“หม่อน” ไม้ประดับหน้าบ้านถึงสวนหลังบ้าน พืชเศรษฐกิจของคนรุ่นใหม่

เชื่อไหม ฉันเพิ่งรู้จักหม่อนเมื่อไม่นานนี้เอง หม่อน ผลไม้ช่อเล็กๆ น่ารักๆ เปรี้ยวอมหวาน ลูกแดงๆ ถ้าเข้มจนดำก็จะมีความหวานเพิ่มขึ้น

เริ่มแรกเพื่อนนักเขียนรุ่นน้องเอามาให้สองต้น เธอเพาะใส่ถุงดำมาพร้อมกับบอกว่าปลูกง่ายมากค่ะ ที่บ้านมีสองต้นใหญ่ๆ เก็บกินไม่ทันเลย ต้องแจกเพื่อนบ้าน ตัดกิ่งใส่ถุงปักไว้แจกๆ กันไปปลูก

เริ่มปลูกหม่อนสองต้นแรกและตอนนี้ออกลูกเล็กๆ ให้ตื่นเต้นได้แล้ว ผลสีเขียวคล้ายๆ เงาะ แต่เล็กมาก สำหรับคนปลูกต้นไม้ฉันคิดว่ามันน่าตื่นเต้นทุกช่วง ไม่ว่าจะแตกใบใหม่ หรือออกดอก ผล

ต่อมาเริ่มปลูกเพิ่มขึ้นอีกสองสามต้น เพราะเมื่อเปิดห้องสมุดที่บ้าน ทำบ้านเป็นห้องสมุดให้ใครๆ เข้ามาอ่านมาใช้ได้ด้วย ในวันเปิดห้องสมุดกระท่อมทุ่งเสี้ยว ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเป็นข้าราชการของเทศบาล นำหม่อนใส่ตะกร้ามาให้ หยิบกินกันเพลินและรู้สึกชอบรสชาติขึ้นมา จึงหาพันธุ์มาปลูกเพิ่มอีกสามต้น ปลูกง่ายจริงๆ ติดทุกต้นและเริ่มให้ลูกผลแล้ว

วันนี้เริ่มชอบขึ้นมาจริงๆ เพราะปลูกง่าย และไม่ต้องดูแลมากนัก ปลูกไว้เก็บกินเล่นๆ และถือว่าเป็นไม้ประดับได้ด้วย เรียกว่าไม้ประดับที่กินได้ แบบเดียวกับเชอร์รี่ป่า ส้มจี๊ด และอื่นๆ นั่นแหละ


เมื่อเดือนที่ผ่านมาน้ำท่วมภาคใต้อย่างหนัก นักดนตรี นักเขียน เชียงใหม่รวมตัวกันหาเงินไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในงานมีดนตรี มีศิลปินวาดภาพ ประมูลของ และออกร้านขายของ ขายได้เท่าไหร่ก็จะมอบเข้ากองรวม หญิงสาวคนหนึ่งมาขายน้ำหม่อนขวดเล็กๆ ติดข้างขวดว่า โฮมโกร ออร์แกนิค Home Grown เธอมากับแม่และป้า มีกล่องสีน้ำตาลที่เขียนว่า สบทบเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไม่หักค่าใช้จ่าย ใครซื้อน้ำหม่อนก็หยอดลงกล่อง เธอเป็นลูกสาวข้าราชการเทศบาลที่เอาหม่อนมาให้ในวันที่เปิดห้องสมุดนั่นเอง เธอกลับมาพัฒนาผลิตผลที่พ่อปลูกไว้ ด้วยการทำแพ็กเกจเพื่อส่งเสริมการขาย และแปรรูปเป็นน้ำหม่อน รวมทั้งน้ำผลไม้อื่นๆ เช่น น้ำมะนาว น้ำเสาวรส

วันต่อมาตามไปคุยกับเธอเลย เธอชื่อ ปาล์ม อยู่เวียงท่ากาน เวียงเก่าหรือเมืองเก่า ท่ากาน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ อยู่ในอำเภอสันป่าตอง

Advertisement

ปาล์ม “กรวรรณ บัวดอกตูม” จบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยทำงานที่กรีนพีซ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการปกป้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสันติภาพ เธอทำงานอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ปาล์มกลับมาบ้านเกิดและเริ่มพัฒนางานที่พ่อของเธอทำไว้

คุณกรวรรณ บัวดอกตูม

สิ่งที่น่าสนใจก็คือการพัฒนางานของคนรุ่นใหม่ และการหางานที่เหมาะสมให้ตัวเองด้วยการทดลองและลงมือทำ มาเริ่มต้นที่ชื่อกันก่อนนะ Home Grown ผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อนี้ มีความหมายอะไร “หมายถึงพืชที่ปลูกเองในสวนหลังบ้าน พ่อเริ่มปลูกหม่อนที่สวนหลังบ้าน ในปี 2556 จำนวน 9 ต้น ในวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ วาเลนไทน์ เคลียร์พื้นที่ข้างหลังบ้านซึ่งเมื่อก่อนเป็นสวนลำไย เอาลำไยออกหมดแล้ว ต่อมาเริ่มขยายหม่อนเป็น 80 ต้น  เมื่อก่อนพ่อปลูกโดยไม่มีที่ขาย เก็บไว้เต็มตู้เย็น แจกเขาบ้าง และขายได้ราคาถูกมาก แต่พ่อก็ดีใจมากแล้วที่ได้ขาย”

Advertisement

เริ่มทำตลาดแบบไหน

“ทำแพ็กเกจ ขายเป็นกล่อง ทดลองว่าจะใส่กล่องแบบไหน ปิดฝาก่อนใส่ตู้เย็น หรือเปิดฝา ในที่สุดแล้ว เปิดไม่ได้ เหี่ยว ช้ำ ปิดแน่นก็ไม่ได้ ต้องเจาะให้มีอากาศเข้าไปได้นิดหนึ่ง ทดลองไปจนรู้ว่าระดับนี้ขนาดนี้ และก็ทำน้ำหม่อนขายเป็นขวด ขวดละยี่สิบบาท ส่งไปทั่วเลยค่ะ ตอนนี้หม่อนออกไม่ทัน”

สำหรับคนที่อยู่ในเมืองเชียงใหม่ หม่อนสดจาก Home Grown มีขายที่ ฮักเวียงช็อป นิมมาน ซอย 1 เป็นร้านออร์แกนิก กลางเมืองมีสินค้าหลายอย่างให้เลือก (Hug Wiang Shop : Organic Community ฮักเวียงช็อป-แอบโฆษณาให้)

แพ็กเกจพร้อมออกขาย

หม่อนปลูกง่าย ดูแลไม่ยาก แต่ผลของมันดูแลยากเอาการทีเดียว ต้องรวดเร็วในการเก็บ ปาล์มบอกว่า

“หม่อนยากตรงเก็บผลผลิต เก็บช้าก็จะร่วงลงดิน และต้องแย่งกับนก เพราะนกชอบมาก ต้องตื่นไปเก็บแต่เช้า บางทีพ่อเอาไฟส่องเก็บเลยนะ เสร็จแล้วก็มาช่วยกันแพ็กใส่กล่อง”

เมื่อถามถึงเป้าหมายต่อไปของเจ้าลูกเล็กๆ ที่เรียกว่าหม่อน และต้องถนอมมาก กว่าจะถึงมือผู้บริโภค เธอว่า

“คิดว่าจะต่อยอดเป็นศูนย์หม่อนไหมเชียงใหม่ ในช่วงที่ผ่านมามีผลผลิตมากขึ้น มีคนมาดูงาน มาเที่ยวที่สวน เอากล่องให้เก็บเองเลยค่ะ กล่องละ 60 บาท สนุกเพลิดเพลินกันค่ะ คนที่มาก็มีความสุขกับการเก็บหม่อน ปาล์มอยากจะทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับหม่อน เช่น ทำเค้กหม่อน”

การทำออร์แกนิกหรืออินทรีย์ให้ปลอดภัยนั้น พื้นที่ข้างๆ ก็ต้องเป็นด้วย ปาล์มเล่าขำๆ ว่า เธอได้เช่าสวนลำไยยาย เพื่อไม่ให้ยายพ่นยา สารเคมีลำไย เพื่อให้หม่อนเป็นอินทรีย์ที่แท้จริง ไม่อย่างนั้นสารเคมีจากลำไยมันฟุ้งกระจายมาโดนหม่อน มันก็เป็นอินทรีย์ไม่ได้ (ถือว่าจริงจังและลงทุนมากทีเดียว)

เมื่อถามพ่อของเธอผู้เริ่มต้นตัดลำไยปลูกหม่อนว่า เขาคิดอะไรและมีอะไรเป็นแรงบันดาลใจอะไร คุณสวัสดิ์ บัวดอกตูม ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลบ้านกลาง ให้คำตอบว่า

“เหตุที่ตัดลำไยทิ้งและปลูกหม่อนแทน เพราะลำไยต้องใช้สารเคมีในการบังคับให้ออกดอกและใช้ปุ๋ยยามาก ส่วนหม่อนผลบังคับออกผลโดยไม่ต้องใช้สารเคมีและทำได้สองถึงสามครั้งต่อปี คุณค่าสารอาหารมากมายที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ราคาและมูลค่าที่เรากำหนดได้เอง หม่อนการดูแลเอาใจใส่ง่ายกว่าลำไย

เป็นคำตอบที่น่าสนใจ สำหรับผู้ที่ต้องการจะปลูกหม่อน สอบถามคุณสวัสดิ์ หรือจะไปดูงานที่ไร่หลังบ้านของเขาก็น่าจะได้ เพราะปาล์มบอกว่า “พ่อก็ส่งเสริมแนะนำให้คนอื่นๆ ปลูกอยู่ค่ะ”

คนรุ่นใหม่ ใครสนใจ ใครจะปลูกหม่อนก็ลองเข้าไปดูที่เฟซนี้นะคะ ใช้พื้นที่ไม่มาก ดูแลไม่ยาก ใช้แต่ปุ๋ยคอก ขี้ไก่ ก็เอาอยู่ ตัดแต่งกิ่งอย่างไรให้ออกลูกผลทั้งปี

ทางเลือกของชีวิตมีเสมอ เพียงแต่เราต้องค้นให้เจอว่าอยากทำอะไรในพื้นที่ชีวิตของเรา