กยท.แจงประเด็น การส่งเสริม-สนับสนุนปลูกยาง ยันบริหารกองทุนตาม พ.ร.บ. ยึดประโยชน์เกษตรกร

กยท.แจงประเด็น การส่งเสริม-สนับสนุนให้มีการปลูกแทน ยันบริหารเงินกองทุนพัฒนายางพาราตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 บนพื้นฐานประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรชาวสวนยาง

จากกรณีมีการระบุว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) การดำเนินการตามโครงการโค่นยางพาราปีละ 4 แสนไร่ ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท และต้องมีการสมทบ 40% จากการใช้เงินรายได้ ที่หักจากการจำหน่ายยางส่งออกหรือเงินเซส (CESS) แต่ กยท.ไม่ได้จ่ายเงินชดเชยให้เป็นเงินสด กลับจ่ายทดแทนเป็นต้นกล้าและปุ๋ยแทน

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท.มีนโยบายในการส่งเสริมให้โค่นยางพาราปีละ 4 แสนไร่ เป็นกระบวนการในการบริหารจัดการซัพพลายเพื่อสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานให้เกิดขึ้นกับตลาดโลก ซึ่งเกษตรกรที่ดำเนินการโค่นยางเก่า กยท.จะมีกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในการนำไปปลูกแทน ร้อยละ 40 ของเงินกองทุนพัฒนายางพาราเท่านั้น ปัจจุบัน กยท.ให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน จำนวน 200,457 ราย คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 1.98 ล้านไร่ โดยในจำนวนนี้ แบ่งเป็นปลูกยาง 1,439,903.20 ไร่ ไม้ยืนต้น 79,162 ไร่ ปาล์มน้ำมัน 442,370.75 ไร่ และปลูกพืชแบบผสมผสาน 15,561.45 ไร่

ผู้ว่าการ กยท.กล่าวว่า ทั้งนี้ หากเกษตรกรที่โค่นแล้วเลือกปลูกแทน จะได้รับเงินสนับสนุนไร่ละ 16,000 บาท โดยหลักจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ได้รับการสนับสนุนเป็นเงินสดโอนเข้าบัญชีเกษตรกร จะเป็นประเภทค่าแรง อาทิ การเตรียมดิน การปลูก และการบำรุงรักษาสวนจนกว่าจะได้ผลผลิต เป็นต้น ประมาณ 5,000 บาทต่อไร่ ส่วนปัจจัยการผลิต อาทิ พันธุ์ยาง ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ กยท.สามารถบริหารจัดการช่วยเหลือ โดยการจ่ายเป็นวัสดุ หรือเป็นเงินให้แก่เกษตรกรก็ได้เพราะแต่ละพื้นที่มีข้อจำกัดแตกต่างกัน เช่น กรณีพันธุ์ยางบางพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งผลิตกล้ายาง จะจ่ายเป็นเงินสด เพื่อให้เกษตรกรไปจัดหาปัจจัยการผลิตเอง หรือปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งชาวสวนยางโดยส่วนมากของประเทศเป็นเกษตรกรรายย่อย การจัดหาปัจจัยการผลิตประเภทนี้ มีต้นทุนค่อนข้างสูง อาจได้ของที่มีคุณภาพต่ำ หรือราคาแพงกว่าท้องตลาดโดยทั่วไปได้ อีกทั้งบางรายอาจไม่นำเงินที่ได้ไปใช้เพื่อการบำรุงรักษาสวนยาง

“กยท.ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการที่โปร่งใส และเป็นธรรม ฉะนั้น เรื่องการทุจริต หรือเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนใดก็ตาม ย้ำว่าเป็นประเด็นนโยบายหลักที่สำคัญมากในการบริหารงาน กยท. ซึ่งคณะกรรมการบริหารการยางแห่งประเทศไทย ตระหนักและติดตามทุกโครงการอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแน่นอน” ดร.ธีธัชกล่าว

ดร.ธีธัชกล่าวว่า สำหรับประเด็นการสนับสนุนเงินทุนให้กู้เพื่อนำมาประกอบอาชีพ กยท.ได้จัดสรรเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา ตามมาตรา 49 (3) ประมาณ 2.5 พันล้านบาท ให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. จะมีคุณสมบัติในการกู้ยืมเงินซึ่งหากเป็นเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย สามารถใช้บุคคลค้ำประกันอย่างน้อยสองคน หรือใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันก็ได้ และสำหรับกลุ่มเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกร ต้องมีทุนเรือนหุ้นไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท และมีวินัยทางการเงิน ทั้งนี้ หากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางใดที่ได้รับการผ่อนผัน ขยายเวลาชำระหนี้ ลดหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ประนอมหนี้ และสามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข ถือว่ามีคุณสมบัติที่จะกู้ยืมได้ และสำหรับผู้ประกอบกิจการยาง จะต้องไม่มีหนี้ผิดค้างชำระต่อสถาบันการเงิน หรือ กยท.เช่นกัน

ด้าน ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการผลิต กยท. กล่าวว่า การจัดหากล้ายางหรือปุ๋ย กยท.ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 มาตรา 37 วรรค 2 ที่กำหนดไว้สำหรับการปลูกแทน โดยให้ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรทั้งยางพันธุ์ดี พันธุ์ไม้ยืนต้น พันธุ์พืช ปุ๋ย เครื่องมือเครื่องใช้ จัดบริการอย่างอื่นช่วยเหลือ หรือจ่ายเงินให้ก็ได้ ทั้งนี้ จะจัดให้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้ ซึ่งการจัดหาปุ๋ยเคมีในปี 2560 กยท.จัดให้เฉพาะการปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดีในเขตภาคใต้และภาคตะวันออกที่มีสวนปลูกแทนจำนวนมาก เพื่อให้สวนยางที่อยู่ในความดูแลของ กยท. เจริญเติบโตได้มาตรฐาน สามารถเปิดกรีดได้ตามเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ การดำเนินงานจ่ายปุ๋ย กยท.ร่วมกับกลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกรที่เข้มแข็งเข้าร่วมโครงการเก็บรักษา ผสมปุ๋ย และจ่ายปุ๋ยให้ กยท. โดยมีราคาต่ำกว่าราคาในอัตราการปลูกแทน ทำให้เกษตรกรมีเงินเหลือในบัญชีสะสมไว้รับตอนสวนพ้นระยะการปลูกแทน สำหรับกรณีปุ๋ยอินทรีย์ก็เช่นกัน

ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการผลิต กยท. กล่าวอีกว่า การจ่ายเป็นเงินเข้าบัญชีให้เกษตรกรนำไปซื้อปุ๋ยเอง อาจมีโอกาสที่ได้ปุ๋ยไม่ถูกสูตร ไม่ครบจำนวนหรือไม่ได้คุณภาพ แต่การจัดซื้อครั้งนี้ ปุ๋ยทุกชนิดต้องผ่านการวิเคราะห์ตามเกณฑ์มาตรฐาน ณ ปลายทาง พนักงาน กยท. จะคำนวณปริมาณและจัดทำใบสั่งจ่ายวัสดุ สั่งจ่าย ณ จุดจ่ายปุ๋ยใกล้บ้านเกษตรกรที่มีมากกว่า 300 จุด และที่สำคัญการจัดหาปุ๋ยครั้งนี้ไม่มีการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ใด เนื่องจากมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ขายที่ชัดเจน มีการนำร่างประกาศทางเว็บไซต์ มีบริษัทมาซื้อเอกสารการประมูลปุ๋ยมากถึง 25 บริษัท มีผู้เสนอแนะและวิจารณ์ร่างประกาศโดยเปิดเผยตัว และคณะกรรมการได้พิจารณาปรับแก้เพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เมื่อประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติแล้วมีการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่บริษัทตลาดกลาง ตามแนวทางและขั้นตอนการประมูลด้วยระบบ e-Auction