“ปลานิลสวรรค์” ผลิตภัณฑ์แปรรูป พลิกวิกฤตปลาล้นตลาด ของคนปากพนัง

งานเกษตรกรรมถือเป็นวิถีชีวิตที่อยู่คู่กับคนลุ่มน้ำปากพนังมาช้านาน เนื่องด้วยมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เอื้ออำนวยต่อการทำประมง ชาวบ้านแถบบริเวณนี้ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มี สร้างเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัว แต่ถึงแม้จะมีองค์ประกอบที่ครบและเอื้ออำนวยเพียงใดก็ไม่อาจต้านทานกับอนาคตที่คาดการณ์ไม่ได้ อย่างเช่นโรคระบาดที่เกิดขึ้นในตอนนี้ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ตลาดปิด ผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านลุ่มน้ำปากพนังจึงต้องลุกมาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ให้รอดพ้นและก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้

คุณศิริพงษ์ ดินดำรงกุล ฝ่ายการตลาด ศ.ศุภณัฐฟาร์ม อยู่บ้านเลขที่ 18/1 หมู่ที่ 7 ตำบลบางศาลา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช อดีตพนักงานประจำบริษัทไอทีชื่อดังที่กรุงเทพฯ พลิกชีวิตกลับมาเป็นเกษตรกรที่บ้านเกิดลุ่มแม่น้ำปากพนัง ด้วยเหตุผลที่มีความสนใจในงานเกษตรเป็นทุนเดิม ประจวบเหมาะกับหลายสิ่งที่ลงตัวจึงกลับมาเริ่มต้นชีวิตการเป็นเกษตรกรที่บ้านทันที ด้วยการเข้าไปช่วยโรงงานรับซื้อปลาสดของญาติ ทำอยู่ในฝ่ายการตลาดและอยากจะพัฒนาแปรรูปสินค้าจากปลาให้มีความหลากหลายและเพิ่มช่องทางสร้างรายได้มากขึ้น

คุณศิริพงษ์ ดินดำรงกุล ฝ่ายการตลาด ศ.ศุภณัฐฟาร์ม

คุณศิริพงษ์ เล่าว่า แถบพื้นที่บริเวณตำบลบางศาลา ชาวบ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเลี้ยงปลานิลกันเกือบทั้งหมู่บ้าน ไม่มีปัญหาเรื่องการตลาด เลี้ยงมาเท่าไรก็ขายได้หมด แต่ต้องมาชะงักเมื่อตอนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทางฟาร์มได้รับผลกระทบจากที่เคยขายปลานิลสดได้วันละ 10 ตัน ลดลงมาเหลือวันละ 3 ตัน จากที่เคยขายได้ราคากิโลกรัมละ 53 บาท ตกลงมาเหลือกิโลกรัมละ 43 บาท กลายเป็นผลกระทบแบบลูกโซ่ ทำให้ปลานิลที่ชาวบ้านเลี้ยงอยู่ล้นตลาด ทางฟาร์มจึงพยายามหาช่องทางที่จะช่วยชาวบ้านให้รอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน ซึ่งก็โชคดีมากที่ทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ลงมาสำรวจพื้นที่พอดี ทางมหาวิทยาลัยจึงได้คิดค้นสูตรและสอนวิธีการแปรรูปปลานิลสวรรค์เพื่อแก้ปัญหาปลาสดล้นตลาดให้กับชาวบ้าน จนเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชนบ้านบางเข็มขึ้นมา

โดยเริ่มจากการรับปลานิลจากผู้ที่ได้รับผลกระทบก่อน ทางฟาร์มมีการแปรรูปทำเป็นตัวอย่างเพื่อให้ชาวบ้านได้เห็นว่าปลานิลไม่จำเป็นที่จะต้องไปขายแบบสดให้พ่อค้าคนกลางกดราคาอย่างเดียว แต่ยังสามารถนำมาแปรรูปและเป็นการเพิ่มช่องทางสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าให้กับตัวเกษตรกรได้อีกช่องทางหนึ่ง เมื่อชาวบ้านเรียนรู้จากตัวอย่างที่ทำให้ดูแล้วก็จะเปลี่ยนรูปแบบให้ชาวบ้านไปทำกันเอง ด้วยการรับปลามาแล้วจ้างชาวบ้านที่ไม่ค่อยมีรายได้ ไม่สามารถที่ทำเกษตรได้เนื่องด้วยเหตุผลต่างๆ ก็จะจ้างให้มาทำงานในส่วนของการแล่ปลา ปรุงรส หรือแม้กระทั่งการตากปลา การดูแลตรงนี้กลายเป็นรายได้เสริมให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้ คุณศิริพงษ์เล่าถึงที่มาและวิธีการจัดการแปรรูปปลานิลสวรรค์

เนื้อปลานิลสวรรค์ดิบที่ผ่านการหมักและตากแดดจากแสงอาทิตย์

จุดเด่น ปลานิลสวรรค์
ลุ่มแม่น้ำปากพนัง

เจ้าของบอกว่า การแปรรูปที่ดีต้องเริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำที่ดี ซึ่งปลานิลที่ลุ่มน้ำปากพนังจะมีจุดแข็งที่พันธุ์ปลาได้รับมาตรฐานจากฟาร์ม รวมถึงการเลี้ยงแบบเป็นระบบ จึงส่งผลให้ปลานิลของนครศรีธรรมราชเป็นปลานิลที่ได้คุณภาพตัวใหญ่ เนื้อหวาน และไม่มีกลิ่นสาบโคลนแน่นอน โดยทางฟาร์มจะมีแผนการเลี้ยงให้กับชาวบ้านทุกคนเพื่อดูเป็นแบบอย่างหรือเป็นแนวทางให้กับชาวบ้านเลี้ยงอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น ปลานิลที่ได้จากชาวบ้าน ทางฟาร์มจึงมั่นใจว่าเป็นปลานิลที่ได้คุณภาพตามที่ฟาร์มกำหนด จะต่างกับบ่อที่เลี้ยงดูแลอย่างไม่เป็นระบบก็จะมีกลิ่นสาบของตัวปลาออกมา ซึ่งถ้าปลามีกลิ่นสาบโคลนจะไม่สามารถนำมาทำอาหารรับประทานเด็ดขาดเพราะเราคำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ปลานิลและฟาร์มปลานิล จาก ศ.ศุภณัฐฟาร์ม หนึ่งในฟาร์มเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านบางเข็ม

ขั้นตอนแปรรูป ปลานิลสวรรค์
คุณภาพและความอร่อย ต้องมาก่อน

คุณเพชรลดา ดำรักษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านบางเข็ม อธิบายถึงขั้นตอนการแปรรูปปลานิลสวรรค์ว่า ทางกลุ่มจะเน้นมาตรฐานและให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพของผู้บริโภคมาเป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้น ผู้ป่วยที่อยากจะรับประทานปลาแต่กังวลในเรื่องของความสะอาดและความปลอดภัยของเรารับรองได้ทุกขั้นตอนการแปรรูปจะผ่านกรรมวิธีที่สะอาดและถูกต้อง ทำให้ลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ของเราไปมีความมั่นใจได้ว่าปลอดภัยและได้คุณประโยชน์จากอาหารครบถ้วน

คุณเพชรลดา ดำรักษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านบางเข็ม

ลักษณะปลาที่เหมาะกับการนำมาแปรรูป

อันดับแรกปลานิลที่จะนำมาแปรรูปได้ต้องมีขนาดตัวน้ำหนัก 1.5 กิโลกรัมขึ้นไป ซึ่งตัวปลานิลเป็นปลาที่ทางวิสาหกิจชุมชนรวบรวมมาจากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลานิลภายในกลุ่มที่มีการรวมตัวเพื่อพัฒนาการแปรรูปปลานิล ปลาต้องสดและไม่มีกลิ่นสาบโคลน ถ้ามีกลิ่นโคลนจะไม่สามารถนำไปแปรรูปได้เพราะกลิ่นจะติด เกณฑ์การคัดเลือกปลามีประมาณนี้

ปลานิลไซซ์ 1.5 กิโลกรัม

ในส่วนของขั้นตอนการแปรรูปมีดังนี้

  1. อันดับแรกนำปลานิลที่ขึ้นมาจากบ่อสดๆ มาทำให้ตายด้วยการน็อกน้ำแข็งซึ่งวิธีนี้การรักษาความสดและลดกลิ่นคาวได้ดีที่สุด
  2. จากนั้นให้นำปลานิลไปขอดเกล็ด ถลกหนัง เลาะก้าง และแล่เนื้อจนเหลือแค่ตัวเนื้อปลาเพียงอย่างเดียว โดยปลานิลสวรรค์จะใช้เฉพาะเนื้อปลานิลล้วนๆ มาทำการแปรรูปโดยหั่นเนื้อปลาออกเป็นชิ้นเล็กๆ โดยขณะที่แล่ก็ต้องมีน้ำแข็งมารองรับเนื้อปลาอยู่ตลอด เพราะปลานิลเป็นปลาน้ำจืดเนื้อจะล้มง่ายและเละ จะนำมาแปรรูปเป็นปลาสวรรค์ไม่ได้ อันนี้ถือเป็นจุดเด่นอีกข้อที่ทางมหาวิทยาลัย      วลัยลักษณ์เข้ามาสอนให้

    กระบวนการเตรียมวัตถุดิบก่อนการปรุงปลานิลสวรรค์
  3. แล้วนำไปหมักด้วยเครื่องปรุงซึ่งประกอบด้วยน้ำตาลปี๊บ ซีอิ๊วขาว เมล็ดผักชีคั่วตำละเอียด และงาขาว จากนั้นนำเนื้อปลานิลแช่แข็งเป็นเวลา 3 ชั่วโมง เพราะการทำปลาสวรรค์จะต้องมีความสดอยู่ตลอด
  4. เมื่อเนื้อปลาแช่แข็งจนครบเวลา ให้นำปลาไปตากแดดต่อเป็นเวลา 4 ชั่วโมง หลังเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด สามารถนำเนื้อปลานิลไปเก็บไว้ในตู้เย็นได้จนกว่าจะนำมารับประทาน โดยตัวปลาสามารถเก็บได้มากกว่า 3 เดือน

หากต้องการรับประทานให้นำเนื้อปลามาทอดในกระทะ โดยใช้เวลาทอดสักครู่ จึงสามารถนำมารับประทานได้ โดยผลิตภัณฑ์ปลานิลสวรรค์แปรรูปจากวิสาหกิจชุมชนบ้านบางเข็มเปิดตัวผลิตภัณฑ์เป็นที่แรก ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ณ พื้นที่บริเวณสนามบินนครศรีธรรมราช โดยได้ความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งได้รับความพึงพอใจจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี จนได้รับสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) จากความร่วมมือของหน่วยงานทุกๆ ฝ่าย ซึ่งทางวิสาหกิจชุมชนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลิตภัณฑ์ปลานิลสวรรค์บ้านบางเข็ม จะเติมเต็มความอร่อยแก่ผู้บริโภคทุกครัวเรือน และช่วยให้ชุมชนเกิดรายได้อย่างยั่งยืน ในอนาคตอันใกล้จะสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่นๆ สู่มือของผู้บริโภคต่อไป

จุดเด่นปลานิลสวรรค์บ้านบางเข็ม

อยู่ที่รสชาติหวานกำลังดี บวกกับความหอมของเมล็ดผักชีคั่วที่ใส่ลงไป และไม่มีใครกล้าทำอย่างเราที่แล่เฉพาะเนื้อปลาอย่างเดียวต้นทุนสูง ปลาสด 150 กิโลกรัม เมื่อแปรรูปตากแห้งออกมาแล้วเหลือน้ำหนักเพียง 16 กิโลกรัม เน้นเนื้อเน้นคุณภาพจริงๆ ซึ่งในส่วนที่ไม่ได้ใช้อย่างหัวปลา หน้าท้องปลา จะนำไปขายให้กับร้านอาหาร หนังปลาเอาไปขายให้กับพ่อค้านำไปทำหนังปลากรอบทอด ส่วนไส้นำให้ชาวบ้านไปทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในการทำเกษตรต่อไป จะพยายามไม่ให้เหลือทิ้งเด็ดขาด

ราคา ปลานิลสวรรค์บรรจุ 50 กรัม ราคา 50 บาท 110 กรัม ราคา 100 บาท 250 กรัม 200 บาท และ 1 กิโลกรัม ราคา 800 บาท ถือว่าเพิ่มมูลค่าได้มากจากการขายปลาสด และถือเป็นทางออกให้กับชาวบ้านที่มีปลาตัวใหญ่ไม่สามารถนำไปขายตลาดล่างได้ก็นำมาแปรรูปแทน

การสร้างรายได้ รายได้ยังไม่แน่นอน บางเดือนยอดการผลิตเป็นตัน บางเดือน 200-300 กิโลกรัม ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี จากที่เมื่อก่อนทำเป็นแค่เคยปลาอย่างเดียว แต่พอทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เข้ามาให้ความรู้ทางกลุ่มก็มีรายได้และช่องทางการแปรรูปมากขึ้นกว่าเดิม ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีประจวบเหมาะกับช่วงโควิด-19 ทำให้สินค้าแปรรูปที่รับประทานง่าย ขนส่งง่ายพร้อมรับประทาน ขายดียิ่งขึ้น

ตลาด ออกบู๊ธตามงานต่างๆ และอาศัยลูกหลานที่ไปเรียนมหาวิทยาลัยเขานำไปขายผ่านลาซาดาบ้าง ช็อปปี้บ้าง คือทุกบ้านช่วยกัน จนตอนนี้สินค้าปลานิลสวรรค์ขึ้นเป็นสินค้าโอท็อป 5 ดาว เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ปลานิลสวรรค์คุณภาพลุ่มน้ำปากพนัง

การแปรรูปสินค้าเกษตรดีอย่างไร

อย่างแรกคือหนีปัญหาสินค้าล้นตลาด อย่างที่สองคือแปรรูปเพื่อสร้างต้นทุนเพื่อเดินต่อ เพราะว่าต้นทุนการเลี้ยงปลาสูง อาหารแพง ลูกปลาแพง แล้วมันคืออาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่ การแปรรูปถือว่าเป็นการต่อชีวิตและช่วยสร้างมูลค่าผลผลิตได้เป็นอย่างดี ขออย่างเดียวแค่มีกำลังใจอย่าท้อ อุปสรรคที่ต้องเจอตอนแรกมีอยู่แล้วคือ 1. เงินทุน ช่วงเกิดโควิด-19 ขายปลาไม่ได้ เอเย่นต์อาหารก็มาเร่งค่าอาหาร ค่าพันธุ์ปลาบ้าง พอเราจะขายออกไปแม่ค้าก็กดราคา เราก็ต้องยอมขาดทุนกิโลกรัมละ 5-10 บาท กลายเป็นปัจจัยส่งไปถึงครอบครัวขาดรายได้ พวกเราจึงมารวมตัวกัน ปลาของใครที่เป็นไซซ์ใหญ่แม่ค้าซื้อถูกก็นำมาแปรรูปดีกว่า” คุณเพชรลดา กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อเบอร์โทร. 081-249-0566

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2563