นักปรับปรุงพันธุ์พริก ดีกรีปริญญาโท ส่งเสริมชาวบ้านปลูกพริก เพิ่มการผลิตพริกนอกฤดู และพริกอินทรีย์ส่งนอก

ภัยแล้งที่เกิดขึ้นหลายปีที่ผ่านมาสร้างปัญหาต่อภาคเกษตรกรรมอยู่ไม่น้อย มีชาวบ้านจำนวนมากหลายพื้นที่ของประเทศต้องประสบกับผลพวงที่เกิดจากภัยแล้งแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ แต่ที่ดูจะเป็นปัญหาเหมือนกันทั้งประเทศคือ หนี้สิน ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงออกมาตรการหลายชนิดอย่างเป็นระลอกเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร

ไม่ต่างอะไรกับชาวบ้านหลายครอบครัวในตำบลโนนคูณ อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินที่ผูกติดมากับการยึดอาชีพเกษตรกรรม ถึงแม้มีความพยายามจะเริ่มต้นใหม่ แต่ยิ่งทำ หนี้สินกลับยิ่งเพิ่ม จนทำให้ชาวบ้านหลายคนเกิดความท้อแท้สิ้นหวัง

แต่ใครจะคาดคิดว่าเด็กผู้หญิงตัวน้อยที่วิ่งเล่นซุกซนอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว จะกลายเป็นคนสำคัญที่ฉุดชาวบ้านทั้งลุงป้าน้าอาขึ้นมาจากกองหนี้ แล้วสร้างชีวิตให้ทุกครัวเรือนมีความสุข อยู่แบบสบาย เพียงแค่การ “ปลูกพริก

ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้าน ชวนท่านผู้อ่านไปพบเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ใฝ่รู้เรื่องการเกษตรอันมาจากการช่วยเหลือครอบครัวตั้งแต่ในวัยเด็ก แล้วเกิดการซึมซับจึงเป็นเหตุผลให้เธอเลือกเรียนสาขาพืชสวน ในระดับปริญญาตรี-โท แล้วยังมีความตั้งมั่นอย่างแรงกล้าว่า จะนำความรู้เหล่านั้นกลับมาพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมของชาวบ้าน เพื่อให้มีชีวิตที่ดีโดยปราศจากหนี้สิน พร้อมกับได้รับการยกย่องให้เป็น  “Young Smart Farmer” ต้นแบบจังหวัด

คุณสุจิตรา จันทะศิลา หรือคุณต้อง

คุณสุจิตรา จันทะศิลา หรือ คุณต้อง เรียนจบระดับปริญญาตรี สาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 2554 ระหว่างเรียนพยายามค้นหาว่า ทำไม เกษตรกรไทยจึงไม่มีความเป็นอยู่ที่ดีเหมือนอย่างในต่างประเทศ และเหตุผลที่พบประการหนึ่งคือ พวกเขาขาดทิศทางการทำเกษตรกรรมที่ชัดเจน

 

เดิมปลูกพริกเป็นรายได้เสริม ไม่เน้นคุณภาพ

ในท้องถิ่นของคุณต้อง ชาวบ้านนิยมปลูกพริกกันเป็นพืชเสริม โดยใช้พื้นที่ไม่มากหลังเสร็จสิ้นจากพืชหลักอย่างข้าว หอมแดง โดยชาวบ้านไม่ได้ให้ความสำคัญต่อคุณภาพพริกที่ปลูกสักเท่าไร เพราะปลูกแล้วเก็บขายมีรายได้เท่านั้นก็เพียงพอ และนี่คือเหตุผลที่ทำให้คุณสุจิตราตั้งใจเรียนต่อปริญญาโท สาขาวิชาพืชสวน (ปรับปรุงพันธุ์พืช โดยเน้นเรื่องพริก) จากมหาวิทยาลัยเดียวกันจนจบเมื่อปี 2558

 

การปรับปรุงพันธุ์พริก ช่วยตอบโจทย์ชัดเจน

“คุณต้อง ชี้ว่า สุญญากาศการทำเกษตรกรรมของชาวบ้านในพื้นที่คือ การขาดเป้าหมายที่ชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านมักปลูกพริกไปตามกระแส โดยไม่ได้สนใจว่าพริกชนิดใดเหมาะกับการใช้ประโยชน์อะไร หรือจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างไร แล้วยังบอกต่ออีกว่า พันธุ์พริกที่ขาดคุณภาพ จะทำให้เกิดต้นทุนปลูกที่สูงมาก”

จากนั้นจึงได้ปรับปรุงพันธุ์พริกโดยแบ่งตามวัตถุประสงค์ทางการค้า ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ พันธุ์พริกสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมยา กับพันธุ์พริกที่ใช้ด้านอาหารเพื่อการบริโภค

ต้นพริกคลุมฟางรักษาความชื่้น

ผลงานความสำเร็จจากการปรับปรุงพันธุ์พริกของคุณสุจิตราได้ออกมาเป็น 4 ชนิด คือ พริกพันธุ์เพชรมอดินแดง, ทับทิมมอดินแดง, หยกเขียวมอดินแดง และหยกขาวมอดินแดง ขณะที่ยังมีผลงานปรับปรุงพันธุ์พริกร่วมกับทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น อย่าง ยอดสน เข็ม 80 และอัคนีพิโรธแล้ว เป็นพริกที่มีคุณสมบัติเหมาะกับการนำไปผลิตยา

ต้องชี้เหตุผลที่ต้องมีการปรับปรุงพันธุ์พริก เพราะมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการสรรหาพันธุ์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของตลาด อีกทั้งยังต้องการให้มีความแข็งแรงทนทานต่อโรคแมลง สภาพอากาศ โดยชาวบ้านจะได้ไม่ต้องลงทุนซื้อปุ๋ย ยา มาใส่ เป็นการช่วยทำให้ลดต้นทุน

 

หลังพัฒนาคุณภาพ รายได้จากหมื่นเป็นแสน

คงเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับเด็กที่เติบโตมาในหมู่บ้านเดียวกัน ที่จะทำให้ลุงป้าน้าอาเชื่อในสิ่งที่เธอพูด แต่คุณสุจิตราต้องอาศัยความอดทนผ่านบททดสอบการสาธิตแปลงทดลอง ที่พบความจริงว่า การปลูกพริกอย่างมีระบบตามมาตรฐานจะทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก พร้อมกับการการันตีราคารับซื้อและมีตลาดจำหน่ายที่แน่นอน จนกระทั่งเกิดการยอมรับฟังและปฏิบัติตามจากชาวบ้าน

“สมัยก่อนที่ต่างคนต่างปลูก ทำให้มีรายได้ไม่ถึง 80 บาท ต่อกิโลกรัม หรือไร่ละ 30,000-40,000 บาท แต่ตอนนี้สามารถผลิตพริกที่ให้ผลผลิตต่อไร่ หรือต่อหน่วยพื้นที่เกินค่าเฉลี่ยของชุมชน ทั้งฤดู จำนวน 500-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ มีรายได้เฉลี่ย รายละ 80,000- 150,000 บาท ต่อไร่ ในช่วง 6 เดือน ที่ปลูกพริก

(จากซ้าย) คุณกฤตธนกร แสงสม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ,คุณสุจิตรา จันทะศิลา และ คุณสุรัตน์ สียันต์ เกษตรอำเภอยางชุมน้อย

ซึ่งเป็นผลมาจากความมั่นคงทางด้านราคาประกันรับซื้อ กิโลกรัมละ 200 บาท ตลอดจนการแสวงหาวิธีลดต้นทุนการปลูก รวมถึงมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอน จึงไม่พบความเสี่ยง เพียงแต่ชาวบ้านทุกรายที่เป็นสมาชิกกลุ่มต้องมีวินัย มีความเสียสละ แล้วต้องปฏิบัติตามแผนที่มีการกำหนดให้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่เรื่องการเพาะเมล็ดพันธุ์ การบริหารจัดการระหว่างปลูก จนถึงการเก็บผลผลิต”

“วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตพริกแห้งปลอดภัยเพื่อส่งออกและแปรรูป” คือ ชื่อกลุ่มที่คุณสุจิตราตั้งขึ้นพร้อมกับชักชวนชาวบ้านในพื้นที่เข้ามาร่วม โดยกำหนดเป้าหมายกลุ่ม และตลาดอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่สมาชิก เน้นการทำงานเป็นกลุ่ม มีการจัดแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน มีการจัดให้ได้รับการฝึกอบรมจากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องเทคโนโลยีการผลิตพริก โรคแมลง การเก็บรักษา และต้นทุนการผลิต

หลังจากนั้น เกษตรกรได้นำมาปรับใช้ในการผลิตพริก โดยใช้พันธุ์ยอดสนเข็ม 80 ได้ผลผลิตพริกแห้ง 500-1,000 กิโลกรัม/ไร่ จึงได้ขยายพื้นที่ปลูกพริกขึ้นอีก ปัจจุบัน กลุ่มมีสมาชิกรวม 95 คน มีจำนวนพื้นที่ปลูกพริกรวม 250 ไร่

พริกป่นบรรจุถุงขายขึ้นห้าง

ทั้งนี้สมาชิกกลุ่มทุกรายมีการผลิตที่ถูกหลักการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) โดยได้รับใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตพริก มีการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดที่ดี ใช้พันธุ์พริกตรงกับความต้องการของตลาด และแบ่งพื้นที่ปลูกพริก ตรงกับสภาพพื้นที่ ลดความเสี่ยงในการผลิตแปรรูปผลผลิตพริก เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตแบบครบวงจร

ในระหว่างรอผลผลิตพริก ชาวบ้านสามารถปลูกพืชแซม อย่าง แมงลัก โหรพา กะเพรา มะเขือ และใบบัวบก เป็นต้น ทำให้มีรายได้เสริม ทั้งยังใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพืชเหล่านี้ยังมีกลิ่นและช่วยในเรื่องของการขับไล่แมลงศัตรูไปด้วย

การผลิตพริกของ “วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตพริกแห้งปลอดภัยเพื่อส่งออกและแปรรูป” เพื่อจำหน่าย มีทั้งแบบพริกสดและพริกแห้ง สำหรับพริกสด มีจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ มีขายเฉพาะในช่วงฤดูพริก เนื่องจากยังไม่พร้อมเรื่องการจัดเก็บ โดยเป็นพันธุ์ซุปเปอร์ฮ็อตและหัวเรือ ซึ่งตอบสนองต่อการเก็บรักษา โดยเฉพาะพริกสดที่นิยมในท้องตลาดคือ ซุปเปอร์ฮ็อต เนื่องจากมีคุณสมบัติเด่นในด้านอายุเก็บรักษาที่ทนนาน ทั้งนี้พริกสองชนิดนี้จะมีปริมาณส่งขายสัปดาห์ละ 10 ตัน

ผลิตภัณฑ์จากพริกของกลุ่มมีทั้งพริกแห้ง พริกป่น น้ำพริกและเครื่องแกง

ส่วนพริกแห้ง มีจำนวน 70 เปอร์เซ็นต์ มีจำหน่ายทั้งปี มีตลาดขาย 2 กลุ่มหลัก คือในอุตสาหกรรมอาหารที่นำไปใช้ทั้งพริกแห้งเม็ดและพริกป่น หรือแปรรูปเป็นซอสปรุงอาหาร ตลอดจนนำไปใช้เป็นเครื่องเทศร่วมกับอาหาร กับอีกกลุ่มคือ ในอุตสาหกรรมยา คุณต้องชี้ว่าสัดส่วนพริกสดที่นำไปทำเป็นพริกแห้งแต่ละพันธุ์มีจำนวนต่างกัน อย่างพันธุ์ยอดสน ถ้านำไปทำพริกแห้ง ในอัตรา 3 : 1 พริกสดพันธุ์หัวเรือ ถ้านำไปทำพริกแห้ง ในอัตรา 4 : 1

พริกที่ใช้ในอุตสาหกรรมยา

“พริกยาจะส่งขายปีละ 2 ครั้ง จะได้เงินเป็นก้อนครั้งเดียว ส่วนพริกในอุตสาหกรรมอาหารส่งทุกสัปดาห์ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้หมุนเวียน สำหรับตลาดผู้บริโภคพริกแห้งมักจะนำไปใช้ทำเครื่องแกง พริกป่น น้ำพริก แต่ที่มีความต้องการของตลาดมากคือ การนำไปใช้ทำเครื่องแกง”

พริกเม็ดแบบบรรจุถุงก็มีจำหน่าย

ไม่เพียงเท่านั้นกลุ่มผู้ผลิตพริกยังตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าระดับพรีเมี่ยมด้วยการออกผลิตภัณฑ์พริกแห้งแพ็กบรรจุถุง มีขายทั้งพริกเม็ดและพริกป่น จำนวน 3 ขนาด คือ 100 กรัม 500 กรัม และ 1,000 กรัม พร้อมกับวางจำหน่ายตามร้านค้าชั้นนำทั่วไป ในชื่อ “สุจิตรา”

 

เพิ่มการผลิตพริกนอกฤดู และพริกอินทรีย์ส่งนอก

คุณสุจิตรา เผยว่า ขณะนี้ถือว่ากลุ่มได้เดินตามแผนงานที่กำหนด แล้วมีความสำเร็จในระดับที่พอใจ อีกทั้งสมาชิกกลุ่มได้เข้าใจระบบการทำงานดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ผลผลิตพริกมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

ดังนั้น จึงทดลองปลูกพริกนอกฤดูด้วยการปรับปรุงพันธุ์ให้มีความเหมาะสมแล้วประสบความสำเร็จได้ผลตามคาด เพราะพริกนอกฤดูมีราคาขายที่สูงจะเอื้อประโยชน์ต่อชาวบ้านได้มาก แต่อาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในรอบการผลิตในช่วงหน้าฝนจะลงมือปลูกพริก

พร้อมไปกับได้ตั้งเป้าหมายต่อไปว่า จะผลิตพริกอินทรีย์ เพื่อส่งขายต่างประเทศ เนื่องจากได้สำรวจตลาดต่างประเทศแล้วพบว่ามีความต้องการพริกอินทรีย์จำนวนมาก ขณะเดียวกันพริกที่ปลูกในขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนให้เป็นอินทรีย์

ปลูกเป็นแถว แล้ววางระบบน้ำ

“อยากให้คนที่กำลังยึดอาชีพเกษตรกรรมทุกท่าน คิดว่าตัวเองมีศักดิ์ศรี มีความน่าภูมิใจที่เป็นกำลังสำคัญในการผลิตอาหารเลี้ยงผู้คนในโลกใบนี้ ขอให้ทุกคนมีใจรัก และมั่นใจว่าอาชีพนี้มีความก้าวหน้าจริง เพียงแต่ต้องสร้างจิตสำนึกในความตั้งใจ เพื่อการพัฒนาอย่างทุ่มเท” คุณสุจิตรา กล่าว

พริกสดที่ปลูกด้วยคุณภาพมีความสมบูรณ์ มีสีสด

ไม่บ่อยนักที่จะพบเห็นถึงความรักและหวงแหนบ้านเกิดของผู้ที่อาศัยชุมชนจะกลับมาพัฒนาเพื่อให้มีความเจริญ นับเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวจันทะศิลา ตลอดจนเพื่อนบ้านในชุมชน รวมถึงระดับจังหวัดที่บุคคลอย่าง คุณสุจิตรา ได้นำความรู้จากการศึกษากลับมาพัฒนาสร้างความเป็นอยู่ให้ชุมชนมีความสุข ความเจริญ ทั้งๆ ที่มีโอกาสจะใช้ชีวิตจากความรู้ไปสร้างความสุขให้กับตัวเอง

ทุกวันนี้สมาชิกกลุ่มทั้งหมดสามารถปลดภาระหนี้สินได้ แล้วทำให้มีความสุขกับชีวิตครอบครัว บ้านไหนที่เคยไปทำงานต่างถิ่นก็กลับมาช่วยงานครอบครัว อีกทั้งยังมีเงินเก็บได้ถึงปีละ 50,000-60,000 บาท สิ่งนี้เองเป็นเป้าหมายสำคัญที่วางไว้ และการที่เธอได้รับการยกย่องให้เป็น Young Smart Farmer” ต้นแบบจังหวัด ในฐานะเกษตรกรรักบ้านเกิด จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เยาวชนคนอื่นที่ควรปฏิบัติตามด้วยเช่นกัน

ท้ายนี้ ใครมีปัญหาหรือต้องการทราบรายละเอียดการปลูกพริก หรือต้องการสั่งสินค้าพริกไปขาย ติดต่อได้ที่ คุณสุจิตรา จันทะศิลา หรือ คุณต้อง โทรศัพท์ (083) 384-4168 หรือต้องการข้อมูลรายละเอียดด้านการเกษตรสอบถามได้ที่ คุณสุรัตน์ ศรียันต์ เกษตรอำเภอยางชุมน้อย โทรศัพท์ (081) 389-9374 คุณกฤตธนกร แสงสม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ โทรศัพท์ (089) 717-7530

 

ขอบคุณ : สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ที่อำนวยความสะดวกครั้งนี้