เช่น กระบือที่ส่งขายให้พ่อค้าเพื่อไปชำแหละ จำหน่ายอยู่ที่ตัวละ 20,000 บาท และกระบือสวยงามนำไปเข้าประกวด หรือพัฒนาพันธุ์ต่อไปสามารถจำหน่ายได้อยู่ที่ตัวละเป็นหลักแสนบาทเลยทีเดียว
สำหรับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงกระบือเพื่อเป็นอาชีพทำเงิน คุณจิราภัค แนะนำว่า ในเรื่องของตลาดจำหน่ายกระบือยังถือว่าไปได้ดี เพราะปัจจุบันตลาดที่ส่งจำหน่ายเป็นกระบือเนื้อ มีกำลังการผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค หากต้องการเลี้ยงและมีรายได้ต่อเนื่องอาจจะทำตลาดขายเนื้อได้เช่นกัน
“ผู้ที่สนใจอยากจะเลี้ยงกระบือให้ประสบผลสำเร็จ ต้องมีในเรื่องของใจรักที่จะเลี้ยงกระบือเสียก่อน เพราะกระบือต้องใช้เวลาและความใจเย็นในการเลี้ยง ไม่ได้โตเร็วและให้ผลตอบแทนได้ไวเหมือนการซื้อมาขายไป แต่การเลี้ยงต้องมีการดูแลหลายๆ ด้าน ตั้งแต่การให้อาหาร การผสมเทียม การเลี้ยงลูกกระบือให้โต ซึ่งทุกขั้นตอนต้องมีความอดทน แต่เมื่อความสำเร็จเกิดขึ้นการเลี้ยงกระบือก็ถือว่าเป็นกระปุกออมสิน สามารถสร้างเงินให้กับผู้เลี้ยงได้อย่างแน่นอน” คุณจิราภัค แนะนำ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณจิราภัค ขำเอนก หมายเลขโทรศัพท์ 086-257-3364
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2562
สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354