โฟร์โมสต์ผนึกเอกชน-สหกรณ์ ปั้นคุณภาพนมเท่าเนเธอร์แลนด์

????????????????????????????????????

โฟร์โมสต์ลุยสานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพน้ำนมดิบมาตรฐานเนเธอร์แลนด์ ตั้งเป้าดันรายได้เพิ่ม 45 ล้านบ./ปี ไทยมิลค์ ชู farmer to farmer เป็นจุดแข็งวงการโคนม ชี้เกษตรกรต้องปรับตัวรับกฎระเบียบ FTA ในอนาคต

ดร. โอฬาร โชว์วิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฟรีสแลนด์ คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ เปิดเผยว่า ฟรีสแลนด์คัมพิน่าในฐานะภาคเอกชนผู้รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรโคนมไทย ได้เล็งเห็นถึงการยกระดับพัฒนาฟาร์มโคนมไทยตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการผลักดันโครงการประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ โดยนำเอาจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาพัฒนาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างเป็นนวัตกรรมภาคเกษตรไทย ดังนั้น ฟรีสแลนด์คัมพิน่าจึงมุ่งเน้นการยกระดับการบริหารจัดการฟาร์มและพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบเพื่อลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพและปริมาณน้ำนม

โดยตั้งเป้าสิ้นปี 2560 เกษตรกรจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมโคให้สูงขึ้นกว่า 20% เฉลี่ยจาก 13 เป็น 18 กิโลกรัม/ตัว/วัน และเพิ่มคุณภาพน้ำนมโคโดยลดจำนวนแบคทีเรียต่อน้ำนม 1 มิลลิลิตร ให้ต่ำกว่า 5 แสนเซลล์ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 5 แปลงใหญ่นำร่อง ประกอบด้วย สหกรณ์โคนมไทยมิลด์ จำกัด, บริษัท เทียนขำแดรี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เกรทมิลค์ จำกัด, สหกรณ์โคนมดำเนินสะดวก จำกัด และสหกรณ์โคนมสอยดาว จำกัด ทั้งสิ้น 1,604 ราย พื้นที่กว่า 2 หมื่นไร่ โดยตั้งเป้ารายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นกว่า 45 ล้านบาท/ปี ตลอดจนพัฒนาระยะยาวตั้งเป้าหมายครอบคลุม 5 ด้าน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ สร้างระบบบริหารจัดการ และจัดหาตลาดรับซื้อให้เกษตรกร

ทางด้าน นายเชวงศักดิ์ สงวนวงศ์วิจิตร ประธานสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จำกัด กล่าวว่า ในฐานะกลุ่มเกษตรกรโรคนมไทย เชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะช่วยพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบ การบริหารจัดการฟาร์มโคนมแบบสมัยใหม่ รายได้เพิ่มมากขึ้น โดยสหกรณ์โคนมได้ส่งเสริมเกษตรกรด้วยกันหันมาเรียนรู้และปรับปรุงคุณภาพน้ำนม (farmer to farmer) ด้วยระบบรีดนมแบบอัตโนมัติและระบบการทำความเย็นจากแท็งก์ (Milking machine pipe line and cooling tanks) พร้อมระบบขนส่งถึงศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบเพื่อรักษาคุณค่าน้ำนมให้มากที่สุด ซึ่งเป็นโมเดลต้นแบบของอาชีพโคนมสมัยใหม่ รวมถึงได้เกษตรกรจากประเทศเนเธอร์แลนด์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การช่วยลดระยะเวลารีดนมลดปริมาณจุลินทรีย์และปริมาณโซมาติกเซลล์ ทำให้ได้น้ำนมลดต้นทุนและรายได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัจจุบันน้ำนมดิบในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ต้องนำเข้าประมาณ 1 แสนตัน/ปี ดังนั้น เกษตรกรโคนม 20,000 ครัวเรือน ต้องปรับตัวจัดการระบบการเลี้ยงเพิ่มผลผลิตน้ำนมดิบด้วยนวัตกรรมให้มากที่สุด หากอนาคตมีการเปิดเสรีโครงการเหล่านี้จะเป็นจุดแข็งในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ

“ปัจจุบันเกษตรกรโคนมเริ่มปรับตัวในการพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบทั้งการเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศเพื่อนำแนวคิดต่างๆ มาปรับใช้ทั้งระบบ ซึ่งเราก็เห็นว่าไทยสามารถทำได้แม้ว่าจะเป็นเขตร้อน ทำไมเขาทำได้ แล้วเราจะทำไม่ได้ โดยเฉพาะเราเล็งเห็นว่าอีกไม่กี่ปีเราต้องสู้กับ FTA กฎการค้าใหม่ๆ หากเราไม่ปรับตัวก็จะเป็นข้อเสียเปรียบ”

ด้าน นายทศพร ศรีศักดิ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนภาครัฐ กลุ่ม D6 การพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ ได้ส่งเสริมเกษตรกรโคนมทุกกลุ่ม โดยเน้นควบคุมดูแลมาตรฐานฟาร์ม เพิ่มศักยภาพการผลิตน้ำนมดิบตลอดจนการจัดการด้านคุณภาพสัตว์ให้กับกลุ่มเกษตรกรโคนมไทย

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ