จับตา “ล้มประมูลข้าว” 2.8 ล้านตัน พ่อค้าเล่นเกมกดราคาซื้อโลละ 6 บาท-หวั่นตลาดพัง

หวั่นกระทรวงพาณิชย์ล้มประมูลข้าวสต๊อกรัฐ 2.8 ล้านตัน หลังเปิดซองพบเอกชนเสนอราคาประมูลต่ำกว่า กก.ละ 6 บาท จนต้องถกกันในคณะทำงานระบายข้าว ถ้าขายไปแล้วจะตอบคำถามสังคมได้อย่างไร ด้านสมาคมผู้ส่งออกข้าวออกโรง ส่งหนังสือกดดันเบรกขายข้าวในราคาต่ำ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ-ข้าวหอมจังหวัด ต่ำกว่าราคาตลาดถึง 4,000-5,000 บาท/ตัน พร้อมแนะรัฐจัดระเบียบผู้ส่งออกข้าวใหม่


ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานความคืบหน้าในการพิจารณาผลการประมูลข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาล ครั้งที่ 1/2560 ปริมาณ 2.8 ล้านตัน ซึ่งเปิดให้ยื่นซองเสนอราคาไปเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ ปรากฏมีผู้ยื่นเสนอราคาสูงสุด 43 ราย คิดเป็นปริมาณ 2 ล้านตันว่า เริ่มมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นหลังจากที่ คณะทำงานระบายข้าว ที่มีนางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นประธาน ยังไม่ได้ข้อยุติจะมีการขายข้าวลอตนี้หรือไม่ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงการค้าข้าวอาจจะมีการ “ล้มประมูล” เนื่องจากระดับราคาที่เสนอซื้อเข้ามานั้น “ต่ำมาก” ในบางคลังเหลือเพียง กก.ละ 6-7 บาท หรือตันละ 6,000-7,000 เท่านั้น

ในประเด็นนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นางดวงพร รอดพยาธิ์ ประธานคณะทำงานระบายข้าว กล่าวว่า คณะทำงานอยู่ระหว่างการรวบรวมสรุปผลการเสนอประมูลข้าว ครั้งที่ 1/2560 “การระบายข้าวครั้งนี้จะไม่มีการยกเลิก หรือล้มประมูลอย่างแน่นอน”

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในที่ประชุมคณะทำงานระบายข้าวได้มีการหารือกันหลายประเด็น เช่น การเสนอราคาซื้อข้าวมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ หากพิจารณาไปแล้วจะสามารถตอบคำถามสังคมได้อย่างไร เนื่องจากมีผู้ประกอบการบางรายที่เสนอราคาซื้อข้าว “ต่ำกว่าปกติมาก” ยกตัวอย่าง คลังหนึ่งมีผู้เสนอราคาต่ำกว่า กก.ละ 6 บาท ทางคณะทำงานต้องตรวจสอบว่า

1) ราคาที่เสนอมานั้นเหมาะสมกับคุณภาพข้าวในคลังนั้นหรือไม่ และควรอนุมัติขายหรือไม่ กับ 2) ถ้าในคลังนั้นมีข้าวเหลืออยู่เพียง 100 หรือ 200 ตัน ซึ่งเป็นคลังที่มีผู้เสนอราคาต่ำกว่า กก.ละ 6 บาท คณะทำงานต้องพิจารณาว่า ถ้าขายไปแล้วจะมีผลกระทบต่อราคาตลาดและราคาข้าวที่อยู่ในสต๊อกของเอกชนหรือไม่

เปรียบเทียบกับถ้าเก็บไว้ก็จะทำให้รัฐบาลต้องเสียค่าเช่า และผู้ประกอบการก็ไม่สามารถนำคลังดังกล่าวไปเปิดให้เช่าได้ เป็นต้น “ทางคณะทำงานจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยเหตุผลและมองในภาพรวมด้วย”

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางคณะทำงานระบายข้าวก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ขณะที่นางดวงพรก็ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนที่จะสรุปผลและรายงานต่อปลัดกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอความเห็นในการอนุมัติขายข้าวครั้งนี้ “มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะมีการอนุมัติขายข้าวเพียงบางส่วน และชะลอการขายบางส่วนออกไป” เพื่อนำกลับมาประมูลใหม่อีกครั้ง ซึ่งหากเทียบสัดส่วนแล้วคาดว่า กลุ่มที่เสนอราคาสมเหตุสมผลน่าจะมีประมาณ 50% ของปริมาณเสนอซื้อข้าวทั้งหมด

ล่าสุด สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย โดย ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ ได้มีหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ขอให้ “ทบทวน” การพิจารณาขายข้าวครั้งนี้ เนื่องจากมีการเสนอราคาข้าวต่ำเกินความเหมาะสม โดยเฉพาะ

“ข้าวหอมมะลิ” จากภาคอีสาน ซึ่งไม่ควรขายต่ำกว่าตันละ 15,000-16,000 บาท กับ “ข้าวหอมจังหวัด” ไม่ควรขายต่ำกว่าตันละ 12,000-13,000 บาท หรือต่ำกว่าราคาตลาดตันละ 4,000-5,000 บาท หากอนุมัติขายข้าวส่วนที่ราคาต่ำออกมาอาจกระทบต่อราคาตลาด ดังนั้นขอให้รัฐบาลชะลอการขายข้าวไว้ก่อน เพื่อนำมาเปิดประมูลรอบใหม่ในภายหลัง “หากคลังใดราคาต่ำก็ชะลอไว้ก่อนแล้ว ข้าวขาวไม่มีปัญหา เสนอซื้อตันละ 9,000 บาท ต่ำกว่าตลาด 2,000-3,000 บาท แต่ข้าวหอมมะลิต่ำมาก ควรเสนอ นบข.พิจารณาอีกครั้ง” ร.ต.ท.เจริญกล่าว

อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยไม่สามารถดำเนินการกับผู้ส่งออกที่เสนอราคาซื้อต่ำได้ เพราะ “ปัจจุบันการส่งออกข้าวเป็นไปอย่างเสรี” สมาคมไม่ได้มีอำนาจในการกำกับดูแลธุรกิจนี้ ไม่มีกฎระเบียบบังคับ ขณะที่ผู้ส่งออกก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสมาคม ส่งผลทำให้ประเทศไทยมีผู้ส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมแล้วกว่า 300-400 ราย หรือมากกว่าประเทศอื่น ๆ และต่างคนต่างไปแข่งขันตัดราคากัน ไม่สามารถกำกับดูแลกันได้

“ไทยควรจัดระเบียบผู้ส่งออกข้าวใหม่ โดยออกระเบียบให้ผู้ส่งออกข้าวต้องเป็นสมาชิกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ซึ่งเชื่อว่าจะไม่เป็นการสกัดผู้ส่งออกใหม่ แต่เป็นการจัดระเบียบและสร้างมาตรฐาน เพราะผู้ส่งออกที่ดีส่งสินค้าที่ดี ต้องมีการลงทุนและมีต้นทุนการทำตลาด ลดปัญหาการส่งมอบข้าวที่ไม่ได้มาตรฐาน สร้างความมั่นใจกับลูกค้า และลดปัญหาการตัดราคาด้วย” ร.ต.ท.เจริญกล่าว

อนึ่ง ในการประมูลข้าวรอบนี้มีเอกชนยื่นซองเสนอราคา 66 ราย จากผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ 73 ราย และจากการเปิดซองพบว่า มีผู้เสนอราคาซื้อสูงสุด 48 ราย ปริมาณข้าว 2.03 ล้านตัน หรือ 70.98% จากที่เปิดประมูล 2.86 ล้านตัน เมื่อตรวจสอบรายชื่อผู้เสนอราคาประมูลสูงสุดพบว่ามี 6 ราย และปริมาณเสนอซื้อสูงสุดนับรวมเป็นสัดส่วนถึง 50% ของข้าวที่มีการเสนอราคา ได้แก่ บริษัทแคปปิตัลซีเรียลส์ เสนอซื้อ 319,599 ตัน, บริษัทไทยแกรนลักซ์ 315,955 ตัน, บริษัทร่วมเจริญพัฒนาการค้าข้าว 235,229 ตัน, บริษัทพงษ์ลาภ 157,089 ตัน, บริษัทธนสรรไรซ์ 103,647 ตัน และบริษัททรัพย์ถาวรไรซ์ ซึ่งเป็นน้องใหม่ล่าสุดในวงการค้าข้าวเสนอซื้อ 99,267 ตัน