น้ำสกัดใบไผ่ (Bamboo Leaf Extract) นวัตกรรมเครื่องดื่ม เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

เข้าสู่ยุคคนรักสุขภาพ หลายคนปรับเปลี่ยนนิสัยด้านการใช้ชีวิตแบบใหม่ เปลี่ยนอาหารการกิน เพื่อหวังให้อนาคตมีร่างกายที่ยังคงมีสภาพดี ไม่แก่ไปตามอายุ หลากหลายนวัตกรรมได้ถูกคิดค้นสร้างสรรค์เพื่อรองรับเทรนด์การดูแลสุขภาพที่กำลังมาในยุคสมัยนี้ หนึ่งในผลงานสุดยอดนวัตกรรมเด่นที่น่าสนใจคือ “เครื่องดื่มน้ำสกัดใบไผ่ (Bamboo Leaf Extract)” ผลงานของ คุณประสาน สุขสุทธิ์  

คุณประสาน สุขสุทธิ์

คุณประสาน  เป็นนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว และเกษตรกรที่ศึกษาคลุกคลีกับการปลูกไผ่โดยตรงมากว่า 15 ปี บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ ในบ้านเลขที่ 212/54 ถนนเทศบาล 6 ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรม น้ำสกัดใบไผ่ ภายใต้ชื่อแบรนด์ BBG Bamboo Greeen จากความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คุณประสาน เล่าว่า เขาเริ่มปลูกไผ่เลี้ยงหวาน ในครั้งแรก 15 ไร่ โดยจ้างคนงานทำทั้งหมด มีผลผลิตหักลบต้นทุนแล้ว ขายได้กำไรอยู่ที่ไร่ละ 20,000 บาท ไผ่เลี้ยงหวานเป็นไผ่ที่มีหน่อขนาดเล็ก เขาสนใจอยากปลูกไผ่ที่ให้หน่อขนาดใหญ่ ซึ่งในขณะนั้นมีไผ่กิมซุ่งที่กำลังเป็นที่สนใจของตลาด จึงตัดสินใจซื้อกล้าพันธุ์ไผ่กิมซุ่งมาปลูกในราคาต้นละ 250 บาท จากนั้นมา ได้ปลูกพันธุ์ไผ่หลากหลายชนิดเพิ่มเติม ราคากล้าพันธุ์สูงสุดที่เคยซื้อมาปลูกอยู่ที่ต้นละ 5,000 บาท ก็เคยซื้อมาปลูกแล้ว

การเก็บใบไผ่ด้วยมือเปล่า

ต่อมาเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ หน่อไผ่ขายได้น้อยลง แต่มีจำนวนเกษตรกรปลูกมากขึ้น เขาเปลี่ยนมาขายลำไผ่ เพราะตลาดนิยมใช้ลำไผ่เป็นไม้เลี้ยงหอย ไม้ปักกันคลื่น ไม้ทาสี ไม้ค้ำ แต่พบปัญหาคือ ตลาดมีความต้องการไม้แก่ ไม้ตรงและมีขนาดลำใหญ่ ซึ่งไผ่กิมซุ่งที่เขาปลูกมีคุณภาพไม่ตรงกับความต้องการของตลาด

แต่คุณประสานก็ไม่ได้ย่อท้อต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น โดยขอคำปรึกษาจาก รศ.ธัญพิสิษฐ์ พวงจิก อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกไผ่ระดับแนวหน้าของเมืองไทย

จากการปรึกษาผู้รู้ในครั้งนั้น รศ.ธัญพิสิษฐ์ ได้แนะนำให้ปลูกไผ่นวลราชินี คุณประสานไม่รอช้าไปซื้อกล้าพันธุ์ไผ่นวลราชินีมาลงปลูกทันที จากเดิมที่มีพื้นที่ปลูกไผ่ 15 ไร่ ก็ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเป็น 200 ไร่ ราคากล้าพันธุ์อยู่ที่ต้นละ 200 บาท รวมแล้วจ่ายค่าต้นพันธุ์เป็นเงินกว่า 400,000 บาท โดยมีเป้าหมายว่า ต้องการปลูกไผ่ส่งขายโรงไฟฟ้าชีวมวลเพราะช่วงนั้นแกลบมีราคาแพง

แต่เส้นทางความฝันไม่สวยงามอย่างที่คิดไว้ ต้นไผ่ แม้จัดอยู่ในกลุ่มไม้ที่ให้ค่าความร้อนสูง แต่ก็มีค่าความชื้นในเนื้อไม้สูงเช่นกัน ผลการศึกษาพบว่า ไผ่มีความชื้นสูงถึง 70% ไม้ไผ่สด 1.5 กิโลกรัม จะได้น้ำหนักไม้ไผ่แห้งแค่ 1 กิโลกรัม จึงขายไม้ไผ่สดได้ในราคาไม่เกินตันละ 350 บาทเท่านั้น

คุณเดชธนา สุขสุทธิ์ ในแปลงไผ่อินทรีย์

ปัญหาอุปสรรคที่พบ ไม่ได้ทำให้คุณประสานรู้สึกท้อแท้แต่อย่างใด แต่สร้างแรงผลักดันให้ต่อสู้กับปัญหาต่อไป คุณประสานคิดหาวิธีสร้างมูลค่าเพิ่มไผ่ซางนวลราชินีกว่า 200 ไร่ที่ปลูกไว้ ต่อมา คุณเกรียงไกร ไทยอ่อน ผู้เชี่ยวชาญด้านไผ่อีกท่านหนึ่งได้ส่งข้อมูลเรื่องการผลิตน้ำไผ่ของจีนมาให้ศึกษา คุณประสานรู้สึกสนใจมากจึงตั้งใจศึกษาวิธีการเจาะน้ำไผ่อย่างละเอียดจนประสบความสำเร็จ สามารถเจาะน้ำไผ่ได้ถึงกอละ 10 ลิตร ต่อวัน

คุณประสานส่งตัวอย่างน้ำไผ่ที่ได้ไปตรวจวิเคราะห์หาเชื้อโรค ในห้องแล็บ ก็พบว่า มีเชื้อปนเปื้อนเชื้อโรคได้จริง จึงปรับเปลี่ยนวิธีเจาะให้มีกระบวนการผลิตที่สะอาดมากขึ้น และไม่พบเชื้อปนเปื้อนใดๆ จึงส่งเข้าห้องแลบเพื่อตรวจวิเคราะห์สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายที่เซ็นทรัลแล็บ ปรากฏว่าสารอาหารมีค่าเท่ากับศูนย์

ปรากฎว่าช่วงนั้น น้ำไผ่ของต่างประเทศได้ตีพิมพ์ในนิตยสารไทม์ และเปิดขายในอเมริกา คุณประสานได้ติดตามเรื่องนี้อย่างละเอียด พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ น้ำไผ่แบรนด์นี้ ได้หยิบยกเรื่อง สารต้านอนุมูลอิสระเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดทำให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง

คุณประสานได้ส่งตัวอย่างน้ำไผ่ไปตรวจสารต้านอนุมูลอิสระอีกครั้งในห้องแล็บ พบว่า มีสารต้านอนุมูลอิสระจริง แต่มีปริมาณน้อยมาก เมื่อคิดว่าตนใกล้ถึงทางตัน เขาตัดสินใจฮึดสู้อีกครั้ง โดยเริ่มต้นศึกษางานวิจัยจากต่างประเทศ และนึกย้อนไปถึงช่วงที่เคยเดินทางไปศึกษาดูงานเรื่องไผ่ที่ประเทศจีน เมื่อปี 2555 เขาคิดลำดับเรื่องราว จนตกผลึกว่าส่วนประกอบของต้นไผ่นี้ ยังมีอีกสิ่งที่ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ นั่นก็คือ “ใบไผ่”

นักวิชาการผู้รู้เกี่ยวกับไผ่ที่มาร่วมงานสัมมนา

คุณประสานสนใจศึกษาเรื่องใบไผ่อีกครั้ง โดยได้รับความกรุณาจาก รศ.ธัญพิสิษฐ์ นำใบไผ่ไปตรวจวิเคราะห์หาสารต้านอนุมูลอิสระเปรียบเทียบกับใบไผ่อีก 10 สายพันธุ์ โดย ดร.ศุภกร บุญยืน เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ ผลออกมาเป็นที่พอใจอย่างมาก พบว่า ใบไผ่ซางหม่นนวลราชินี ที่คุณประสานปลูก มีสารฟลาโวนอยด์ ที่มีส่วนช่วยในการต้านอนุมูลอิสระมากกว่าพันธุ์อื่นที่นำมาวิเคราะห์ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังพบกรดฟีโนลิกและธาตุอาหารรองอื่นๆ ด้วย จึงเป็นที่มาของ สินค้าน้ำสกัดใบไผ่ Bamboo Leaf Extract เจ้าแรก เจ้าเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารและยา (อย.)

น้ำสกัดใบไผ่ เครื่องดื่มออร์แกนิกที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

การนำใบไผ่มาสกัดเป็นน้ำนั้นจะต้องคัดเลือกจากแปลงปลูกไผ่อินทรีย์  ที่ไม่มีความเสี่ยงในการปนเปื้อนสารเคมี โลหะหนัก โดยเก็บใบไผ่มาจากสวนไผ่ของคุณประสานเอง ที่ผ่านการรับรองแปลงไผ่อินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตรแล้ว พันธุ์ไผ่ที่นำใบมาสกัด คือ ไผ่ซางหม่นนวลราชินี ที่ปลูกในระยะ 4×4 เมตร ปลูกดูแลแปลงไผ่ในระบบเกษตรอินทรีย์ที่มีการจดบันทึกการจัดการแปลงอย่างละเอียด

กระบวนการผลิตน้ำสกัดใบไผ่

ทุกขั้นตอนของการผลิตน้ำสกัดใบไผ่ มีความสะอาด ปราศจากเชื้อโรค แม้แต่พนักงานเก็บใบไผ่  ต้องเป็นคนที่มีสุขภาพดี แต่งกายรัดกุมถูกสุขลักษณะ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ หรือกินอาหารในขณะเก็บใบไผ่ ภาชนะที่ใช้เก็บใบไผ่เป็นภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่นำสิ่งที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ามาในแปลงไผ่

ห้องอบพลังงานแสงอาทิตย์

ขั้นตอนการเก็บใบไผ่จะเก็บเฉพาะใบสดที่อยู่บนต้นเท่านั้น ไม่เก็บใบที่ร่วงหล่นลงที่พื้น โดยพนักงานจะใส่ถุงมือทุกครั้งและเก็บด้วยมือเปล่าไม่ใช้เครื่องมือ แล้วนำใบไผ่ที่เก็บมาผ่านการอบให้แห้งในห้องอบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดความชื้นประมาณ 12 ชั่วโมง เมื่อไล่ความชื้นออกจากใบแล้ว จะนำใบไผ่ที่แห้งแล้วนั้นมาบด ด้วยเครื่องบดสมุนไพร นำใบไผ่ที่ได้มาตากแดดลดความชื้นอีกครั้ง ทำการเก็บใส่ภาชนะปิดสนิทและส่งโรงงาน

ใบไผ่ที่ถูกอบในห้องอบพลังงานแสงอาทิตย์

ซึ่งขั้นตอนที่คุณประสานได้เล่ามาข้างต้นนี้ เป็นขั้นตอนของการผลิตวัตถุดิบส่งให้ทางโรงงานผลิต จากนั้นทางโรงงานจะดำเนินการผลิตบรรจุขวดและฆ่าเชื้อ ติดฉลากพร้อมจำหน่าย

บดใบไผ่ด้วยเครื่องบดสมุนไพร
เตรียมบรรจุถุงซิปเพื่อส่งโรงงานผลิต
ใบไผ่บดพร้อมส่งโรงงาน

น้ำสกัดใบไผ่ (Bamboo Leaf Extract) มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดคอเลสเตอรอล ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ช่วยบำรุงผิวหนัง เล็บให้สวย ช่วยให้เส้นผมแข็งแรง ดกดำ มีกลิ่นหอมจากใบไผ่ น้ำสกัดใบไผ่ มีรสชาติดีและมีความหวานที่ได้จากใบหญ้าหวาน ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาลหรือสารให้ความหวานอื่นๆ ราคาจำหน่ายขวดละ 45 บาท

ผลิตภัณฑ์น้ำสกัดใบไผ่ (Bamboo Leaf Extract)

ผู้สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณประสาน สุขสุทธิ์ เบอร์โทรศัพท์ (089) 666-3203 หรือ (095) 907-9819