U2T ม.บูรพา @ ตำบลท่าโสม จังหวัดตราด ขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนหอยนางรมท่าโสม

โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (U2T) ของมหาวิทยาลัยบูรพา ที่ตำบลท่าโสม อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด จากไอเดีย ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เสนอ “โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ “เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนหลังการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 (รอบ 2) โดยทีม U2T มหาวิทยาลัยจ้างบัณฑิตจบปริญญาตรีและนักศึกษาในพื้นที่ให้มีงานทำ ระยะเวลา 1 ปี (กุมภาพันธ์ 2563-มกราคม 2564) โดยมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยง เพื่อการสร้างงาน พัฒนาอาชีพ ให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเปรียบเสมือนรากแก้วหยั่งลงดิน โดยเน้นเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy)

U2T สร้างรากแก้ว ตำบลท่าโสม มองหาจุดแข็งพัฒนา

ดร.สราวุธ ศิริวงศ์ คณบดี คณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ที่ปรึกษาโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (U2T) ชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยบูรพาเลือกพื้นที่ตำบลท่าโสม อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกับบริษัท บางกอกแอร์เวย์ บริษัท เบทาโกร ซึ่งสภาพพื้นที่ตำบลท่าโสม เศรษฐกิจดี มีความพร้อม และอยู่ในโครงการที่ได้รับการพัฒนามาก่อน แทบไม่มีอะไรต้องพัฒนา เมื่อลงสำรวจข้อมูลในพื้นที่พบว่า “การเพาะเลี้ยงหอยนางรม” คือจุดแข็งที่ควรนำมาพัฒนาต่อยอด เริ่มโครงการระยะเวลา 4 เดือน

หอยนางรมเปลือก กิโลกรัมละ 12 บาท

เมื่อทีม U2T เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงหอยนางรมได้ข้อสรุปว่า การเพาะเลี้ยงพื้นที่มีศักยภาพ ไม่มีมลภาวะ แพลงตอนสมบูรณ์ แต่ด้านการตลาดต่อรองราคาไม่ได้เพราะราคาเป็นไปตามฤดูกาล ผลผลิตมากราคาจะถูก พ่อค้าคนกลางรายใหญ่มาซื้อกดราคา และพบว่าในพื้นที่ยังมีหอยตาโกรมอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพ แต่ยังมีปัญหาการเพาะขยายพันธุ์ตามธรรมชาติยังไม่เพียงพอ ในกระบวนการพัฒนาจึงมีทั้งจุดแข็ง จุดอ่อนที่ต้องปรับเปลี่ยนพัฒนาต่อยอด เป็นโจทย์ที่ต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน จึงเป็นที่มาของโครงการย่อย 5 โครงการ คือ การเพาะเลี้ยงหอยตะโกรม การแปรรูปหอยนางรม การพัฒนาสื่อออนไลน์และการตลาดออนไลน์ การจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนางรม และการจัดการขยะชุมชน โดยโครงการจะขับเคลื่อนด้วยองค์กร วิสาหกิจชุมชนหอยนางรมท่าโสม ที่มีอยู่ในพื้นที่

ทีม U2T ดูแลเพาะเลี้ยงหอยตะโกรม
ทีม U2T (กำจัดขยะ)

“การดำเนินงานตามโครงการ 1 ปี (กุมภาพันธ์ 2564-มกราคม 2565) มหาวิทยาลัยและทีม U2T ได้ลงพื้นที่ใช้ความรู้ที่ผ่านงานวิจัยที่เคยอยู่บนหิ้งได้นำไปสู่การปฏิบัติได้เรียนรู้ที่กว้างขึ้น บัณฑิต นักศึกษาได้สร้างตัวตนจากประสบการณ์การทำงานกับชุมชน เป้าหมายคือสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเสมือนรากแก้ว สามารถพัฒนาต่อเนื่องภายหลังจบโครงการ U2T” ดร.สราวุธ กล่าว

ดร.สราวุธ ศิริวงศ์

5 โครงการวิสาหกิจชุมชนหอยนางรมท่าโสมขับเคลื่อน

คุณวราพร จิตรตรง หรือ พี่โอ๋ หัวหน้าทีม U2T เล่าว่า ทีมงาน 15 คน เป็นคนจังหวัดตราดทั้งหมด มีนักศึกษาที่จบปริญญาตรีแล้ว 10 คน กำลังศึกษาปริญญาตรี 5 คน และตัวแทนประชาชน 5 คน แบ่งกันรับผิดชอบแต่ละโครงการ ทุกคนจะฝังตัวทำงานอยู่ในพื้นที่ตำบลท่าโสม ยกเว้น 2 คนจะแยกไปทำโครงการเพาะพันธุ์หอยตาโกรมที่คณะวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีที่มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี เพราะต้องใช้ห้องทดลอง ทั้ง 5 โครงการ เป็นการพัฒนาอาชีพ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน มีที่ทำกันอยู่แล้ว แต่ U2T นำมาพัฒนาต่อยอด โดยวิสาหกิจชุมชนหอยนางรมท่าโสม เป็นกลไกหลักขับเคลื่อนร่วมกับผู้นำท้องถิ่นนายก อบต.ท่าโสม คุณวิชิต สุนทรวนิค และผู้นำชุมชน สถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐ

คุณวิชิต สุนทรวนิค
คุณวราพร จิตรตรง หรือ พี่โอ๋

พี่โอ๋ เล่าถึงความคืบหน้าทั้ง 5 โครงการว่า การเพาะเลี้ยงหอยตะโกรม มี 2 กิจกรรม คือ การทดลองนำพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์เลี้ยงผสมเทียม เลี้ยงในบ่ออนุบาลระบบปิด 2-4 สัปดาห์ และทดลองเลี้ยงธรรมชาติข้างบ่อกุ้ง 3-4 สัปดาห์ เป้าหมายคือการเพาะขยายพันธุ์เพื่อให้พื้นที่ตำบลท่าโสม มีการเลี้ยงหอยตะโกรมเพิ่มขึ้นอีกชนิดหนึ่ง และกิจกรรมทำแป้นหอยนางรม (อีแปะ) เพื่อให้ชาวบ้านมีงานทำ การแปรรูปหอยนางรม มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นน้ำพริกหอยนางรมและข้าวเกรียบหอยนางรม และแป้งออส่วนสำเร็จรูป

โดยทีมวิทยาลัยชุมชนตราดมาช่วย การจัดทำฐานข้อมูลต่างๆ ได้ 90 เปอร์เซ็นต์ เช่น ข้อมูลผู้ขึ้นทะเบียนเลี้ยงกับสำนักงานประมงอำเภอเขาสมิง 48 ราย และเลี้ยงจริง 42 ราย เกษตรกรได้ใบรับรองการปฏิบัติทางเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) 18 ราย เพื่อส่งต่อให้นำไปใช้พัฒนาต่อยอดและจะมีการอบรมทำเว็บไซต์ และการพัฒนาสื่อออนไลน์และการตลาดออนไลน์ มีเพจท่าโสม ให้เห็นความเคลื่อนไหวของวิสาหกิจชุมชนหอยนางรมท่าโสม การทำตลาดออนไลน์ การสร้างแบรนด์ท่าโสม และช่วงโควิด-19 จัดโปรโมชั่น เช็กอิน กินหอย ฟรี

แกะหอยนางรมสด

ส่วนการจัดการขยะชุมชน คุณดาวริน อภิบาลศรี หรือ พี่ดาว หนึ่งในทีม U2T ยอมรับว่ายากมาก แม้ว่าชุมชนเคยทำมาก่อนแต่มีปัญหาทำไม่ต่อเนื่อง จึงต้องหาแนวร่วม อบต. องค์กร รพสต. อสม.หมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โรงเรียนมาช่วยกัน และลงพื้นที่ทั้ง 5 หมู่บ้านเพื่อให้ได้สมาชิกหมู่บ้านละ 50 ครัวเรือน จำนวน 150 ครัวเรือน ได้เรียนรู้วิธีการคัดแยกขยะขาย สร้างแรงจูงใจให้สิทธิผลประโยชน์เงินฌาปนกิจครอบครัวสมาชิก โดยสมาชิกออมเงินเดือนละ 300 บาท ครบ 6 เดือนติดต่อกันและต้องไม่ขาดการนำขยะมาขาย 3 เดือนติดต่อกัน เดือนที่ 7 เป็นต้นไปครอบครัวสมาชิกเสียชีวิต จะได้รับเงินฌาปนกิจจากสมาชิกทั้งหมดครอบครัวละ 50 บาท และสมาชิกต้องนำเงินมาออมให้ครบ 300 บาททุกครั้ง โชคดีที่ในหมู่บ้านมีผู้รับซื้อขยะให้ความร่วมมือ เดือนกรกฎาคมได้เริ่มทยอยขายขยะ คาดว่าจะครบทั้ง 5 หมู่บ้าน

คุณดาวริน อภิบาลศรี หรือ พี่ดาว

“การขับเคลื่อนโครงการให้เกิดผลทางปฏิบัติ ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชาวบ้าน การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นเรื่องยาก เพราะชาวบ้านเคยชินทำมานานและไม่เดือดร้อนเรื่องเศรษฐกิจ ต้องใช้แรงกระตุ้นเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงพัฒนา สภาวะโควิด-19 รอบ 3 ที่ไม่คาดคิด ทีมเราต้องปรับการทำงานที่ต้องใช้เวลามากขึ้น ข้อดีคือพื้นที่มีความเหมาะสม อุดมสมบูรณ์ วิสาหกิจชุมชนหอยนางรมท่าโสม อบต.ท่าโสม เข้มแข็ง หน่วยงานต่างๆ ผู้นำชุมชนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รพ.สต. อสม. ร่วมมือกันในเชิงเครือข่าย” คุณวราพร กล่าว

พัฒนาต่อยอด สร้างงาน สร้างแบรนด์ท่าโสม

เชื่อมโยงการท่องเที่ยว

คุณกมล แซ่ตั๋น หรือ รองแจ๊ค ประธานวิสาหกิจชุมชนหอยนางรมท่าโสมและรองนายก อบต.ท่าโสม เล่าว่า วิสาหกิจชุมชนหอยนางรมท่าโสมมีมาก่อน แต่เพิ่งจดทะเบียนปี 2564 มีกรรมการ 11 คน สมาชิกทั้งตำบล 80 คน การทำงานต่างๆ เริ่มเป็นระบบขึ้น ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เช่น มีการจดทะเบียนผู้เลี้ยงหอยนางรม การพัฒนาการเลี้ยงหอยให้ได้มาตรฐาน GAP การวางขอบเขตพื้นที่เลี้ยงหอยให้ประมงพื้นบ้านทำมาหากินได้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีแบรนด์ท่าโสม การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับวิถีชุมชน

คุณกมล แซ่ตั๋น หรือ รองแจ๊ค

“โชคดีที่โครงการ U2T เลือกพื้นที่ตำบลท่าโสม ทำให้ชาวบ้าน ชุมชนได้รับความรู้ใหม่ๆ ชาวบ้านมีงานทำ รายได้เพิ่มขึ้น หน่วยงานต่างๆ เห็นศักยภาพช่วยกันสนับสนุน ต่อไปจะสอนชาวบ้านทำอีแปะเพาะพันธุ์หอยแทนที่จะซื้อจากจังหวัดระยอง ทำให้ผู้สูงอายุ ผู้ว่างงานได้มีรายได้ การท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต หลังจากจบโครงการ U2T คิดว่าจะต่อยอดพัฒนาเป็นอาชีพที่ยั่งยืน เช่น เลี้ยงหอยตะโกรมที่มีมูลค่าสูงกว่าหอยนางรม เกษตรกรเลี้ยงหอยที่ได้ใบรับรอง GAP เพิ่มขึ้น การพัฒนาแบรนด์ท่าโสมทุกผลิตภัณฑ์ให้มาตรฐาน และรักษาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่สมบูรณ์” รองแจ๊ค กล่าว

สนใจสอบถามรายละเอียด ประธานวิสาหกิจชุมชนหอยนางรมท่าโสม โทร. 086-004-4347

เช็กอิน กินหอย ฟรี โปรแซ่บ

คุณณัฐกาญจน์ พรหมโคตร และ คุณจันทกานต์ กลีบสุข ทีม U2T พัฒนาสื่อและการตลาดออนไลน์ เล่าว่า นอกจาก เพจท่าโสม เฟซบุ๊กของแต่ละคนแล้ว จัดทำโปรโมชั่น “เช็กอิน กินหอย ฟรี” ตั้งแต่วันที่ 1-31 กรกฎาคม ให้เช็กอินเข้ามาในเพจท่าโสม ชิมหอยนางรมสดๆ ฟรี เพื่อกระตุ้นตลาดหอยนางรมที่เงียบเหงาจากโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวแทบจะเป็นศูนย์และเป็นต้นแบบให้ร้านต่างๆ ด้วย มีร้านค้าเข้าร่วม 3 แห่ง คือ ร้านเจ๊น้องหอยนางรม วารินหอยนางรม และสลักทะเลสด

คุณณัฐกาญจน์ พรหมโคตร และ คุณจันทกานต์ กลีบสุข

ร้าน “เจ๊น้อง หอยนางรม” คุณรสสุคนธ์ สินยานันท์ เจ้าของ เล่าว่า ครอบครัวจะรับซื้อหอยเปลือกมาแกะเนื้อขายมาร่วม 10 ปี ก่อนโควิด-19 นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเกาะช้างขายดีเพราะเป็นทางผ่าน การเข้าร่วมโครงการจะช่วยให้ลูกค้าเพิ่มขึ้น มีสีสัน โดยมีหอยนางรมสดแกะใหม่ๆ พร้อมเครื่องเคียงให้ครบ น้ำพริกเกลือ น้ำพริกเผา หอมแดงเจียว ผักกระถินสดๆ เดิมมีนักท่องเที่ยวแวะรับประทานกันสดๆ อยู่แล้ว บางคนสั่งเมนูยำหอยนางรม และซื้อกลับบ้านราคาเนื้อหอยขึ้นอยู่กับหอยเปลือก ตอนนี้เนื้อหอยแกะ กิโลกรัมละ 220 บาท ลูกค้าต่างจังหวัดที่เห็นในเฟซบุ๊ก เพจ สั่งซื้อออนไลน์มาเพราะสะดวก มีบริษัทขนส่งแช่เย็นส่งวันนี้ได้พรุ่งนี้

เนื้อหอยนางรมสดๆ กิโลกรัมละ 220 บาท

ด้านร้าน “วาริน หอยนางรม” คุณกมล แซ่ตั๋น รองนายก อบต.ท่าโสม และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เล่าว่า เลี้ยงทั้งเพาะพันธุ์และขายหอยสด จ้างคนแกะขายหอยสดๆ หน้าบ้าน ตำบลท่าโสมจะมีน้ำทะเลดี สะอาด อุดมสมบูรณ์ ทำให้หอยนางรมตัวโต อ้วน เนื้อเป็นสีขาว รสชาติอร่อย ในหมู่บ้านตำบลท่าโสมจะเลี้ยงกันทุกหมู่บ้าน ยกเว้นหมู่เดียวที่ไม่ติดทะเล ถนนสายที่ผ่านตำบลท่าโสมจะมีร้านขายหอยนางรมสดเป็นระยะๆ ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวที่ผ่านไป-มาจะแวะรับประทานกันที่ร้าน ซื้อกลับบ้าน และสนใจดูการแกะหอยสดๆ ชาวบ้านในหมู่บ้านมารับจ้างแกะกิโลกรัมละ 50 บาท บางคนแกะได้วันละ 10 กิโลกรัม การมีจุดเช็กอิน กินหอย ฟรี จากสถานการณ์โควิด-19 ช่วยสร้างกระแสให้คนมาชิม ช็อปเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนในจังหวัดตราด

คุณอารีรัตน์ เหลือหลาย

และร้านสลักทะเลสด คุณอารีรัตน์ เหลือหลาย กล่าวว่า การเข้าโครงการ เช็กอิน กินหอย ฟรี เหมือนได้ประชาสัมพันธ์และอัพเกรดร้านขึ้นมา เพราะต้องตกแต่งหน้าร้านให้เป็นที่สนใจ สะอาด ที่นั่งเช็กอินถ่ายภาพ และชุดแพ็กเกจที่เสิร์ฟหอยแต่ละตัว เพราะปกติลูกค้าจะชิมจากที่แกะสดๆ โชคดีที่ลูกๆ มาช่วยกัน ช่วงที่มีโควิด-19 จะเงียบ แต่ดีกว่าโควิด-19 รอบแรกที่ล็อกดาว์น ราคาลดลงมาก เหลือ 180 บาท ตอนนี้ราคากิโลกรัมละ 220 บาท จากปกติก่อนจะมีโควิด-19 ราคากิโลกรัมละ 250-300 บาท แต่ขายได้น้อยมาก จากวันละ 20-30 กิโลกรัม เหลือวันละ 5-6 กิโลกรัม มีโปรโมชั่นช่วยให้คึกคักขึ้น

ทุกร้านจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า หอยนางรมที่นี่อ้วน สีขาว เนื้อนุ่ม ไม่เปื่อยยุ่ย รสชาติหวาน อร่อย แกะเนื้อกันสดๆ ความแซ่บอยู่ที่น้ำจิ้มซีฟู้ด เผ็ด เปรี้ยว หวาน ถ้าไม่ชอบเผ็ดมีน้ำพริกเผาให้ ส่วนหอมแดงเจียวทำเองช่วยให้รสชาติกลมกล่อม ใบกระถินปลูกธรรมชาติสดๆ แนมทำให้หอยมีรสหวานโดดเด่น ชิมแล้วอดไม่ได้ที่จะซื้อกลับบ้าน