มทร.สุวรรณภูมิ พัฒนาบริการวิชาการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน การเลี้ยงและแปรรูปน้ำนมแพะ

กลุ่มชุมชนเกษตรกรที่นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในพื้นที่ตำบลปากกราน อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอเสนา และอำเภอวังน้อย ส่วนใหญ่มีอาชีพเลี้ยงแพะนม เกษตรกรได้มีการรวมตัวกันตั้งชื่อกลุ่มการเลี้ยงและแปรรูปน้ำนมแพะว่า “กลุ่มสหกรณ์ปศุสัตว์พระนครศรีอยุธยา จำกัด” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมปศุสัตว์ 

โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในการก่อสร้างโรงแปรรูปน้ำนม ซึ่งมีวัตถุดิบจากการผลิตน้ำนมแพะเฉลี่ยประมาณ 300 กิโลกรัม ต่อวัน เดิมเกษตรกรจะใช้กรรมวิธีการแปรรูปแบบดั้งเดิม โดยการต้มในครัวเรือนแล้วนำมาบรรจุถุงจำหน่ายกันเองในชุมชน ซึ่งมักจะประสบปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะ นมที่แปรรูปได้จำหน่ายไม่หมด ส่งผลกระทบต่อการผลิตและรายได้ของเกษตรกร เป็นอย่างมาก

การสร้างและพัฒนาการบริการวิชาการเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน สังคม ประเทศ และนานาชาติ เป็นอีกหนึ่งพันธกิจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สุวรรณภูมิ ที่จะสร้างสรรค์ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกิจกรรม เพื่อส่งเสริมและพัฒนาชุมชน สังคม ให้เข้มแข็งมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

จากปัญหาดังกล่าว ผศ.ทศพร นามโฮง อาจารย์จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สุวรรณภูมิ และทีมงาน จึงได้นำเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร ไปบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ในการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้น

ผศ.ทศพร กล่าวว่า สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร มีการเรียนการสอนทางด้านการแปรรูปอาหาร การควบคุมคุณภาพอาหาร และความปลอดภัยอาหาร รวมทั้งมีห้องปฏิบัติการในการวิเคราะห์คุณภาพอาหารทั้งทางเคมีและจุลินทรีย์ที่สามารถให้บริการด้านวิชาการแก่ชุมชนหรือกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อมได้ จึงเสนอ โครงการหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยใช้ชื่อโครงการ หมู่บ้านแปรรูปน้ำนมแพะ เพื่อของบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมนำทีมงานลงพื้นที่ พัฒนาการเลี้ยงแพะอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และพัฒนาโรงแปรรูปน้ำนมแพะให้ได้เกณฑ์ GMP รวมทั้งจัดฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการแปรรูปน้ำนมแพะ ให้กลุ่มเกษตรกร สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย จนได้ผลิตภัณฑ์น้ำนมแพะพาสเจอไรซ์ที่มี อย. รับรอง มีฉลากที่ถูกต้อง มีกระบวนการผลิตที่ถูกตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข เกษตรกรสามารถจำหน่ายในวงกว้างมากขึ้น เป็นการขยายตลาดและเพิ่มรายได้ได้อย่างยั่งยืน

ล่าสุดหมู่บ้านแปรรูปน้ำนมแพะ ตำบลปากกราน  อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหมู่บ้านต้นแบบระดับแม่ข่ายที่นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตและมีการขยายผลไปสู่หมู่บ้านใกล้เคียง โดยรับรางวัลโล่เชิดชูเกียรติพร้อมเกียรติบัตร “เป็นหมู่บ้านต้นแบบระดับแม่ข่าย”

ด้าน คุณสมาน ขันธชัย ที่ปรึกษาสหกรณ์และผู้ประสานงาน กล่าวว่า การเลี้ยงแพะนม เป็นอีกอาชีพของเกษตรกรที่นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้มีการรวมตัวกันตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงแพะนมและผลิตน้ำนมแพะขึ้น โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า กลุ่มสหกรณ์ปศุสัตว์พระนครศรีอยุธยา จำกัด มีสมาชิกกลุ่มประมาณ 50 ครัวเรือน เดิมได้ผลผลิตน้ำนมแพะโดยเฉลี่ย 300 กิโลกรัม ต่อวัน และมีกรรมวิธีในการแปรรูปน้ำนมแพะ โดยการใช้วิธีต้มน้ำนมในครัวเรือนแล้วบรรจุถุงจำหน่ายกันเองในชุมชน ซึ่งก็ประสบปัญหาในเรื่องความสะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่ได้มาตรฐานการผลิต ทำให้น้ำนมแพะแปรรูป ขายไม่หมด ต่อมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากปศุสัตว์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในการสร้างโรงนมพาสเจอไรซ์ให้ แต่อุปกรณ์และการผลิตต่างๆ ยังไม่ได้เกณฑ์ GMP ตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข ไม่สามารถผลิตและจำหน่ายในท้องตลาดได้ ประกอบกับสมาชิกกลุ่มยังขาดความรู้ความเข้าใจในการดำเนินการเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์นมแพะพาสเจอไรซ์ที่มีมาตรฐานและมีความปลอดภัย

Advertisement

ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สุวรรณภูมิ โดย ผศ.ทศพร และทีมอาจารย์อีกหลายท่าน มาพัฒนาดำเนินการปรับปรุงโรงนมและปรับปรุงการผลิตน้ำนมแพะ ให้ได้มาตรฐาน GMP ตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข พร้อมขึ้นทะเบียนอาหาร สามารถจำหน่ายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สุวรรณภูมิ ได้นำความรู้มาถ่ายทอดมาฝึกอบรม และพัฒนาจนได้มาตรฐาน GMP มีเลขทะเบียนอาหาร สามารถจำหน่ายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์แปรรูปน้ำนมแพะ ติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ (081) 296-7628

 

Advertisement