‘ไซโก้’ ผลิตมะม่วงกระป๋อง เน้นเจาะจีน-หวั่นสับปะรดล้นตลาด

SAICO คาดเป้ายอดส่งออกปี’60 ยืน 3,600 ล้านบาทเท่าปีก่อน พร้อมแตกไลน์ผลิตผลไม้อื่นนอกจากสับปะรดกระป๋อง หวังเจาะตลาดจีนมากขึ้น หวั่นปริมาณผลผลิตสับปะรดล้นตลาด ทำราคาวัตถุดิบเกษตรกรดิ่ง ด้านชาวไร่หวัง กม.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาคลอดออกมาเร็ว จะดึงโรงงาน-เกษตรกร มาทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งรักษาเสถียรภาพราคามากขึ้น

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท สยามอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ SAICO เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2560 บริษัทมีนโยบายที่จะขยายไลน์การผลิตสินค้าในกลุ่มผลไม้ต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น มะม่วง ผลไม้รวม โดยจะทำในรูปแบบกระป๋อง และแพ็กเกจอื่นๆ เพิ่มเติม จากปัจจุบันผลิตเฉพาะสับปะรดกระป๋อง และซอส โดยมีเป้าหมายจะขยายสินค้าเข้าสู่ตลาดจีน ซึ่งเริ่มปีนี้เป็นปีแรก ทั้งนี้ ปี 2560 บริษัทคาดการณ์ยอดรวมรายได้จะเติบโตประมาณ 3,600 ล้านบาท เทียบเท่ากับปี 2559 เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า

บริษัทยังเน้นทำตลาดส่งออก 100% และทำตลาดรับจ้างผลิต (OEM) เป็นหลัก โดยตลาดหลักที่บริษัททำการค้าอยู่แล้ว เช่น ตลาดสหรัฐอเมริกา ตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่บริษัทยังคงรักษาฐานลูกค้าไว้เป็นอย่างดี และมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง

สำหรับกลยุทธ์ในการขยายตลาดคู่ค้ารายใหม่ บริษัทจะออกงานแสดงสินค้าอย่างต่อเนื่อง แนะนำสินค้าใหม่ให้กับลูกค้า รวมถึงการออกไปพบปะลูกค้ารายเดิม และในเร็วๆ นี้จะไปร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร 2560 หรืองาน THAIFEX-World of Food Asia 2017 ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 31 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2560 นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี และจะไปร่วมงานแสดงอาหารในต่างประเทศด้วย เช่น เยอรมนี และดูไบ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในการทำตลาดปีนี้บริษัทยังมีความกังวลในเรื่องวัตถุดิบโดยเฉพาะสับปะรด คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตออกมาจำนวนมาก จะส่งผลต่อราคาสับปะรด เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะออกมามากน้อยเพียงใด โดยสับปะรดปกติจะออกสู่ตลาด 2 ช่วง คือช่วงเดือนพฤษภาคมและพฤศจิกายนของทุกปี โดยปริมาณเฉลี่ยจะออกมาประมาณ 18,000-20,000 ตัน ต่อวัน นอกจากนี้ คงต้องติดตามเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากเป็นปัจจัยต่อสินค้าส่งออก เพราะหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ราคาสินค้าไทยจะปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย สำหรับโรงงานของบริษัท 2 แห่ง อยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดระยอง

ทางด้าน นายสุรัตน์ มุนินทรวงศ์ นายกสมาคมชาวไร่สับปะรดไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ราคารับซื้อสับปะรดสดหน้าโรงงานอยู่ กิโลกรัมละ 5 บาทเศษ ใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตที่ กิโลกรัมละ 2 บาทเช่นกัน ที่ผ่านมาทางผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้จัดประชุมไตรภาคี 3 ฝ่าย ทั้งส่วนราชการ โรงงาน และเกษตรกร ให้ช่วยเหลือรับซื้อสับปะรดไม่ให้ต่ำกว่าต้นทุนมาแล้ว 2 รอบ หากไม่มีการประชุมเช่นนี้คาดว่าราคาจะลงไปมากกว่านี้ ทั้งที่ช่วงนี้สับปะรดออกสู่ตลาดไม่เกินวันละ 7,000 ตัน ไม่ได้เกิน 1 หมื่นตัน/วันที่ล้นกำลังการผลิตของโรงงาน และสับปะรดที่ออกจากไร่จะหมดลงในเดือนมิถุนายนนี้

“ที่ผ่านมาราคาสับปะรดลงตลอดทางโรงงานกลัวซื้อในราคาแพง เลยลดราคารับซื้อลงตลอด ยิ่งราคาส่งออกสับปะรดคั้นน้ำที่เคยสูงถึง 3,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน ช่วงราคาสับปะรดสด กิโลกรัมละ 10 กว่าบาท ลดลงมาเหลือ 1,000 เหรียญสหรัฐ ต่อตัน ทำให้โรงงานมาลดราคารับซื้อสับปะรดผลสดที่ได้มาตรฐานในการส่งเข้าโรงงานผลิตสับปะรดกระป๋องด้วย ซึ่งไม่ถูกต้อง”

ส่วนประเด็นที่อยากจะให้ภาครัฐปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้โรงงานสับปะรดกระป๋อง บางโรงงานก็ไม่เห็นด้วย เพราะกลัวมีต้นทุนในการสต๊อกมากเกินไป ดังนั้น การที่ไม่มีแผนร่วมกันระหว่างโรงงานกับเกษตรกรในการทำข้อตกลงล่วงหน้าจะทำให้สับปะรดที่จะออกมาช่วงปลายปีมีปัญหาด้านราคาอีก

“อยากให้ภาครัฐผลักดันพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ…. ออกมาโดยเร็ว หากกฎหมายกำหนดให้โรงงานสับปะรดและเกษตรกรต้องทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งทำข้อตกลงล่วงหน้า จะช่วยจัดระเบียบด้านผลผลิต ปลายปีนี้จะป้อนสู่โรงงานได้ปริมาณแน่นอนในแต่ละช่วงรวมทั้งราคาได้ดีกว่านี้” นายกสมาคมชาวไร่สับปะรดไทยกล่าว

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ