แปรรูปไผ่เป็น “ใยไผ่ขัดผิว” สร้างเงิน สร้างอาชีพ

ไผ่ เป็นไม้พุ่มที่มีหลากหลายชนิดและหลายสกุล อยู่ในวงศ์หญ้า มีลักษณะแตกกอเป็นไม้พุ่มเล็กถึงขนาดใหญ่ ลำต้นมีความสูงประมาณ 5-15 เมตร เป็นข้อปล้องผิวเกลี้ยงแข็งมีสีเขียวหรือเหลืองแถบเขียว สีของลำต้นมีความแตกต่างกัน แล้วแต่ชนิดและสายพันธุ์

ใบ เป็นใบเลี้ยงเดี่ยว กว้างประมาณ 1-2 นิ้ว ยาว 5-12 นิ้ว ดอกออกเป็นช่อตามปลายยอด เมื่อใดก็แล้วแต่ที่ไผ่ออกดอก ไผ่ก็จะตายในเวลาต่อมา แต่ทั้งนี้การออกดอกของไผ่นั้นถือว่านานและยากมาก

ไผ่ เป็นไม้ที่ขึ้นง่ายและเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพอากาศ และสามารถปลูกได้กับดินทุกชนิด จึงไม่เป็นเรื่องที่ต้องกังวลสำหรับผู้ที่ต้องการปลูก

ไผ่เป็นไม้ที่อยู่กับชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ตั้งแต่ หน่อ ลำต้น ใบ ราก เยื่อไผ่ และขุยไผ่

Pai 1

คุณปรีชา เวชประสิทธิ์ อยู่บ้านเลขที่ 51 หมู่ที่ 9 ตำบลปากกราน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มนำไผ่มาใช้สำหรับทำเป็นใยขัดผิว โดยทดลองแบบลองผิดลองถูกจนประสบผลสำเร็จ ทำให้เกิดนวัตกรรมทำเงินสร้างรายได้ให้กับเขาได้เป็นอย่างดี

จากนักวาดรูป ก้าวสู่นักคิด

สร้างผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทย

คุณปรีชา เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกเดิมทีมีอาชีพเป็นจิตรกรเขียนภาพเหมือน และรับใส่ภาพลงอัดกรอบรูปอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อทำไปจนถึงปี 2540 เกิดพิษเศรษฐกิจ จึงตัดสินใจกลับมามองหาอาชีพใหม่ที่บ้านเกิด

“เกิดฟองสบู่แตกสมัยนั้น ผมก็เลยตัดสินใจกลับบ้าน ก็สร้างโรงเห็ดเพื่อเพาะเห็ด ซึ่งโรงเรือนที่เราทำก็จะเน้นเป็นไม้ไผ่ส่วนใหญ่ ก็เลยได้ความคิดว่า ไม้ไผ่ น่าจะนำมาทำอะไรได้มากกว่านี้ ซึ่งผมก็ได้ความคิดจากการที่ภรรยาผมเขาชอบขัดผิว เพราะว่าผิวหนังเขาจะแตกแห้ง เขาก็จะต้องหาใยบวบมาขัด ผมก็เลยลองเอามีดขูดลำไผ่ให้มันเป็นเส้นบางๆ ลองทำให้ภรรยาใช้ดู สรุปสิ่งนี้ มันขัดผิวได้ดีกว่าใยบวบ หรือใยสังเคราะห์อื่นๆ ผมก็เลยคิดค้นลองทำอย่างจริงจังต่อมา” คุณปรีชา เล่าถึงความเป็นมา

Pai 7

คุณปรีชา บอกว่า เมื่อสิ่งที่คิดได้โดยบังเอิญกลับเป็นสิ่งที่สามารถใช้งานได้จริง นอกจากจะทำให้ภรรยาใช้แล้ว ยังทดลองให้เพื่อนบ้านลองใช้อีกด้วย เมื่อทุกคนบอกว่าใช้แล้วดี ประมาณ ปี 2548 เขาจึงได้เริ่มมีการผลิตเพื่อจำหน่ายอย่างจริงจัง

“ในช่วงนั้นผมก็ทดลองเอาไม้ไผ่หลายอย่างมาทำ แต่ที่ทำแล้วผลผลิตออกมาดี จะเป็นไผ่ที่อยู่ตามภาคอีสาน คือ ไผ่เลี้ยงหรือไผ่น้อย เพราะว่ามีความเหนียว ซึ่งไผ่ชนิดนี้เขาจะนิยมเอามาทำนั่งร้านในงานก่อสร้าง ลำต้นมันตรง ไม่ค่อยมีหนาม ผมก็เลยให้คนที่มีมาส่งขายให้ผมถึงที่เลย” คุณปรีชา เล่าถึงชนิดของไผ่ที่เหมาะกับการนำมาผลิต

ขั้นตอนการผลิตใยไผ่ขัดผิว     

คุณปรีชา บอกว่า กว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์ใยไผ่ขัดผิวที่น่าใช้เหมือนเช่นปัจจุบันนี้ ได้มีการลองผิดลองถูกหลายอย่าง ซึ่งความสำเร็จนั้นก็อยู่ไม่ไกลกว่าความพยามที่เขาจะเอื้อมถึง ซึ่งมีการผลิตแบบที่เขาทดลองมาเองทั้งหมด ดังนี้

ในขั้นแรก นำไม้ไผ่มาตัดกิ่งที่อยู่บริเวณข้อออกให้หมด จากนั้นนำไม้ไผ่ไปแช่น้ำ ประมาณ 3-7 วัน เพราะต้องการให้ไม้ไผ่อิ่มน้ำมีความอ่อนตัว เพื่อเวลาที่นำมาขูดจะให้ใยไผ่ที่มีลักษณะเส้นยาวบางๆ

pai 3

“การขูดนี่ สมัยก่อนผมทำเอง พอมียอดการสั่งซื้อมากขึ้น ก็ต้องมีการฝึกคนงานที่เราจ้างมา สิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องการขูดคือ องศาของมีด ถ้าองศามีดไม่ถูกต้อง มันจะทำให้ใยที่ขูดออกมาขาดไม่เป็นเส้นยาว หรือมันก็จะเป็นเสี้ยน แบบนั้นไม่ดีไม่เหมาะที่จะนำมาขัดผิว” คุณปรีชา อธิบาย

เมื่อได้เส้นใยไผ่จากการขูดด้วยเครื่อง โดยให้เหลือจาก 1 ใน 3 ของเปลือก จากนั้นนำใยที่ได้มาแช่น้ำต่ออีกครั้ง ซึ่งน้ำที่แช่จะมีการผสมจุลินทรีย์ที่คุณปรีชาคิดค้นมาด้วยตนเอง ซึ่งคุณสมบัติของจุลินทรีย์ตัวนี้จะช่วยให้ใยไผ่ไม่เกิดเชื้อรา สามารถเก็บไว้ใช้ได้นานหลายเดือนเลยทีเดียว

“พอเราขูดใยไผ่ที่มีความหนาตามที่กำหนด ผมก็จะเอาไปแช่น้ำผสมกับจุนลินทรีย์ ประมาณ 3 วัน เสร็จแล้วก็จะนำใยทั้งหมดเข้าเครื่องนวด เพื่อให้มีความอ่อนนุ่มมากขึ้น ใยเกาะกันเป็นก้อน ใช้เวลาในการนวด ประมาณ 2-3 ชั่วโมง พอครบกำหนดก็จะเอาออกมาตากแดด 2 วัน ก็จะเตรียมนำไปทำให้มีลักษณะพร้อมจำหน่ายต่อไป” คุณปรีชา กล่าว

ในการทำเป็นก้อนใยไผ่ขัดผิว คุณปรีชา บอกว่า ช่วงแรกๆ ทำเป็นแบบทรงกลมแบน แต่เมื่อใช้ขัดตัวไปหลายๆ ครั้ง จะเกิดปัญหาคือใยขัดจะเสียรูปทรง ต่อมาจึงมีการคิดค้นทำให้มีรูปร่างลักษณะที่สวยงามขึ้น เหมาะสมกับการใช้งานและยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอีกด้วย

การไม่หยุดคิดพัฒนา

ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่สนใจ

ของตลาดมากขึ้น

คุณปรีชา บอกว่า การทำสินค้าสำหรับจำหน่ายนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องมีอยู่ตลอดเวลาสำหรับการทำธุรกิจคือ การสังเกต การคิดวิเคราะห์ และการทดลองด้วยตนเอง

Pai 6

“การพัฒนาผลิตภัณฑ์นี่ เราต้องหมั่นสังเกตเองด้วย เพราะเราก็ต้องฟังจากคนที่เขาใช้สินค้าเรา ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ต่อมาเราก็ต้องมีการคิดค้นพัฒนามาเรื่อยๆ จนตอนนี้เราก็เอามาเย็บติดกับผ้า มันก็เลยเป็นใยขัดผิวที่น่าใช้มากขึ้น เป็นที่สนใจ เพราะเราพัฒนาทั้งเครื่องจักรการผลิต รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย” คุณปรีชา กล่าว

ใยไผ่ขัดผิวที่ยังไม่ได้มีการพัฒนา เป็นแบบทรงกลมแบนเล็กๆ ที่จำหน่ายอยู่ในช่วงแรกของคุณปรีชา ราคาอยู่ที่ 35 บาท ต่อชิ้น ต่อมาเมื่อพัฒนาสินค้าให้มีรูปแบบน่าใช้มากขึ้น มีทั้งขนาดไซซ์ปานกลาง และขนาดไซซ์ใหญ่ อยู่ที่ราคาชิ้นละ 250-350 บาท

นอกจากนี้ ทางคุณปรีชายังได้มีการทำสบู่ไว้ใช้สำหรับอาบน้ำขึ้นมาอีกด้วย แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นของสบู่คือ มีการผสมใยไผ่ขัดผิวลงไป เพื่อเวลาที่อาบน้ำสามารถถูสบู่และขัดผิวไปได้ในตัว นับว่าเป็นการต่อยอดธุรกิจ ให้สามารถใช้ได้ง่ายขึ้นแบบไม่ยุ่งยาก

ตั้งแต่ทำธุรกิจนี้เป็นอาชีพ

เรื่องการตลาดถือเป็นอุปสรรคที่สุด

คุณปรีชา บอกว่า เมื่อกระบวนการผลิตมีความทันสมัยมากขึ้น ดังนั้น กำลังการผลิตก็ต้องมีมากตามไปด้วย การตั้งราคาและรูปแบบผลิตภัณฑ์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม สามารถเข้าถึงได้กับทุกคน

Pai 8

“ผมพยายามคิดไม่อยากให้สินค้าของผมมีราคาที่แพงมากจนเกินไป สามารถเข้าหาทุกคนได้ เป็นสินค้ามหาชนจริงๆ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ผมก็เลยมีการคิดเรื่องแบรนด์ขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนสามารถจำตัวผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น ก็เลยตั้งชื่อแบรนด์ว่า ใยไผ่ เพราะการตลาดถือว่าสำคัญมาก” คุณปรีชา กล่าวถึงวิธีการจัดการเรื่องตลาด

ทั้งนี้ คุณปรีชาฝากถึงสำหรับหลายๆ ท่าน ที่กำลังเริ่มทำธุรกิจหรือมีสินค้าอะไรก็แล้วแต่ ที่เกิดจากความรู้ความสามารถจากการคิดค้นด้วยตนเอง จนเป็นการทำเงินสร้างรายได้ อย่าที่จะหยุดคิด ให้พยามยามคิดค้นสิ่งใหม่ๆ พัฒนาตนเองอยู่เสมอ เรียนรู้รับข่าวสารบ่อยๆ เปิดโลกทรรศน์ให้กว้างไกล ก็จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ติดตลาดและก้าวไปข้างหน้าได้อยู่เสมอ

สำหรับท่านใดที่สนใจ ใยไผ่ขัดผิวที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของคนไทยแท้ๆ ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณปรีชา เวชประสิทธิ์ หมายเลขโทรศัพท์ (086) 794-9940, (085) 373-4265