กะทิพร้อมปรุง นมมะพร้าวพร้อมดื่ม อนัญญาเกาะช้าง พร้อมโกอินเตอร์

“มะพร้าว” พืชสารพัดประโยชน์ ที่เกาะช้างมีปริมาณผลผลิตปีละหลายแสนลูกที่ผลผลิตจะให้เก็บเกี่ยวทุกรอบ 45 วัน ปัจจุบันความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งต้องการความสะดวกรวดเร็วในการบริโภค ความสดใหม่ของวัตถุดิบ รวมทั้งกระแสรักสุขภาพ จึงมีผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าออกมาให้เห็นแพร่หลาย เช่น น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น สบู่น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และยังมีผลิตภัณฑ์จากกะทิสดๆ พัฒนาเป็นกะทิกล่องสนองความต้องการของแม่บ้านได้ดี

ที่เกาะช้าง จังหวัดตราด ผู้ประกอบการท้องถิ่นธุรกิจ SME ขนาดเล็ก ที่ประสบความสำเร็จจากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น สบู่น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น แบรนด์ “อนัญญา เกาะช้าง” ได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม น้ำกะทิพร้อมปรุงและนมมะพร้าวพร้อมดื่ม ผสมทุเรียน รสวานิลลา เมื่อปี 2563 ได้เริ่มวางตลาดและเจาะตลาดต่างประเทศ โดยชูเอกลักษณ์ของสินค้าที่วัตถุดิบมีความสด ใหม่และมีคุณภาพจากเกาะช้าง จังหวัดตราด

ทุนเดิม สวนมะพร้าว 20-30 ไร่ ที่เกาะช้าง

คุณเลอศักดิ์ สถิตย์วิมล หรือ คุณบอย เล่าว่า เมื่อแต่งงานกับ คุณอรรถพร พานิชสุโข ภูมิลำเนาอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะช้างใต้ อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด เห็นว่าที่เกาะช้างมีมะพร้าวจำนวนมากและราคาถูก ลูกละ 2.50 บาทเท่านั้น บางทีไม่มีพ่อค้ารับซื้อ ปี 2553 กับคุณอรรถพรได้เริ่มทำธุรกิจน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น สบู่แฮนด์เมดจากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นจากวัตุดิบมะพร้าวในสวนที่มีอยู่แล้ว 20-30 ไร่ที่ผสมผสานอยู่กับสวนทุเรียน เงาะ ใช้ชื่อแบรนด์ “อนัญญา เกาะช้าง” ตลาดตอบรับดีมาก เพราะเกาะช้างเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ รวมทั้งโรงแรม รีสอร์ตบนเกาะช้าง

คุณเลอศักดิ์ สถิตวิมล และ คุณอรรถพร พานิชสุโข

ปี 2561 ได้จัดตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนคลังมะพร้าวเกาะช้าง” สมาชิกเป็นเจ้าของสวนรายย่อย 6-10 ราย รับซื้อมะพร้าวจากเพื่อนสมาชิกทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เพราะราคามะพร้าวในตลาดตอนนั้นราคาต่ำมาก ลูกละ 8 บาท

โดยกลุ่มรับซื้อลูกละ 15 บาท นำมาผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นขายเดือนละ 300-400 ลิตร รวมทั้งสบู่จากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ได้ออเดอร์ทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ เพราะหน่วยราชการส่งเสริมให้ออกบู๊ธจำหน่ายตามอีเว้นต์ต่างๆ รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเกาะช้าง ทำเท่าไรขายหมดไม่มีของในสต๊อก

คุณอรรถพร พานิชสุโข

แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ต้นปี 2564 ยอดจำหน่ายลดลงจากเดือนละ 300-400 ลิตร เหลือ 200-300 ลิตร และรายได้ลดลงจากราคาขายปลีก 40% เนื่องจากลูกค้ารายย่อยหรือที่สั่งซื้อไปขายออนไลน์ลดลง ส่วนยอดขายนักท่องเที่ยวหายไป แต่มีลูกค้ารายใหญ่เพิ่มขึ้นที่ขายในราคาส่งซื้อไปทำแบรนด์ตัวเอง

ต่อยอด น้ำกะทิคั้น

เครื่องดื่มน้ำนมมะพร้าว ผสมทุเรียน วานิลลา

คุณเลอศักดิ์ สถิตย์วิมล กรรมการผู้จัดการบริษัท ตราด OTOP อินเตอร์เทรดเดอร์ เล่าถึงที่มาของการทำน้ำกะทิคั้น เครื่องดื่มนมมะพร้าวว่า ช่วงปี 2561 ราคามะพร้าวตกต่ำ ไม่มีคนซื้อ คุณมานพ ศรีสมบูรณ์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาย่อยเกาะช้าง จังหวัดตราด แนะนำให้ทำน้ำกะทิคั้นบรรจุกล่องและเครื่องดื่มน้ำนมมะพร้าว เมื่อปรึกษากับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุนงบประมาณโครงการ 50% จำนวน 400,000 บาท ที่เหลือผู้ประกอบการจ่ายเงินสมทบอีก 500,000 บาท จึงได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ตราด OTOP อินเตอร์เทรดเดอร์ ปี 2562 ทดลองผลิตน้ำกะทิคั้นจากมะพร้าวเกาะช้างและน้ำนมมะพร้าวรสธรรมชาติและรสผสมทุเรียนและวานิลลาชนิดกล่อง ขนาด 200 มิลลิกรัมทำมาควบคู่กัน เครื่องดื่มน้ำนมมะพร้าวได้รับการรับรอง อย. (องค์การอาหารและยา) กลางปี 2563 ส่วนน้ำกะทิคั้นเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารได้ อย. ปลายปี 2563

ผลิตภัณฑ์กะทิคั้น-น้ำนมมะพร้าวรสทุเรียน-น้ำนมมะพร้าวธรรมชาติ

คุณเลอศักดิ์ เล่าถึงจุดเด่นของสินค้าจากกระบวนการผลิต “น้ำกะทิคั้นพร้อมปรุง” จะใช้น้ำกะทิ 100% ไม่มีสารฟอกขาว สารกันบูด สารแต่งกลิ่นและรส มีความสดใหม่เพราะเป็นกะทิของเมืองไทย ไม่ได้นำเข้าจากเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ที่ต้องใช้เวลาขนส่งหลายวัน ความสดของมะพร้าวจะทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน เราจะแกะเนื้อจากเกาะช้างส่งไปที่โรงงานของ วว. เพื่อเข้าเครื่องจักรแปรรูป ขูด คั้นน้ำกะทิ

เมื่อได้น้ำกะทิจะผ่านการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ด้วยกระบวนการ UHT (Ultra-high-temperrature) ก่อนบรรจุกล่องด้วยกระบวนการปลอดเชื้อและปิดฉลาก พร้อมจำหน่าย ซึ่งอายุจะเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิปกติระยะเวลา 1 ปี ข้อดีคือกะทิจะสดมาก แม้จะนำไปแช่เย็นแล้วนำมาปรุงอาหารมะพร้าว 10 ลูก จะได้กะทิ 1 ลิตร (1 ลูก 100 มิลลิลิตร) ส่วนเครื่องดื่มน้ำนมมะพร้าว มี 3 ชนิด คือ เครื่องดื่มน้ำนมมะพร้าว ใช้น้ำกะทิสด 50% น้ำตาลทรายไม่ฟอกสี 2.8% ส่วนชนิดผสมทุเรียน ใช้น้ำกะทิสด 47% น้ำตาลทรายไม่ฟอกสี 2.8% ทุเรียนฟรีซดราย 2% และส่วนชนิดผสมวานิลลา ใช้น้ำกะทิสด 47% น้ำตาลทรายไม่ฟอกสี 3% วานิลลา 0.001%

ผลิตภัณฑ์แบรนด์อนัญญา เกาะช้าง

พัฒนาเครื่องดื่มนมมะพร้าวน้ำตาล 0%

กลุ่มลูกค้าคีโต

คุณเลอศักดิ์ เล่าว่า เมื่อผลิตภัณฑ์มี อย. รับรอง การผลิตจากโรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP) ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (วว.) ได้มาตรฐาน GMP CORDEX ปลายปี 2563 จึงทำการตลาดได้ลูกค้ากะทิกล่องทั้งภายในและต่างประเทศ ส่วนเครื่องดื่มน้ำนมมะพร้าวเป้าหมายเป็นกลุ่มลูกค้าต่างประเทศเพราะคนไทยไม่นิยมบริโภค ผลการตอบรับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่จากต่างประเทศให้ความสนใจดี ปี 2564 จึงคิดพัฒนาเครื่องดื่มนมมะพร้าวปราศจากน้ำตาล โดยขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จำนวน 500,000 บาท และจ่ายสมทบ 100,000 บาท

โดยทีมนักวิจัยชุดแรก ของ วว. ทำวิจัย “เครื่องดื่มจากกะทิปราศจากน้ำตาล” เป็นเครื่องดื่มนมมะพร้าวปราศจากน้ำตาล กลิ่นธรรมชาติชนิดเดียว ไม่แต่งกลิ่น ลดความหวานเหลือ 0% เหมาะสำหรับผู้รับประทานอาหารคีโต โดยบรรจุขวดแก้วผ่านการรีทอร์ต (Retort) ฆ่าเชื้อ ช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยลดต้นทุนการผลิต เพราะการผลิตบรรจุขวดแก้วแบบรีทอร์ตผลิตได้สเกลเล็กลงปริมาณ 300 ลิตรขึ้นไป

และมีโรงงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจันทบุรีรับผลิตได้ ขณะที่โรงงานที่ผลิตของ วว. ต้องมีปริมาณการผลิตแต่ละครั้งตั้งแต่ 800 ลิตรขึ้นไปจึงจะคุ้มทุน คาดว่างานวิจัยอยู่ในระหว่างการทดลองปรับสูตรใหม่ จะเสร็จปลายปี 2564 นี้ และทำการตลาดได้ช่วงปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565

“เป้าหมายคือกลุ่มลูกค้ารับประทานอาหารคีโต การวางตลาดจะเป็นร้านกาแฟ มินิมาร์ทโดยมีคอนเซ็ปต์ว่าเป็นเครื่องดื่มกะทิมะพร้าวของคนไทย ไม่มีน้ำตาล ใช้ผสมเครื่องดื่ม กาแฟ แทนนม โดยต้องการสื่อสารถึงเอกลักษณ์กะทิจากมะพร้าวเกาะช้างของเกษตรกรไทยที่มีคุณภาพสดใหม่ ”คุณเลอศักดิ์ กล่าวย้ำ

เครื่องนมมะพร้าวรสธรรมชาติ น้ำตาล 2.8%

ปัญหาโควิด-19 ลากยาว

เร่งหาตลาดภายในประเทศ

คุณเลอศักดิ์ เล่าว่า ปี 2563 เมื่อผลิตภัณฑ์ “น้ำกะทิคั้น เครื่องดื่มนมมะพร้าว ผสมทุเรียน วานิลลา” พร้อมจำหน่าย ธนาคารเอกซิมแบงค์และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ช่วยหาช่องทางจัดจำหน่ายในแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ เจรจาเรื่องการส่งออกกับคู่ค้าไทยและต่างประเทศ ให้ความรู้การบริหาร ความเสี่ยง ทำให้มีความมั่นใจผลิตภัณฑ์ที่ส่งออก

จากนั้นบริษัท ตราด OTOP อินเตอร์เทรดเดอร์ ที่มีโรงงานผลิตได้มาตรฐาน GMP และ CODEX ได้พยายามทำตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ได้เปิดตลาดเจรจากับลูกค้าต่างประเทศจีน อิสราเอล จากงาน Thai Flex เดือนเมษายน 2564 เจรจาตกลงกับคู่ค้าเตรียมทำสัญญาซื้อขายส่งออกไปจำหน่ายล็อตแรก 10,000-20,000 กล่อง

นมมะพร้าวผสมทุเรียน

แต่มีสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 ผู้ประกอบการค้าต่างประเทศเข้ามาไม่ได้ ทำให้การซื้อ-ขายหยุดชะงัก ตอนนี้มีน้ำกะทิคั้นในสต๊อก 17,000 กล่อง เป็นกล่องขาวที่ยังไม่ได้ปิดฉลาก ซึ่งการทำฉลากต้องลงทุนอีก 60,000-70,000 บาท ต้องให้มีตลาดรับซื้อแน่นอนก่อน หากผู้ประกอบการสนใจซื้อไปทำฉลากเองได้ ระหว่างนี้ ธ.ก.ส.ช่วยเจรจากับคู่ค้าห้างโลตัส ถ้าได้รับการตอบรับจะมีตลาดภายในประเทศค่อนข้างใหญ่

“น้ำกะทิคั้นในจังหวัดตราดเริ่มทำตลาดได้บ้างแล้ว ตามโรงแรม รีสอร์ตเพื่อปรุงอาหาร แต่มาติดโควิด-19 ไม่มีนักท่องเที่ยวโรงแรมก็ไม่ซื้อ ราคากะทิกล่องที่จำหน่ายกล่องขนาด 200 มิลลิลิตร ราคา 22 บาท ถูกกว่าของบริษัททั่วไปราคา 25 บาท ตอนนี้พยายามหาช่องทางจัดจำหน่ายให้ตลาดภายในประเทศบริโภคแทนตลาดต่างประเทศ แต่ต้องมีปริมาณมากพอสมควรเพื่อคุ้มกับการทำฉลาก หรือถ้ามีออเดอร์เพิ่มขึ้นสามารถผลิตให้ใหม่ได้ ทั้งนี้ ภาครัฐช่วยส่งเสริมธุรกิจ SME ขนาดเล็ก-ขนาดกลาง จังหวัดตราดมีผลผลิตทั้งผลไม้ อาหารทะเลหลากหลายมีคุณภาพแต่ปริมาณไม่มาก หากส่งเสริมพัฒนาบุคลากรเครื่องมือพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งโรงงานการผลิตจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งเสริมเศรษฐกิจระดับรากหญ้ามีรายได้ดีขึ้น และส่งเสริมให้เด็กรุ่นหลังได้มีงานทำ” คุณเลอศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

น้ำกะทิคั้น

สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณเลอศักดิ์ สถิตวิมล โทร. 061-782-5663 หรือ 099-163-9789