แปรรูปไผ่ซางนวล เป็นไม้เสียบปลาหวาน สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว

“ไผ่” เป็นพืชที่มีการแพร่กระจายพันธุ์อยู่ทั่วทั้งประเทศ มีหลายชนิดพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์เจริญเติบโตได้ดีในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ด้วยคุณสมบัติจากลำต้นและเนื้อไม้แข็ง มีความยืดหยุ่น มีน้ำหนักเบา สามารถดัดโค้งงอได้ไม่ยาก จึงมักนำลำไผ่มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ที่แตกต่างกัน

ภายหลังจากเจ้าหน้าที่หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 11 สำนักงานพัฒนาภาค 1 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นพค.11 สนภ1 นทพ.) จัดโครงการส่งเสริมอาชีพงานฝีมือในครัวเรือนให้แก่ชาวบ้านทุ่งมะเซอย่อ ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อราว 10 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้ชาวบ้านเกิดอาชีพแปรรูปไผ่เป็นไม้เสียบปลาหวาน

BB 6ตัดปลายให้แหลมเท่ากันด้วยกรรไกร

คุณอัจราพร ทูลฉลอง อยู่บ้านเลขที่ 340 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี หนึ่งในชาวบ้านที่ทำอาชีพนี้เล่าว่า ได้นำไผ่ในป่า พันธุ์ซางนวล มาใช้ทำ เพราะมีความเหนียว แข็งแรง ซึ่งจะต้องเป็นไผ่ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 2 ปี แล้วได้รับอนุญาตจากทางราชการก่อน จึงสามารถตัดมาใช้งานได้

คุณอัจราพร ชี้ว่าการแปรรูปไผ่เป็นไม้เสียบปลาหวานทำให้ชาวบ้านทุ่งมะเซอย่อเกิดอาชีพที่เห็นชัดอยู่ 2 ลักษณะคือมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งรับงานเพื่อเข้าไปตัดไผ่ในป่าแล้วมาตัดแบ่งเป็นท่อน ความยาว 11.50 นิ้ว โดยแต่ละท่อนต้องผ่าออกเป็นชิ้น จำนวน 3-4 ชิ้น นำใส่กระสอบปุ๋ยให้เต็ม แล้วนำมาส่งให้ชาวบ้านอีกกลุ่มที่รับงานแปรรูปตามบ้าน ในราคากระสอบละ 150 บาท

BB 4 ลำไผ่ต้องผ่า 4 ชิ้นก่อนนำมาเจียน

เหตุผลที่ต้องกำหนดตัดลำไผ่ให้มีความยาว ขนาด 11.50 นิ้ว นั้น คุณอัจราพร อธิบายว่า เพราะความจริงแล้วทางร้านที่สั่งทำต้องการให้มีความยาว ขนาด 12 นิ้ว แต่ในทางปฏิบัติพบว่าไปติดที่ข้อปล้อง ซึ่งมีลักษณะผิวไม่เรียบอันเป็นอุปสรรคต่อการทำ ดังนั้น จึงลดลงมาเพื่อให้เกิดความเหมาะสมได้ลักษณะไม้ที่ตรง สวยงาม

BB 1ไม้ที่ผ่าซี่เป็นเส้นแล้วนำมาตากแดด

หลังจากได้ไม้ไผ่แล้ว จึงเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการแปรรูป โดยเริ่มด้วยการนำซีกไม้ไผ่ที่ถูกผ่าออกมาเจียน (ภาษาที่ชาวบ้านเรียกกัน) หรือซอยหรือผ่าให้เป็นซี่เป็นเส้นขนาดเล็ก ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ทักษะความชำนาญ ทั้งนี้หากใครมีความสามารถสูง ผ่านการทำมายาวนาน อาจซอยหรือเจียนได้ จำนวน 40,000-50,000 เส้น ต่อวัน ครั้นเมื่อซอยให้เป็นชิ้นเล็กแล้ว จึงนำมาตัดปลายให้แหลมเท่ากันด้วยกรรไกร จากนั้นให้นำไปตากแดด ถ้าแดดแรงใช้เวลาเพียงครึ่งวัน

พอไม้แห้งแล้วยังนำไปใช้งานไม่ได้ เนื่องจากพบว่ามีเสี้ยนไผ่ติดอยู่ จึงจำเป็นต้องขจัดออกไปด้วยการนำไปสู่กระบวนการขั้นตอนสุดท้ายคือ การนำไปเข้าเครื่องปั่นเพื่อเหลาหรือขัดให้เสี้ยนไผ่หลุดออก ทำให้เส้นไผ่มีความเรียบ

BB 6ตัดปลายให้แหลมเท่ากันด้วยกรรไกร

“อาชีพการแปรรูปไม้เสียบปลาหวานของชาวบ้านได้ทำกันเป็นกลุ่มแทบทุกหลังคาเรือน จำนวนเกือบร้อยครอบครัว บางรายทำเป็นอาชีพหลัก บางรายเป็นรายได้เสริม โดยสมาชิกในครอบครัวทุกคนตั้งแต่เด็กไปจนผู้สูงอายุ สามารถช่วยกันได้ เนื่องจากกรรมวิธีการทำไม่ยุ่งยาก”

ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนเมื่อซอยและตากไม้จนแห้งแล้ว จะรวบรวมนำมาที่บ้าน คุณบุญนำ เกิดโภคา กรรมการกลุ่ม บ้านเลขที่ 64 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งเครื่องปั่น จำนวน 2 เครื่อง โดยคิวการใช้เครื่องปั่นมาจากการตกลงกันระหว่างสมาชิก ซึ่งแต่ละรายจะต้องเสียค่าไฟ ในอัตรา จำนวน 2,000 เส้น ต่อ 1 บาท

คุณอัจราพร ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ใน 1 เครื่อง มีช่องปั่นไม้ 2 อัน บน/ล่าง แล้วต้องนำไม้ที่ซอยเป็นชิ้นมาใส่ในถุงที่ทำด้วยยาง เปรียบเป็นถุงปั่นเสียก่อน ทั้งนี้ ถุงปั่นจะบรรจุเส้นไม้ได้ จำนวน 5,000 เส้น ฉะนั้น ในแต่ละครั้งที่ปั่นจึงมีจำนวนไม้ไผ่ซี่ถึง 10,000 เส้น ส่วนระยะเวลาปั่นให้ดูว่าถ้าฝุ่นหมดแสดงว่าเสร็จเรียบร้อย

เมื่อปั่นเสร็จต้องนำไปเคาะอีกครั้ง เพื่อให้ฝุ่นที่ยังเกาะติดไม้หลุดร่วงออกไป แล้วจึงนำไปใส่ในช่องเพื่อมัด ซึ่งมีจำนวนมัดละ 1,000 เส้น ก่อนนำไปขาย ในราคา มัดละ 11 บาท

คุณบุญนำ บอกว่า การนำไผ่ที่มีในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นไม้เสียบปลาหวานนับเป็นอาชีพที่เหมาะสมกับคนในชุมชนเป็นอย่างยิ่ง บางครอบครัวยึดเป็นอาชีพหลักทั้งตัดไม้แล้วแปรรูปเอง บางรายรับเฉพาะตัดไม้ บางรายเน้นแปรรูปอย่างเดียว แต่ถึงอย่างไรก็เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ จำนวนมากให้แก่ชาวบ้านทุ่งมะเซอย่อ อันเกิดมาจากคุณประโยชน์ของต้นไผ่

สนใจสอบถามรายละเอียดการสั่งทำไม้เสียบปลาหวาน ได้ที่ คุณบุญนำ เกิดโภคา โทรศัพท์ (098) 315-9023