“ศรีสะเกษ เดินหน้าเกษตรอินทรีย์สู่ครัวโลก” ตั้งเป้าพัฒนาเกษตรกร 30,000 ราย

สํานักงานพาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับ สภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจาก พระราชดําริ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง จับมือจัดสัมมนา การพัฒนาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ “ศรีสะเกษ เดินหน้าเกษตรอินทรีย์สู่ครัวโลก” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจพึ่งพาตนเอง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 (เพิ่มเติม) ผลักดันให้เป็นเมืองแห่งเกษตรอินทรีย์ โดยระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรอินทรีย์เป็นไปตาม เป้าหมายของรัฐบาล (เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 60) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ อําเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ นางจันทิรา ยิ้มเรวัติ วิวัฒน์รัตน์ ร่วมเปิดงานสัมมนา เรื่องการพัฒนาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ “ศรีษะเกษ เดินหน้าเกษตรอินทรีย์สู่ครัวโลก” โดยมีนายเมธี สุพรรณฝ่าย รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการ และแขกผู้มีเกียรติให้การต้อนรับ นางชุติมา กล่าวว่า ภาคการเกษตร มีความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นสาขาการผลิตที่สร้างอาชีพให้กับประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ และมีบทบาทสำคัญยิ่งเกี่ยวกับความมั่งคงในด้านอาาหาร พลังงานทดแทน เป็นวัตถุดิบภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารในลำดับต้นๆของโลกตลอดมา โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย ประเทศคู่ค้ามีกำลังซื้อลดลง การส่งออกมีการแข่งขันมากขึ้นและมีเหตุการณ์ภัยพิบัตรทางธรรมชาติเกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งมีผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออกสินค้ากษตรของไทยเป็นอย่างมาก ดั้งนั้นผู้เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร ทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และเกษตรกร จะต้องมีการปรับตัว ปรับกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายที่จะยกระดับสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น จึงจัดให้มีมาตรการในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร การแปรรูป การพัฒนาศักยภาพ การตรวจสอบและการรับรองมาตรฐานสินค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและนอกประเทศ สร้างความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อบ้านและภูมิภาคอื่นๆ เพื่อขยายตลาดให้มากขึ้น โดยภายในปี 2546 จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 600,000 ไร่ และเพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ทำการเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 30,000 ราย เนื่องจังหวัดเป็น 1 ใน 3 จังหวัดที่รัฐบาลได้กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องในการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์บบูรณาการ และการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ก็เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์วิถีศรีสะเกษ ตลอดจนการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และแนวทางในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ เพื่อนำมาใช้ประกอบการวางแผนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดให้เหมาะสมต่อไป”

ด้านนายเมธี สุพรรณฝ่าย รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้เกษตรอินทรีย์เป็นวาระ แห่งชาติ จังหวัดจึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมแลพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 3,298,116 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 25,708 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สําคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา ทุเรียน หอมแดง กระเทียม และผลไม้ ทุเรียน เงาะ สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วม จำนวน 700 ราย ประกอบด้วยเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ศรีสะเกษ องค์กรสภาเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูป นักวิชาการเกษตร นักศึกษา ผู้ประกอบการภาคเอกชน เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยรูปแบบของงานสัมมนาประกอบไปด้วยการบรรยายพิเศษและการเสวนา การถ่ายทอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญา เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางด้านเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนการระดมความคิดเห็น เพื่อวางแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดศรีสะเกษ