ม.เกษตร โชว์นวัตกรรมระบบประเมินคุณภาพรังนก อย่างรวดเร็วเพื่อประมูลออนไลน์

ปัจจุบันประเทศไทยมีผลผลิตรังนกไม่ต่ำกว่า 200 ตันต่อปี จากการเก็บรังนกจากธรรมชาติและธุรกิจรังนกเลี้ยง หรือคอนโดนก คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป มูลค่าตลาดรังนกไทยไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดรังนกสำคัญ เพราะคนจีนเชื่อในสรรพคุณรังนกว่าสามารถทำให้ร่างกายแข็งแรงได้

เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เกิดเหตุการณ์สินค้ารังนกด้อยคุณภาพเล็ดลอดเข้าไปยังประเทศจีน รัฐบาลจีนจึงออกนโยบายตรวจสอบคุณภาพรังนกอย่างเข้มงวด ส่งผลกระทบไปหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ต้องคัดกรองมาตรฐานสินค้ารังนกนางแอ่นให้สูงขึ้น โดยกำหนดกฎเกณฑ์ในการวัดคุณภาพ 10 ข้อเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบสุขลักษณะและโภชนาการเพื่อประเมินมูลค่าและป้องกันปัญหาการทุจริตสินค้า  เช่น

รังนกนางแอ่น

การตรวจสอบประเภทรังนก พ่อค้ารับซื้อรังนกถ้ำในราคาสูงกว่ารังนกที่มาจากคอนโดนกหลายเท่าตัว เพราะมีปริมาณที่น้อยกว่าและมีวิธีการเก็บเกี่ยวที่ซับซ้อนยากกว่ารังนกที่มาอาคาร

การกำหนดมาตรฐานของสีรังนก โดยรังนกสีเหลืองทอง มีราคาแพงที่สุด เกรดรองลงมาคือ รังนกสีแดง และรังนกสีขาว ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป รังนกสีขาวมีราคาแพงกว่ารังนกสีเหลือง สาเหตุที่รังนกสีเหลือง (ซีด) มีราคาถูกที่สุด เพราะรังนกได้รับความชื้นสูง เมื่อนำไปปรุงจะมีรสชาติที่ผิดปกติ ไม่อร่อย สำหรับรังนกที่มีสีเหลืองและแดง มีสาเหตุจากอาหารที่นกกินและแร่ธาตุจากผนังของถ้ำ ไม่ใช่เลือดของนกตามที่เข้าใจผิดโดยทั่วไป เป็นรังนกที่ไม่สามารถพบได้ในการเลี้ยงแบบอาคาร

สีเกรดรังนก

สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในรังนก ในรังนกต้องมีค่าโปรตีนร้อยละ 60 ถึงร้อยละ 66 มีกรดเซียลิกร้อยละ 10 ถึง ร้อยละ 12 หากสองค่าดังกล่าวมีตัวเลขที่ผิดเพี้ยนไปจากปกติ สามารถสันนิษฐานได้ว่ารังนกนางแอ่นมีสิ่งแปลกปลอมปนอยู่

ขนาดและรูปทรงของรังนก โดยรังนกแบบ “รังเปล” และ “รังกะเทย” ที่มีราคามากที่สุด รังนกสองแบบนี้ พ่อค้านิยมซื้อไปทำความสะอาดแล้วใส่บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม เพื่อขายเป็นของฝากหรือใช้เป็นวัตถุดิบในร้านอาหารที่มีราคาแพง ส่วนรังนกแบบ “รังมุม” และ “รังแตก” มีรูปทรงไม่สวย นิยมนำไปปรุงอาหารและรับประทานเองภายในครอบครัว

ระบบประเมินคุณภาพรังนก
อย่างรวดเร็ว

การวัดค่าความชื้นในรังนกนางแอ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการทุจริตน้ำหนักที่แท้จริงของรังนกนางแอ่นและเพื่อวัดคุณภาพของรังนก รังนกที่มีค่าความชื้นที่สูงหากเก็บไว้ระยะหนึ่งจะเริ่มส่งกลิ่นที่ผิดปกติออกมา โดยทั่วไป นิยมใช้หลักการคำนวณปริมาณน้ำที่อยู่ในเนื้อรังนก ควรมีค่าความชื้นร้อยละ 10 หมายถึงรังนก 1,000 กรัม (1 กิโลกรัม) มีปริมาณน้ำ 100 กรัม (1 ขีด) รังนกที่แห้งสนิท (ใช้มือสัมผัสแล้วว่า รังนกแห้งจริงๆ) นำไปวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือแล้วพบว่า รังนกยังมีค่าความชื้นเหลืออยู่ร้อยละ 7-8 หมายความว่า รังนกแห้งสนิท 1,000 กรัม (1 กิโลกรัม) มีปริมาณน้ำ 70-80 กรัม

ม.เกษตรพัฒนานวัตกรรม

แก้ข้อจำกัดการซื้อขายรังนก

รศ.ดร.รณฤทธิ์ ฤทธิรณ ภาควิชาวิศวกรรมการอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พบว่า ปัจจุบัน การซื้อ-ขายประมูลรังนกในพื้นที่ต่างๆ มีอุปสรรคสำคัญคือ การประเมินความชื้นรังนก ผู้ซื้อใช้สายตาในการประเมิน เฉดสีขาว และสิ่งปนเปื้อน จากนั้นตัดสินใจราคาที่ต้องการประมูล การสัมผัสรังนกโดยตรง ทำให้รังนกแตกเสียหาย นอกจากนี้ การจัดการประมูลยังมีค่าใช้จ่ายด้านสถานที่ กำลังคน และผู้ซื้อต้องเดินทางมาด้วยตนเอง เสียเวลา ค่าใช้จ่าย ถือเป็นต้นทุนธุรกิจ

รศ.ดร.รณฤทธิ์จึงได้พัฒนานวัตกรรมระบบประเมินคุณภาพรังนกอย่างรวดเร็วเพื่อประมูลออนไลน์ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก โดยนำเทคโนโลยี Near Infrared (NIR) วิเคราะห์ค่าความชื้น และเทคโนโลยีการประมวลผลภาพถ่าย วิเคราะห์ระดับการปนเปื้อนและเฉดสีขาว ข้อมูลคุณภาพทั้งหมด ถูกผสานเข้ากับระบบการซื้อขายประมูลแบบออนไลน์ ทำให้ผู้ซื้อทราบถึงคุณภาพของรังนกอย่างแท้จริง ตัดปัญหาเรื่องการประเมินแบบอัตวิสัย เกิดระบบการซื้อขายโดยไร้ข้อจำกัด

ด้านผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรังนก ไม่ว่าจะเป็น วิสาหกิจชุมชน บริษัทรับซื้อรังนก และจัดการประมูล สามารถนำนวัตกรรมนี้ไปใช้วิเคราะห์คุณภาพที่แท้จริงของรังนก สร้างระบบการซื้อขายที่เป็นธรรม สำหรับการประมูลออนไลน์จะทำให้เกิดการซื้อขายโดยไร้ข้อจำกัด ทั้งเวลา สถานที่ และยังให้อิสรภาพในการตัดสินใจการซื้อขายได้มากกว่าระบบอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ซื้อจากต่างประเทศ การแสดงราคาแบบเรียลไทม์ จะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคามากขึ้น เกษตรกรได้ผลตอบแทนมากขึ้น สร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันของผู้ซื้อรายเล็กและรายใหญ่ ลดความเสี่ยงของผู้ซื้อรายใหม่ที่ยังไม่เชี่ยวชาญ ยกระดับสินค้าเกษตรโดยใช้เทคโนโลยี ให้มีการซื้อขายด้วยวิธีการมาตรฐานและทันสมัย หากใครสนใจนวัตกรรมนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ รศ.ดร.รณฤทธิ์ ฤทธิรณ ภาควิชาวิศวกรรมการอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน E-mail : [email protected] โทรศัพท์ 08-5917-1017  (ในวันและเวลาราชการ )

อ้างอิงข้อมูล  : บทความวิจัยเรื่อง สามทศวรรษ ธุรกิจรังนกไทยในภาคใต้กับชาวจีน  โดย นายธันวา สมานพิกุลวงศ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 2561