แปรรูปฟักข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ป้อนตลาดคนรักสุขภาพ สร้างรายได้ก้อนโต

ผลิตภัณฑ์หลายชนิดจากฟักข้าว

“ฟักข้าว” เป็นไม้ประเภทล้มลุก มีลักษณะเป็นเถาเลื้อยตามต้นไม้หรือตามรั้วบ้าน ฟักข้าวเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดหลายประเทศ ได้แก่ จีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเซีย บังกลาเทศ และฟิลิปปินส์

ผลฟักข้าวที่สมบูรณ์เปลือกแดง เนื้อเยื่อสีแดง
ผลฟักข้าวที่สมบูรณ์เปลือกแดง เนื้อเยื่อสีแดง

ในประเทศไทยคนสมัยก่อนนำผลฟักข้าวอ่อนสีเขียวเป็นอาหาร เนื่องจากรสชาติเนื้อฟักข้าวเหมือนมะละกอ วิธีการนำมารับประทานโดยการนำมาลวกหรือต้มให้สุก จิ้มกินกับน้ำพริก หรือใส่แกง ส่วนยอดอ่อน ใบอ่อน นำมาเป็นผักได้ ด้วยการนึ่งหรือลวกให้สุก หรือนำผลอ่อนไปปรุงเป็นแกง เช่น แกงแค และจิ้มน้ำพริกได้เช่นเดียวกัน

ปัจจุบัน ผู้คนให้ความสนใจ ฟักข้าว ในฐานะพืชเป็นยา เนื่องจากงานวิจัยพบว่าการบริโภคเยื่อหุ้มเมล็ดของผลสุก มีสารที่มีประโยชน์มากมาย เช่น สารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหาร ฯลฯ

ดังนั้น ในเชิงพาณิชย์จึงมีการนำเยื่อฟักข้าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายชนิด เพื่อทำให้เกิดความสะดวกต่อการบริโภค แล้วยังสามารถเข้าถึงประโยชน์จากคุณค่าของฟักข้าวได้อย่างง่าย

ที่อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ชาวบ้านหมู่ที่ 9 ตำบลโชคนาสาม ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็น “กลุ่มวิสาหกิจแปรรูปฟักข้าวบ้านตาเดาะ” เพื่อนำผลสดฟักข้าวที่ชาวบ้านในหมู่บ้านหลายครัวเรือนปลูกกัน แล้วนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ฟักข้าวชนิดต่างๆ ส่งขาย อีกทั้งยังเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ปลูกฟักข้าวรายใหญ่ ผสานมือกันเพื่อส่งออกเยื่อฟักข้าวแช่แข็งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน สร้างรายได้เป็นจำนวนมาก

แนวทางนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากเมื่อ คุณสัญญา ยอดเพ็ชร ชาวบ้านในหมู่บ้านตั้งใจจะปลูกฟักข้าวแล้วส่งขายให้แก่กลุ่มผู้ปลูกที่กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม แต่เกิดความผิดพลาดไม่สามารถดำเนินการต่อได้ จึงทำให้เขาตัดสินใจชักชวนเพื่อนบ้านจัดตั้งเป็นกลุ่มเพื่อปลูกและแปรรูปฟักข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ส่งเสริมในเชิงพาณิชย์ เมื่อ ปี 2556 โดยได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์

คุณสัญญา เผยว่า ในตอนแรกที่ปลูกฟักข้าวยังไม่ดีนัก เพราะยังขาดความรู้ ทักษะ และความชำนาญ ก็ปลูกไปตามธรรมชาติ ตามความรู้เช่นเดียวกับไม้ชนิดอื่น แต่ถ้าติดขัดตรงไหนก็จะสอบถามกลับไปยังผู้รู้ที่กำแพงแสน

Advertisement
ผลฟักข้าวในสวนของคุณสวิงอีกไม่กี่วันก็เก็บได้แล้ว
ผลฟักข้าวในสวนของคุณสวิงอีกไม่กี่วันก็เก็บได้แล้ว

เขาให้รายละเอียดการปลูกฟักข้าวว่า มีการกำหนดระยะปลูก 4 คูณ 4 เมตร ส่วนค้างที่ต้นเลื้อย ควรทำให้มีระดับสูงเลยศีรษะเล็กน้อย เพื่อความสะดวกกับผู้ปลูก

ฟักข้าวใช้เมล็ดปลูก แต่ก่อนปลูกต้องบำรุงดินด้วยปุ๋ยคอก ไม่มีการใช้สารเคมีชนิดใดเลย ให้น้ำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง และภายในเวลา 5-6 เดือน จะได้ผลฟักข้าว หลังจากเริ่มมีผลผลิตแล้ว จากนั้นจะทยอยมีเรื่อยๆ และสามารถเก็บได้ทุก 1-2 วัน ยิ่งถ้าปลูกเก่งและใส่ใจมากสามารถเก็บผลผลิตได้ตลอด แล้วมีขนาดมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการด้วยขนาดผลที่เหมาะสม จะอยู่ที่น้ำหนัก ประมาณ 7 ขีด ถึง 1.8 กิโลกรัม

Advertisement

คุณสัญญา ชี้ว่าคุณภาพฟักข้าวไม่ได้ดูจากผิวและความสวยงามของผลเหมือนไม้ผลชนิดอื่น เพราะสิ่งที่ต้องใช้ทำประโยชน์คือ เนื้อเยื่อด้านใน เพียงแต่จะต้องให้สุกแก่เต็มที่เท่านั้น ทั้งนี้ผลผลิตที่เก็บได้ให้สังเกตที่สีเปลือกจะมีสีแดงจัด แสดงว่าสุกแล้ว สามารถเก็บได้ แต่กรณีที่ต้องส่งผลสดไปขายที่อื่นจะต้องเผื่อการขนส่งด้วย

สำหรับชาวบ้านที่ปลูกฟักข้าวส่วนมากปลูกกันเกือบทุกครัวเรือน โดยแต่ละครอบครัวจะปลูกไว้บ้านละ 1-2 งาน  ถือว่าเป็นจำนวนเนื้อที่เหมาะสมและสะดวกกับการดูแล เพราะถ้ามากกว่านี้แล้วอาจดูแลไม่ทั่วถึง หรืออาจต้องลงทุนจ้างแรงงานเพิ่ม

ที่ผ่านมาอาชีพหลักของสมาชิกกลุ่มคือ ปลูกข้าวและพืชหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง แล้วมีการปลูกฟักข้าวเป็นอาชีพเสริม แต่บางรายใส่ใจกับการดูแลเป็นอย่างดี จนทำให้รายได้ที่เกิดขึ้นกับฟักข้าวกลายเป็นรายได้หลักไปแล้ว

ทีมงานที่น่ารัก จากสำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์
ทีมงานที่น่ารัก จากสำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์

กลุ่มวิสาหกิจแปรรูปฟักข้าวบ้านตาเดาะ มี คุณสัญญา ยอดเพ็ชร รับตำแหน่งประธานกลุ่ม คุณกนกรัตน์ เติมสุข เป็นรองประธานกลุ่ม คุณจำเนียร บำรุงมี เป็นเหรัญญิก คุณรัชดาภรณ์ เติมสุข เป็นเลขาฯ และมีสมาชิกกลุ่ม อาทิ คุณวรารัตน์ เก่านาน คุณเยาวเรศ สีหยดยอ คุณละออง ยอดเพ็ชร คุณธิติมา เติมสุข

มีสมาชิกกลุ่ม จำนวน 47 คน ที่มาช่วยกันแปรรูป แต่สมาชิกอีกกลุ่ม จำนวน 200 กว่าคนจะปลูกและส่งผลสดขายเท่านั้น โดยทางกลุ่มจะรับซื้อผลสดในราคาประกัน กิโลกรัมละ 15 บาท ทั้งนี้จำนวนที่รับซื้อผลสดเฉลี่ยต่อรอบ(สัปดาห์ละ 3 วัน) จำนวน 3 ตันกว่า ส่วนชาวบ้านที่ปลูกจะมีรายได้จากการขายผลสด เดือนละ 12,000-15,000 บาท

คุณสัญญา เผยถึงต้นทุนการปลูกฟักข้าวว่า เป็นการลงทุนน้อยมาก อย่างค้างที่ใช้ปลูกในช่วงเริ่มแรก อาจใช้ต้นยูคาลิปตัส ที่มีในพื้นที่ หรือต้นไผ่ ครั้นพอมีรายได้ค่อยเปลี่ยนเป็นเสาปูน เพื่อให้เกิดความทนทาน แข็งแรง สามารถต้านทานกระแสลม ทั้งนี้ชาวบ้านมักปลูกกันบ้านละ 1-2 งาน ถ้าคิดเป็นพื้นที่รวมทั้งหมดแล้ว น่าจะมีเนื้อที่ประมาณ 100 กว่าไร่ โดยเฉพาะตอนนี้ได้รับความสนใจมาก มีการขยายพื้นที่ปลูกไปยังหลายอำเภอ หลายหมู่บ้านในจังหวัดสุรินทร์

กลุ่มวิสาหกิจแปรรูปฟักข้าวบ้านตาเดาะ มีรายได้จากฟักข้าว 2 ด้าน คือ การขายเยื่อฟักข้าวแช่แข็งทั้งภายในและต่างประเทศ อีกด้านคือ รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์แปรรูป อันได้แก่ น้ำฟักข้าวพร้อมดื่ม น้ำฟักข้าวเข้มข้น สบู่ฟักข้าว และเค้กฟักข้าว

คุณสุพจน์ ภูมิสุข นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ เจ้าหน้าที่รับผิดชอบกลุ่มแปรรูปฟักข้าว ได้กล่าวว่า กลุ่มนี้เป็นสมาชิกเครือข่าย Young Smart Farmer ของจังหวัดสุรินทร์ ถือเป็นคนรุ่นใหม่ มีความกระตือรือร้น มีความตั้งใจ มุ่งมั่น จนประสบความสำเร็จดีมาก กระทั่งสามารถเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มอื่น

ความจริงแล้วชาวบ้านมีการปลูกฟักข้าวกันมายาวนานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้มีการจัดรูปแบบที่ชัดเจน ภายหลังเมื่อนำเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง และมีการพัฒนาจนได้มาตรฐานก็เริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนในเรื่องตัวผลิตภัณฑ์และรายได้ อีกทั้งการปลูกฟักข้าวยังได้เปรียบกว่าแหล่งอื่น เพราะสามารถได้ผลผลิตตลอดทั้งปี ต่างจากที่อื่นที่ต้องหยุดในบางช่วง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาล

เมล็ดพันธุ์ฟักข้าว
เมล็ดพันธุ์ฟักข้าว

เจ้าหน้าที่เกษตรฯ ชี้ว่า นอกจากการได้เปรียบทางธรรมชาติแล้ว กลุ่มนี้ยังวางแผนการผลิตได้ตรงจุดตามความต้องการที่หลากหลายของตลาด เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการต่างกัน บางรายต้องการเยื่อไปเป็นส่วนผสมในสินค้าบางชนิด หรือบางรายต้องการนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และบางรายอาจต้องการนำไปแปรรูปเป็นอาหาร/เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันว่าการปลูกฟักข้าวทำให้ชาวบ้านมีความสุข จากรายได้ที่เกิดขึ้น จึงได้ลงพื้นที่ไปพบกับคุณสวิง เติมสุข เจ้าของสวนฟักข้าว

คุณสวิง บอกว่า ปลูกฟักข้าวมาได้สัก 3 ปี ใช้พื้นที่ปลูก 1 ไร่ มีอาชีพหลัก คือ ปลูกข้าว ส่วนฟักข้าวที่ปลูกเป็นรายได้เสริม แต่ที่ผ่านมามีรายได้ดีมาก ปีละเกือบแสนบาท จนคิดว่าน่าจะเป็นรายได้หลักไปแล้ว

คุณสวิงเล่าให้ฟังว่าจำนวนผลฟักข้าวที่เก็บส่งเข้ากลุ่มใน  1 สัปดาห์ มี 3 ครั้ง ได้จำนวนกว่า 100 กิโลกรัม ฟักข้าวมีผลผลิตตลอด เก็บได้ทุกวัน นอกจากนั้น ยังระบุว่า ฟักข้าว เป็นพืชที่ปลูกไม่ยาก เพราะที่ผ่านมาปุ๋ยไม่เคยใช้เลย ปลูกแบบธรรมชาติ เพียงแค่ใช้น้ำหมัก และปุ๋ยคอกเดือนละครั้ง จะใส่กระป๋องผสมน้ำราดที่ต้น

แล้วบอกต่ออีกว่า การปลูกฟักข้าวใช้ต้นทุนน้อย อีกทั้งยังเพาะเมล็ดต้นพันธุ์เอง เสาค้างที่ปลูกเดิมใช้ไม้ยูคาลิปตัส แต่ไม่ทน ต่อมาเมื่อสะสมรายได้จำนวนหนึ่งจึงเปลี่ยนมาเป็นเสาปูนแทน เพราะต้องการให้ทนทาน แข็งแรง สามารถใช้ได้นาน

ท่านที่สนใจแล้วมีบริเวณพื้นที่ในบ้านไม่มาก อาจปลูกไว้สัก 1-2 ต้น เพื่อเก็บผลผลิตมาไว้รับประทานกันในครอบครัว เพราะสามารถรับประทานได้ทั้งยอดและใบ นับเป็นพืชสมุนไพรชั้นยอด หรืออาจปลูกในกระถางเป็นร่มเงาได้ ดัดแปลงเป็นโรงจอดรถที่ปกคลุมด้วยต้นฟักข้าวได้ หรืออาจปลูกเป็นซุ้มเพื่อนั่งพักผ่อน พอมีผลฟักข้าวเกิดขึ้นก็ช่วยกันเก็บ ถือเป็นความสุขทางใจได้อีกด้ว

สนใจผลิตภัณฑ์ ฟักข้าว ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปฟักข้าวบ้านตาเดาะ ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. (091) 862-8262, (087) 481-2527, (090) 836-8657