ราคากุ้งไทยไม่สะเทือนหลังเจอสารตกค้าง

ผู้เลี้ยงกุ้งไทยไม่สะเทือนหลังกระแสข่าวพบสารตกค้างในกุ้งที่ส่งเข้าสหรัฐ เกษตรกรยังพอใจราคารับซื้อไม่ลดลง “อาทร” บิ๊กบอสณรงค์ซีฟู้ดเตรียมส่งหนังสือไปยังทางการสหรัฐเร่งปลดสถานะการตรวจสอบเข้มงวดโดยเร็ว ด้านอธิบดีกรมประมงขู่ใช้กฎหมายใหม่เล่นงานผู้เลี้ยงที่ใช้สารต้องห้ามเลี้ยงกุ้ง

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ นายกสมาคมสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีที่มีข่าวว่าสินค้ากุ้งไทยถูกสหรัฐอเมริกาปฏิเสธการนำเข้าในช่วงเดือน ม.ค. 2560 จำนวน 5 รายการ ด้วยเหตุที่ว่ามีการตรวจพบสารไนโตรฟูราน (Nitrofurans) ปนเปื้อนว่าเป็นข่าวที่คลาดเคลื่อนความเป็นจริง เพราะความจริงก็คือ สินค้าตัวอย่าง 5 รายการที่บริษัท ณรงค์ซีฟู้ด จำกัด ส่งไปให้ผู้นำเข้าทางเครื่องบินเพื่อพิจารณาว่าสนใจจะสั่งซื้อสินค้ารายการใดบ้าง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทณรงค์ซีฟู้ดอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สหรัฐจะปลดออกจากการถูกตรวจสอบ 100% หลังจากส่งสินค้าผ่านเงื่อนไข คือ ส่งครบ 5 ชิปเมนต์ไม่มีสารตกค้าง แต่ทางหน่วยงาน The United States Food and Drug Administration (USFDA) ของสหรัฐ สั่งให้ผู้นำเข้าเอาสินค้าดังกล่าวไปตรวจสอบที่แล็บ ทางผู้นำเข้ากลัวเสียค่าตรวจสอบรายการละ 2,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งค่อนข้างแพงจึงขอนำไปทำลายทิ้งแทน และทางสื่อสหรัฐนำไปลงตีพิมพ์ว่ามีสารตกค้าง ซึ่งคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

“ตอนนี้ทราบมาว่าทางโรงงานแปรรูปกุ้งไทยค่อนข้างเข้มงวด มีการนำกุ้งที่รับซื้อจากฟาร์มไปตรวจสอบที่แล็บกันแทบทุกลอต พยายามคัดกรองแม้จะไม่ได้ 100% แต่ก็พยายามทำให้มากที่สุด จากเดิมที่จะให้ผู้นำเข้าส่งไปตรวจแล็บฝ่ายเดียว 10 ปีที่ผ่านมาของไทยไม่เคยเจอ การตรวจพบเพียง 1-5% และไม่เกินมาตรฐานจึงเป็นเรื่องธรรมดา ที่ผ่านมาทางสมาพันธ์ก็ได้รณรงค์ห้ามการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงกุ้งมาตลอด ส่วนราคากุ้งในขณะนี้ก็ไม่ได้รับผลกระทบและเกษตรกรยังพอใจ ขนาด 100 ตัว/กก.ยังรับซื้อกันที่ กก.ละ 150-160 บาท และขนาด 70 ตัว/กก.ยังรับซื้อกันที่ กก.ละ 240 บาท”

นายอาทร พร้อมพัฒนภัทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ณรงค์ซีฟู้ด จำกัดกล่าวว่า กุ้งที่บริษัทส่งไปยังสหรัฐและถูกตรวจพบสารตกค้างในเดือน พ.ค. 2559 ต้องถูกตรวจสอบเข้มงวด ต่อมาทางบริษัทก็ยังส่งกุ้งเข้าสหรัฐต่อเนื่อง 11 ชิปเมนต์ ไม่พบสารตกค้าง เข้าเงื่อนไขการปลดล็อกที่หากส่งไป 5 ชิปเมนต์ไม่พบสารตกค้างจะตรวจสอบตามปกติ แต่มีปัญหาทางเทคนิค ทางการสหรัฐยังปลดล็อกล่าช้า เมื่อส่งสินค้าตัวอย่างไปให้ผู้นำเข้าจึงเกิดปัญหาขึ้น ดังนั้น ทางบริษัทจะทำหนังสือไปถึงผู้นำเข้ากุ้งในสหรัฐ และทาง USFDA ปลดบริษัทออกจากสถานะการตรวจสอบเข้มงวด 100% มาเป็นตรวจสอบปกติ คาดว่าทางสหรัฐจะปลดสถานะบริษัทมาตรวจสอบปกติอย่างเป็นทางการในอีก 1-2 เดือนข้างหน้านี้

ทางด้านนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงสินค้ากุ้งไทยถูกสหรัฐอเมริกาปฏิเสธการนำเข้าในช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 5 รายการ ด้วยเหตุที่ว่ามีการตรวจพบสารไนโตรฟูราน (Nitrofurans) ปนเปื้อนว่ากรมประมงในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสัตว์น้ำส่งออก ได้มีการตรวจสอบหาสาเหตุข้อเท็จจริง ซึ่งพบว่าผู้นำเข้าของบริษัท ณรงค์ซีฟู้ด จำกัด ได้แจ้งขอกลับเข้ามาสู่มาตรการตรวจสอบตามปกติ และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ USFDA หลังจากเคยถูกปฏิเสธการนำเข้าไป 1 รายการเมื่อปี 2559 ซึ่งตามมาตรการของสหรัฐอเมริกากำหนดให้ต้องตรวจสอบสินค้าจำนวน 5 รุ่นอย่างต่อเนื่อง หากไม่พบปัญหาก็จะกลับเข้าสู่ระบบการตรวจสอบตามปกติ ทั้งนี้ สินค้าของบริษัทได้ผ่านการสุ่มตรวจจำนวน 11 รุ่นติดต่อกันแล้ว

สำหรับสินค้าที่เป็นปัญหาทั้ง 5 รุ่นนั้น มิได้รับการตรวจสอบว่าพบสารตกค้างไนโตรฟูรานแต่อย่างใด แต่เป็นการปฏิเสธการนำเข้าเนื่องจากสินค้ากุ้งทั้ง 5 รุ่น เป็นสินค้าตัวอย่างส่งให้กับลูกค้าในสหรัฐอเมริกาทดสอบก่อนมีคำสั่งซื้อ และ USFDA อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับสถานะการตรวจสอบเข้าสู่มาตรการตรวจสอบตามปกติ ทำให้สินค้าดังกล่าวยังอยู่ในมาตรการเฝ้าระวัง ซึ่งจะต้องถูกกักกันเพื่อตรวจวิเคราะห์ตามมาตรการที่สหรัฐอเมริกากำหนด แต่ด้วยเหตุผลที่ผู้นำเข้าจะต้องรับผิดชอบค่าตรวจวิเคราะห์และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการเก็บสินค้าเอง

ดังนั้น ผู้นำเข้าสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการรับภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นกับสินค้าดังกล่าว จึงได้แจ้งขอทำลายสินค้ากุ้งทั้ง 5 รายการ อย่างไรก็ตาม ข้อปฏิบัติของสหรัฐเมื่อมีการทำลายสินค้าหรือปฏิเสธการนำเข้า เจ้าหน้าที่ต้องระบุสาเหตุของการทำลายสินค้าหรือปฏิเสธการนำเข้า และประกาศเป็น Import Alert ดังนั้น สินค้ากุ้งแช่เยือกแข็งทั้ง 5 รุ่นของบริษัทจึงถูกประกาศว่าถูกปฏิเสธการนำเข้า เนื่องจากตรวจพบไนโตรฟูรานตามที่เคยมีประวัติในรุ่นปี 2559 ไปโดยปริยาย

“กระทรวงเกษตรฯมั่นใจว่า สินค้ากุ้งของไทยนั้นมีมาตรฐานคุณภาพอาหารปลอดภัย เนื่องจากมีกระบวนควบคุมสินค้าสัตว์น้ำส่งออกตลอดสายการผลิต ที่ผ่านมาภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกรได้จัดประชุมหารือร่วมกันกับสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และสมาพันธ์เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งไทย เพื่อกำหนดแนวทางในการควบคุมการใช้ยาและสารเคมีต้องห้ามที่ผิดกฎหมาย และกำหนดให้โรงงานต้องรับซื้อวัตถุดิบสัตว์น้ำจากฟาร์มที่ขึ้นทะเบียนและได้รับการรับรองเท่านั้น อีกทั้งย้ำเตือนเกษตรกรเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP การห้ามใช้ยาและสารเคมีต้องห้ามในฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และแจ้งถึงมาตรการลงโทษตาม พ.ร.ก.การประมงฉบับใหม่ด้วย”