ป.แดน เกษตรฟาร์ม ผลิตปลาช่อนแม่ลาแดดเดียว รายได้หลักแสน

ปลาช่อนแม่ลา เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำแม่ลา จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งเป็นดินโคลนและน้ำอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุอาหาร ทำให้ปลาช่อนมีลักษณะตัวอ้วนโต หัวหลิม หางเป็นแบบใบพัด คลีบหูสีชมพูปนส้ม มีไขมันปลาแทรกอยู่ในเนื้อปลา รสชาติอร่อยเป็นพิเศษ

ปัจจุบันปลาช่อนในลำน้ำแม่ลาเริ่มลดน้อย เกษตรกรก้าวหน้าจึงนำพันธุ์ปลาช่อนคุณภาพมาเพาะเลี้ยงในบ่อ จากนั้นแปรรูปเป็นปลาช่อนแดดเดียวเพื่อเพิ่มมูลค่า และสร้างรายได้ให้ครัวเรือนมั่นคง วันนี้จึงนำเรื่อง “ป.แดน เกษตรฟาร์ม ผลิตปลาช่อนแม่ลาแดดเดียว รายได้หลักแสน” มาบอกเล่าสู่กัน

คุณศรัญญา เพ็ชรรักษ์ (ซ้าย) สำนักงานเกษตรจังหวัดสิงห์บุรี ส่งเสริมทำปลาช่อนแดดเดียว

คุณศรัญญา เพ็ชรรักษ์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดสิงห์บุรี เล่าให้ฟังว่า จังหวัดสิงห์บุรีมีลำน้ำแม่ลาซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุอาหารให้ประชาชนใช้ประโยชน์เพื่อการยังชีพและการเกษตร ในแหล่งน้ำมีปลาช่อนหรือปลาหลายชนิดอาศัย มีการเจริญเติบโตสมบูรณ์ โดยเฉพาะเมื่อนำปลาช่อนมาทำเป็นอาหารเมนูต่างๆ เนื้อปลาจะแน่นนุ่มหนึบ รสชาติอร่อย มีกรดไขมัน โอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 เทียบเท่ากับปลาทะเลที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง

ด้านพัฒนาการผลิตได้ส่งเสริมเกษตรกรรวมกลุ่มทำกิจกรรม ส่งเสริมการถนอมอาหารด้วยการผลิตปลาช่อนแดดเดียวเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและรายได้ ส่งเสริมให้มีพัฒนาการไปเป็นศูนย์การเรียนรู้สู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) หรือร่วมกันทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่เพื่อพัฒนาการผลิตให้ได้สินค้าเกษตรคุณภาพและก้าวสู่การมีวิถีครอบครัวที่มั่นคง

คุณศุภสัณห์ ช่วยบุญ เกษตรกรผู้เลี้ยงและผลิตปลาช่อนแม่ลาแดดเดียวเลิศรส

คุณศุภสัณห์ ช่วยบุญ ผู้เลี้ยงและแปรรูปปลาช่อนแม่ลาแดดเดียว และประธานกลุ่มแปลงใหญ่ปลาช่อนแม่ลา จังหวัดสิงห์บุรี เล่าให้ฟังว่า หลายท่านที่มาซื้อปลาช่อนแดดเดียวที่นี่ถามว่า “ทำไม? เรียกว่าปลาช่อนแม่ลา” จึงให้คำตอบไปว่า ที่นี่มีลำน้ำแม่ลาที่ในท้องน้ำมีดินโคลนและน้ำที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุอาหารเหมาะสมที่ช่วยทำให้สัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาช่อนเจริญเติบโต ตัวอ้วน หัวหลิม หางเป็นแบบใบพัด คลีบหูสีชมพูปนส้ม มีไขมันปลาแทรกอยู่ในเนื้อปลามาก เมื่อนำมาทำเป็นอาหารเมนูใดๆ ก็จะได้เนื้อแน่น นุ่มหนึบ มีรสชาติอร่อยเป็นพิเศษ

กว่าปลาช่อนจากแหล่งน้ำอื่นและให้คุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ในช่วงนี้ปลาช่อนในลำน้ำแม่ลาเริ่มลดน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค จึงได้นำสายพันธุ์ปลาช่อนลักษณะดีที่สุด มาเพาะและเลี้ยงในบ่อเพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น ได้สร้างบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำหลายชนิด ได้แก่

ปลาดุกอุยนา 10 บ่อ หลังการเลี้ยงปลา 4-5 เดือนก็เริ่มจับ เลี้ยงปลารวม 2 บ่อหลังการเลี้ยง 1 ปีก็เริ่มจับ เลี้ยงกุ้งแม่ลาหรือกุ้งก้ามกราม 1 บ่อหลังการเลี้ยงได้ 3 เดือนครึ่งก็เริ่มจับ และเลี้ยงปลาช่อน 5 บ่อ หลังการเลี้ยง 4 เดือนปลาช่อนจะตัวอ้วนโต ปลา 2-3 ตัวก็ได้น้ำหนัก 1 กิโลกรัม จากนั้นก็เริ่มจับไปกิน ขาย และนำมาแปรรูปเป็นปลาช่อนแดดเดียวที่มีตลาดรองรับการซื้อขาย สัตว์น้ำที่เลี้ยงทุกชนิดรวมทั้งปลาช่อนได้จัดการให้เป็นอาหารเม็ด 100% วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น

นำปลาที่หมักใส่กล่องโฟม ใส่น้ำแข็งปิดทับ พักไว้ 1 คืนให้วัสดุหมักซึมเข้าเนื้อปลาได้ดีขึ้น

ขั้นตอนการแปรรูป

ขั้นตอนที่ 1 นำปลาช่อนสดมาน็อกด้วยน้ำแข็ง แทนการทุบหัวปลา วิธีการคือนำปลาช่อนสดใส่ในกล่องโฟม 10 กิโลกรัมหรือประมาณครึ่งกล่อง แล้วใส่น้ำแข็งลงไปให้ท่วมมิดตัวปลา ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีปลาจะตาย

ขั้นตอนที่ 2 การตัดแต่งปลาช่อน จากขั้นตอนที่ 1 นำปลาช่อนออกจากกล่องโฟมทำการขอดเกล็ด ตัดหัว แล่ผ่ากลางตัวปลา นำเครื่องในและแซะเอาก้างกลางออกให้หมด แล้วล้างปลาให้สะอาด วางใส่ในกะละมังเพื่อเตรียมทำการหมัก

ขั้นตอนที่ 3 การหมัก นำวัสดุหมัก ได้แก่ เกลือและน้ำตาล ใส่ลงไปในกะละมังปลา ขยำคลุกเคล้าให้เข้ากันหรือนาน 5 นาที แล้วนำไปแช่น้ำ 25 นาที เพื่อให้วัสดุหมักเข้าไปในเนื้อปลาได้มากที่สุด และป้องกันไม่ให้มีกลิ่นเหม็นหืน

วางปลาที่หมักบนตะแกรงในตู้มุ้งลวด ตากแดดนานครึ่งวัน

ขั้นตอนที่ 4 นำปลาที่หมักแล้วใส่ในกล่องโฟม ใส่น้ำแข็งลงไปปิดทับ พักไว้นาน 1 คืนหรือไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง จะเป็นจุดเด่นที่ทำให้วัสดุหมักซึมเข้าไปในเนื้อปลาได้ดียิ่งขึ้น

ขั้นตอนที่ 5 ล้างเมือกและไขมัน นำปลาจากขั้นตอนที่ 4 ออกมาล้างด้วยน้ำให้สะอาด นำปลาไปวางตากบนตะแกรงในตู้มุ้งลวด ตากแดดนานครึ่งวัน

ตัดแต่งเอาไขมันที่หลงเหลือออก
ปลาช่อนแดดเดียวทอดกรอบ จัดใส่ถุงแบบสุญญากาศพร้อมขาย

ขั้นตอนที่ 6 บรรจุปลาใส่ถุงพลาสติก นำปลาที่ตากแดดแล้วมาตัดแต่งเอาไขมันที่หลงเหลือออก ตัดแต่งเอาก้างที่หลงเหลือออกเพื่อป้องกันไม่ให้แทงถุงพลาสติกขาด แล้วใส่ในถุงพลาสติกที่มีเครื่องหมายการค้า จากนั้นนำไปเข้าเครื่องอัดแบบสุญญากาศ จะเก็บรักษาปลาช่อนแดดเดียวได้นาน 6 เดือน เป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์พร้อมนำออกขายตลาด

ปลาช่อนแดดเดียวจัดใส่ถุงพลาสติสุญญากาศน้ำหนักครึ่งกิโลกรัม วางขายที่ฟาร์มหรือขายผ่านทางออนไลน์ พร้อมจัดการบรรจุภัณฑ์ปลาช่อนแดดเดียวใส่ในกล่องโฟมให้ด้วย แต่ละเดือนได้จัดการนำปลาช่อนแม่ลาแดดเดียวออกขายเฉลี่ย 150 กิโลกรัม ขาย 250 บาท ต่อกิโลกรัม จะให้มีรายได้เฉลี่ย 37,500 บาท ต่อเดือน หรือ 450,000 บาท ต่อปี ทำให้มีรายได้พอเพียง นำมาเป็นทุนหมุนเวียนในการผลิตและเพื่อการยังชีพที่มั่นคง

ผลิตภัณฑ์ปลาช่อนแดดเดียวพร้อมนำออกขาย ถุงละ 250 บาท ต่อกิโลกรัม

คุณศุภสัณห์ เกษตรกรผู้เลี้ยงและแปรรูปปลาช่อนแม่ลาแดดเดียว เล่าให้ฟังในท้ายนี้ ว่า ป.แดน เกษตรฟาร์ม ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาสู่สุดยอดเอสเอ็มอี (SME Provincial Champions 2019) กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารกสิกรไทย และหอการค้าจังหวัดสิงห์บุรี

ป.แดน เกษตรฟาร์ม ได้ศึกษาวิธีการเพาะพันธุ์ วิธีการเลี้ยงปลาจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสิงห์บุรี และสำนักงานประมงสิงห์บุรี ได้ศึกษาและลงมือทำ คัดเลือกสายพันธุ์ปลาลักษณะดีที่สุดนำมาเพาะพันธุ์เพื่อรักษาความเป็นเอกลักษณ์พันธุ์แท้ของปลาช่อนแม่ลา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 กระทั่งถึงทุกวันนี้

ผู้สนใจเยี่ยมชมและซื้อปลาช่อนแม่ลาแดดเดียว

การแปรรูปเป็นปลาช่อนแม่ลาแดดเดียว แท้ๆ 100% ได้ผ่านมาตรฐานการผลิตขั้นต้น Primary GMP หรือ GMP ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศว่าด้วยเรื่องวิธีการผลิตขั้นต้น และได้รับการรับรองคุณภาพ โดย อย.17-200262-6-0002 และได้รับการรับรองให้ใช้เครื่องหมาย Q กษ.01 7417 17 900 000001 GAP (Good Agricultural Practices) ปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี เพื่อให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด ส่งผลให้ ป.แดน เกษตรฟาร์ม ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ การรับรองมาตรฐาน มกษ.7417-2559 จากกรมประมง

ปลาช่อนแม่ลาแดดเดียวทอดกรอบ ได้เนื้อเหลืองหอม กินมื้อไหนก็อร่อย
แหล่งผลิตปลาช่อนแดดเดียวคุณภาพ รสชาติอร่อย

จากเรื่อง “ป.แดน เกษตรฟาร์ม ผลิตปลาช่อนแม่ลาแดดเดียว รายได้หลักแสน” ทางเลือกการดำเนินชีวิตใหม่เพื่อความมั่นคง ท่านที่ชอบกินปลาช่อนแม่ลา ก็ชวนเชิญไปเที่ยวงานเทศกาลกินปลาและของดีเมืองสิงห์บุรี จัดเป็นประจำในช่วงปลายเดือนธันวาคมของทุกปี สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณศุภสัณห์ ช่วยบุญ เลขที่ 7 หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ลา อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี โทร. (089) 900-1551 หรือ คุณศรัญญา เพ็ชรรักษ์ สำนักงานเกษตรจังหวัดสิงห์บุรี โทร. (036) 543-367 ก็ได้ครับ

…………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2563