จันทบุรี เมืองคุณภาพผลไม้ แก้ปัญหา “ทุเรียนอ่อน” ชวนจับมือ 3 ประสาน ล้ง เกษตรกร ผู้ค้าปลีก

“ทุเรียนอ่อน” เป็นปัญหาระดับชาติเพราะเป็นผลไม้เศรษฐกิจส่งออกที่สำคัญ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ปี 2558 ไทยมีผลผลิต 601,884 ตัน ทำรายได้ 28,317 ล้านบาท ภาคตะวันออกเป็นแหล่งผลิตที่มีปริมาณผลผลิตมากเกือบ 50% โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งผลิตทุเรียนมากที่สุดในประเทศไทย

ข้อมูลปี 2559 สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 171,092 ไร่ ผลผลิต 187,790 ตัน มูลค่า 11,615 ล้านบาท และคาดว่าปี 2560 ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 281,373 ตัน ในแวดวงผู้ประกอบการค้าทุเรียนฟันธงว่า ปีนี้มูลค่าการค้าไม่น่าจะต่ำกว่า 35,000 ล้านบาททีเดียว เพราะปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นราคาสูงขึ้นและแนวโน้มตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีนมีความต้องการเพิ่มขึ้น นับวันราคาทุเรียนจะพุ่งขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกจิวงการผลไม้พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “หมดยุคผลไม้ราคาถูก”

เวทีอภิปราย

ความสำคัญของทุเรียนที่เป็นผลไม้เศรษฐกิจส่งออกถึง 90% บริโภคภายในประเทศเพียง 10% แต่มีปัญหาเรื่องการตัด “ทุเรียนอ่อน” สร้างปัญหาด้านการตลาดภายในและส่งออกต่างประเทศ ที่ผ่านมาระยะเวลา 3-4 ปี รัฐบาลได้พยายามหาทางป้องกันแก้ไข ยกระดับแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนเป็นปัญหาระดับชาติ มีประมวลกฎหมายอาญาออกมาลงโทษผู้กระทำผิดทั้งปรับและจำคุก ทว่าทุเรียนอ่อนยังมีปัญหาที่ยังต้องแก้ไขอยู่

คุณอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร เกษตรจังหวัดจันทบุรี มองเห็นว่าจำเป็นต้องสร้างการรับรู้แก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อนร่วมกันกับผู้ที่เกี่ยวข้องสำคัญๆ 3 ฝ่าย คือ เกษตรกร ผู้ประกอบการโรงคัดแยกบรรจุ (ล้ง) และผู้ค้าปลีก เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ที โรงแรม นิว แทรเวิลลิด์จ จันทบุรีได้จัดอบรมให้ความรู้บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องดังกล่าวร่วม 500 คน และจัดเวทีอภิปรายในประเด็น “ผลไม้เมืองจันท์จะช่วยกันอย่างไร”

คุณอรเรณู ปิตุเตชะ

ผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย คุณอรเรณู ปิตุเตชะ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจันทบุรี คุณอุดม วรัญญูรัฐ ผู้แทนเกษตรกร คุณณัฐกฤษณ์ โอฬารหิรัญรักษ์ ผู้ประกอบการโรงคัดแยกบรรจุ (ล้ง) คุณวัฒนา พูลพักตร์ ผู้ประกอบการแผงค้าปลีก โดย คุณอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร เกษตรจังหวัดจันทบุรี เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจหลากหลาย

คุณอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร

ปัญหาตัดทุเรียนอ่อน เกษตรกร ล้ง ผู้ค้าปลีก ช่วยกันทุกจุด

คุณอาชว์ชัยชาญ กล่าวว่า ปัญหาทุเรียนอ่อนเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องร่วมมือกันหาแนวทาง มาตรการแก้ไข ไม่ใช่เรื่องการมองหาตัวผู้กระทำผิดคนปลูก คนค้า หรือคนขาย

ทุกวันนี้การตัดทุเรียนอ่อนหรือแก่ออกสู่ตลาดจะมีผู้เกี่ยวข้องสำคัญๆ 3 ฝ่าย คือ เกษตรกร ผู้ประกอบการโรงคัดแยกบรรจุ (ล้ง) และผู้ค้าปลีก จึงต้องจัดเวทีให้ตัวแทน 3 ฝ่าย ได้มาพูดคุยสร้างการรับรู้ร่วมกันทำให้ทุเรียนเมืองจันทบุรีเป็นทุเรียนคุณภาพ โดยตั้งประเด็นอภิปรายว่า “ผลไม้เมืองจันท์จะช่วยกันอย่างไร” และเปิดโอกาสให้บรรดาเกษตรกร ล้ง ผู้ค้าปลีกที่ร่วมประชุมอยู่ได้เสนอความคิดจากประสบการณ์ หาแนวทางแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้มีทุเรียนอ่อนขายให้ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกตลาดต่างประเทศและการค้าส่งภายในประเทศ ตลอดจนผู้บริโภคทั่วไปหรือนักท่องเที่ยวที่มาจันทบุรีแวะซื้อจากแผงข้างทางร่วม 200 แผงที่ตั้งเรียงรายอยู่ตามเส้นทางถนนสุขุมวิทจันทบุรี-ตราดหรือเส้นทางจันทบุรี-สระแก้ว

ล้งที่ตลาดเนินสูง

คุณอาชว์ชัยชาญ สรุปถึงกระบวนการขั้นตอนการตัดทุเรียนโดยทั่วไปว่า

  1. เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ควรมีการจดบันทึกนับอายุทุเรียนตั้งแต่ดอกบานถึงทุเรียนแก่ตัดได้แต่ละพันธุ์หรือเป็นรุ่นๆ และทำเครื่องหมายสีเชือกผูกโยงลูกที่ตัดได้ในแต่ละรุ่นไว้
  2. ผู้ประกอบการโรงคัดแยกบรรจุ (ล้ง) ส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าส่งต่างประเทศและมีค้าส่งภายในประเทศบ้างเล็กน้อย จะเข้าไปเหมาสวนล่วงหน้าเพื่อตกลงราคาและมีมือมีดไปตัดช่วงที่ทุเรียนแก่ ตรงนี้ชาวสวนต้องชี้แจงทุเรียนที่แก่ตัดได้ตามเครื่องหมายทำไว้และมือมีดของล้งต้องให้ความร่วมมือตัดตามเจ้าของสวน
  3. การตรวจจับทุเรียนอ่อน เจ้าหน้าที่จะใช้วิธีสามตรวจวัดเปอร์เซ็นต์แป้ง ตามกรมวิชาการเกษตรกำหนดเปอร์เซ็นต์แป้งเนื้อทุเรียนแต่ละพันธุ์
  4. ผู้ค้าปลีกจะมารับซื้อจากตลาดค้าส่ง คัดขนาดที่ต้องการเพื่อขายปลีกตามแผงให้ผู้บริโภค เนื่องจากความอ่อนแก่ดูยากจึงเลือกซื้อจากผู้ค้าส่งที่คุ้นเคยเชื่อใจกันและควรรับผิดชอบเปลี่ยนทุเรียนมีปัญหา

 

โทษอาญาแก้ไขล่าสุด เพิ่มปรับหนัก 60,000 บาท จำคุกจริง

คุณอรเรณู กล่าวว่า จังหวัดจันทบุรีมีมาตรการเข้มข้นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อนสู่ตลาด โดย คุณวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้ออกประกาศจันทบุรี 3 ฉบับ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 เรื่อง ขอความร่วมมือเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้จำหน่ายทุเรียน ไม่ซื้อ-ไม่ขายทุเรียนด้อยคุณภาพ เรื่อง มาตรการดำเนินคดีแก่ผู้จำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ และเรื่อง การกำหนดเปอร์เซ็นต์แป้งทุเรียน โดยมีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 271 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2552

จึงขอความร่วมมือเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้จำหน่ายทุเรียน ไม่ซื้อ-ไม่ขาย ทุเรียนอ่อน ซึ่งโทษความผิดตามกฎหมายอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และเมื่อวันที่ 20 มีนาคม เพิ่มโทษปรับจาก 6,000 บาท เป็น 60,000 บาท หากมีคดีเกิดขึ้นต้องดำเนินคดีถึงที่สุด จึงต้องการสร้างความรับรู้ร่วมกันกับทุกฝ่าย

“อัยการจังหวัดร่วมกับเกษตรจันทบุรีประกาศนโยบายดำเนินคดีกับผู้ซื้อ-ผู้ขายทุเรียนอ่อนเพื่อแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จไม่ให้วนเวียนเกิดขึ้นอีก เพราะได้ชี้แจงมา 3 ปีแล้ว ยังพบปัญหาซ้ำๆ อยู่ เกษตรกรรู้ว่าทุเรียนอ่อนไม่อ่อน ความผิดอยู่ที่เจตนา ที่ผ่านมาเจ้าของสวน เจ้าของแผงจ้างคนมารับผิดแทนต่อไปนี้จะดำเนินคดีโดยตรงและจำจริง ไม่มีจำรอความผิดนี้เป็นคดีอาญาแผ่นดิน ไม่จำเป็นต้องมีคนซื้อมาแจ้งความเท่านั้นที่ดำเนินคดีได้ ถ้าใครรู้เห็นแจ้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจันทบุรี หรือแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจในท้องที่ได้ทุกแห่ง” คุณอรเรณู กล่าว

 

ทุเรียนส่งออก ต้องปรับค่ามาตรฐานเปอร์เซ็นต์แป้งในเนื้อทุเรียน

ผศ.ศุภพงศ์ เหลียววัฒนกิจ ที่ปรึกษาชมรมผู้ประกอบการผลไม้จังหวัดจันทบุรี กล่าวถึงปัญหาการกำหนดเปอร์เซ็นต์แป้งในเนื้อทุเรียน ของกรมวิชาการเกษตรว่า สวนทางกับสภาพความเป็นจริง เป็นตัวเลขที่ไม่สามารถทำได้เพราะสภาพปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปทั้งความก้าวหน้าทางวิชาการที่กำหนดวันสุกได้ และการขนส่งที่รวดเร็วขึ้น ที่สำคัญเป็นความต้องการของตลาดจีนที่แท้จริง กรมวิชาการเกษตรกำหนดเปอร์เซ็นต์แป้งในเนื้อทุเรียนระดับความสุกแก่ของทุเรียนคือ พันธุ์กระดุม 27% ชะนี 30% พวงมณี 30% และหมอนทอง 32% หากตัดตามเปอร์เซ็นต์แป้งส่งออกจะมีปัญหาทุเรียนสุกมากเกินไปที่ปลายทาง ตลาดจีนไม่นิยมบริโภค ควรลดเปอร์เซ็นต์แป้งตามสภาพที่ผู้ค้าส่งมีประสบการณ์ ดังนี้ พันธุ์กระดุม 25% ชะนี พวงมณี และหมอนทอง 28% เนื่องจากสามารถใช้สารเอทิลิน เร่งความสุกของผลไม้ตามระยะที่กำหนดเวลาได้ด้วยความเข้มข้น เจือจางซึ่งไม่อันตรายแต่อย่างใด

ผศ.ศุภพงศ์ เหลียววัฒนกิจ

“ปัจจุบันระบบขนส่งไปปลายทางตลาดจีนระยะเวลามีความต่างกัน ถ้าขนส่งรถยนต์ 4-5 วัน ทางเรือ 10 วัน ถ้าใช้เปอร์เซ็นต์แป้งมาตรฐานเดียวกัน จะทำให้ผลไม้สุกไม่เท่ากัน เรื่องนี้กรมวิชาการเกษตรควรทำการวิจัยใหม่เพื่อปรับเปอร์เซ็นต์แป้งตามปัญหาที่ผู้ส่งออกเสนอจากประสบการณ์การทำการค้ากับตลาดจีน เรื่องการใช้สารเร่งสุกเอทิลิน การชุบขมิ้นให้เปลือกทุเรียนเหลือง ตลาดจีนชอบต้องชุบ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เฉพาะตลาดฮ่องกงที่ห้ามนำเข้าทุเรียนชุบขมิ้นเมื่อปี 2559” ผศ.ศุภพงศ์ กล่าว

ทางด้าน คุณจรีรัตน์ มีพืช นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 แจ้งถึงประกาศจังหวัดจันทบุรี เรื่องการกำหนดเปอร์เซ็นต์แป้งในเนื้อทุเรียนของกรมวิชาการเกษตรว่า เป็นงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ประมาณปี 2545-2546 ใช้เป็นเครื่องมือวัดความแก่อ่อนทางวิทยาศาสตร์เพื่อป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อน และที่สำคัญทำให้ทุเรียนสุกธรรมชาติ มีรสชาติอร่อย

ซึ่งข้อเสนอของผู้ประกอบการให้ปรับลด เร็วๆ นี้จะมีการหารือกันในระหว่างหน่วยงาน ผู้ทำวิจัยของกรมวิชาการเกษตร และผู้ประกอบการส่งออก เพื่อหาทางปรับแก้ไขโดยต้องผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ทำให้เกิดปัญหาทุเรียนอ่อนเพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาทุเรียนชุบขมิ้นให้มีสีเหลืองไปตลาดฮ่องกงนั้น เมื่อปี 2559 รัฐบาลฮ่องกงได้มีหนังสือแจ้งห้ามนำเข้าทุเรียนใช้สารแต่งสี แม้ว่าไม่ใช่สารอันตราย จึงได้แจ้งให้ผู้ส่งออกทราบเพื่อไม่ให้มีปัญหากับการส่งออกทุเรียนของไทย

 

กวาดขึ้นทะเบียนเพื่อสร้างมาตรฐาน มือมีด แผงค้าปลีก 200 แผง

คุณอาชว์ชัยชาญ กล่าวถึงแนวทางป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อนว่า นอกจากสร้างการรับรู้ผลของการซื้อ-ขายทุเรียนอ่อนทางด้านกฎหมาย การปรับเปอร์เซ็นต์แป้งในเนื้อทุเรียนแล้ว ในที่ประชุมเสนอให้มีการพัฒนามือมีดตัดทุเรียน ส่วนใหญ่จะเป็นคนงานจากล้งมากกว่าเจ้าของสวน ด้วยการจัดฝึกอบรมให้ความรู้มีฝีมือมาตรฐานและขึ้นทะเบียนไว้ เจ้าของสวน ล้งต้องใช้คนตัดที่ขึ้นทะเบียน

ส่วนแผงการค้าปลีกริมทาง ในจันทบุรีมี 200 แผงเศษๆ ควรให้ท้องถิ่นดูแลจดทะเบียน สร้างเป็นแผงถาวรในช่วงฤดูกาล จัดทำป้ายร้าน ราคาให้ถูกต้อง ทุกแผงต้องมีนามบัตรให้ลูกค้าเชื่อมั่น ตรวจสอบและชดเชยให้ เพราะบางครั้งแผงทุเรียนไม่เจตนาขายทุเรียนอ่อน เพราะความแก่-อ่อนดูภายนอกแยกไม่ออกและมีบางลูกที่เนื้อทุเรียนอาจจะถูกหนอนเจาะที่เป็นเรื่องสุดวิสัย

“ที่ผ่านมาเคยเจอขึ้นป้ายกิโลกรัมละ 80 บาท เป็นลักษณะจูงใจ แต่ลงไปถามแม่ค้าบอกหมดแล้วเหลือกิโลละ 100-120 บาท ตรงนี้ถ้าเป็นแผงประจำจะตรวจสอบได้ไม่ยากและจะไม่กล้าทำ ล่าสุดปีนี้นักท่องเที่ยวมาเขาคิชฌกูฏแวะซื้อไปแถวหน้าวัดพลวง เจอเน่าเป็นพูๆ แผงที่ขายประจำยินดีรับผิดชอบชดใช้ทุเรียนให้ใหม่ แต่เราพยายามไม่ให้มีเกิดขึ้น จริงๆ แล้วแม้จะคืนเงิน ชดใช้ แต่ยังคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ถูกจับ ปรับ จำคุก และดำเนินคดี” คุณอาชว์ชัยชาญ กล่าว

นี่คือการผลักดันเส้นทางสู่ “จันทบุรี เมืองคุณภาพผลไม้” ที่ คุณอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร เกษตรจังหวัดจันทบุรี มุ่งหวังให้ผู้บริโภคทุเรียนทุกลูกมีความสุข สนใจสอบถามข้อมูล เกษตรจังหวัดจันทบุรี โทร. (092) 365-3515