ราชบุรีวันนี้ มี ตลาดวิถีธรรมชาติ

วันอังคารที่ 15  สิงหาคม 2560 เป็นวันแรกสถาปนาของ “ตลาดวิถีธรรมชาติ” โดยภาคีเครือข่ายในพื้นที่ราชบุรี ภายใต้ชื่อ “กลุ่มเกษตรกรตามรอยพ่อ” บนพื้นที่ว่าง ยาวประมาณ 100 เมตร ริมรั้วทิศเหนือ ด้านนอกสนามกีฬากลางราชบุรี (ซอยร้านอาหารต้อย) อำเภอเมืองราชบุรีครับ

ในเต๊นท์เล็กนับสิบหลังที่ตั้งเรียงรายริมทางเท้า เป็นที่ตั้งจำหน่ายสินค้าทั้งวัตถุดิบและแปรรูปของชุมชนที่ทำเกษตรอินทรีย์ เริ่มตั้งแต่เวลา 06.00-12.00 น. โดยมีแม่งานหลักที่สำคัญ คือกลุ่มหมูหลุมอินทรีย์ บ้านดอนแร่ อำเภอเมืองราชบุรี ของ คุณสุพจน์ สิงห์โตศรี เครือข่ายอื่นๆ ก็เช่น ไร่ภูเพชร บ้านดอนตะโก, วิสาหกิจชุมชน บ้านไร่มะม่วง ตำบลคูบัว, สวนเกษตรสีเขียว ตำบลบ้านไร่ อำเภอดำเนินสะดวก, กลุ่มรักชุมชนเพาะเลี้ยงเห็ด บ้านบางป่า อำเภอเมือง, กลุ่มเกษตรอินทรีย์ร่มเย็นราชบุรี อำเภอโพธาราม, วิสาหกิจชุมชน บ้านเขาแร้ง ที่มาขายผลไม้สด ผักปลอดสารพิษ ข้าวสาร พริกแกง ขนม และอาหารสำรับโบราณ อย่าง ขนมตาล หมี่กรอบ กล้วยตาก แหนมเห็ด และเห็ดหยองปรุงรส

เนื่องจากเป็น “ครั้งแรก” ทั้งจำนวนผู้ขาย ผู้ซื้อ และสินค้าจึงยังไม่มากมายนัก ได้แต่หวังว่า ครั้งต่อๆ ไป ซึ่งจะย้ายวันมาติดตลาดในทุกวันศุกร์ ช่วงเวลาเดิม จะมีคนสนใจมาเที่ยวชมมากขึ้น เพราะเป็นที่รวมของเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าโดยตรงจริงๆ อีกทั้งที่จอดรถก็มีพอให้ใช้จอดได้ค่อนข้างสะดวก

ราชบุรีนั้นเป็นจังหวัดที่มี “ตลาด” หลายแห่ง หลายลักษณะ ตั้งแต่ตลาดศูนย์รวมสินค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศ อย่างตลาดศรีเมือง ตลาดท่องเที่ยวแบบโบราณที่คึกคักอย่างตลาดน้ำดำเนินสะดวก หรือแบบเงียบๆ บรรยากาศเก่าๆ เช่น ตลาดเจ็ดเสมียน ตลอดจนตลาดห้องแถวโบราณที่ตัวอำเภอโพธาราม แต่ตลาด “อินทรีย์” แบบองค์รวมที่เกิดขึ้นแล้วในหลายๆ แห่ง อย่าง ตลาดสุขใจ สวนสามพราน นครปฐม ก็ยังไม่มีให้เห็นชัดเจน การเกิดขึ้นของ “ตลาดวิถีธรรมชาติ” ครั้งนี้ จึงน่าจะตอบสนองความต้องการสินค้าอินทรีย์ของผู้บริโภคชาวเมืองราชบุรีได้ดี

เพราะจริงๆ แล้ว รอบๆ พื้นที่จังหวัดราชบุรี มีกลุ่มเกษตรกรที่ทำงานเกษตรอินทรีย์ไม่น้อย อย่างเช่น ไร่ปลูกรัก หรือสวนมะพร้าวออร์แกนิกหลายแห่งในแถบบ้านบางป่า เขตอำเภอเมือง

ผมนั้นชอบทำกับข้าวกินเอง ดังนั้นเมื่อพบวัตถุดิบหรือเครื่องปรุงถูกใจ ก็มักจะซื้อเก็บไว้ ครั้งนี้ ผมซื้อได้เห็ดเป๋าฮื้อดอกสวยมากๆ ถุงละ 30 บาทเท่านั้น และยังมีพริกแกงเผ็ด พริกแกงส้ม กระปุกละแค่ 15 บาท ดมดูแล้วกลิ่นหอมฉุนดีมากๆ พริกแกงเผ็ดก็ตำได้ถึงตะไคร้ผิวมะกรูดจริงๆ ถ้าเอามาผสมกันอย่างละครึ่ง ต้องแกงเทโพได้อร่อยมากแน่ๆ เลยล่ะครับ

และผมต้องเอ่ยปฏิเสธ เมื่อถูกคนขายถามว่า จะให้ใส่ถุงพลาสติกหิ้วให้ด้วยหรือไม่ (ผมหิ้วตะกร้าไปเอง) ครั้นแล้วจึงสังเกตว่า ยังมีการใช้ถุงพลาสติกหิ้วหลายๆ ขนาดกันเป็นปกติทั่วไป ซึ่งก็เลยทำให้ถังขยะของที่นี่ยังไม่มีความแตกต่างจากตลาดเกิดใหม่แห่งอื่นๆ

แน่นอนครับ ว่าการจัดการขยะที่ย่อยสลายยาก เป็นโจทก์สำคัญของตลาดอินทรีย์ที่เล็งเห็นปัญหาองค์รวมในเรื่องนี้อยู่มากทีเดียว

“คงต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปน่ะ สำหรับที่นี่”  มิตรสหายท่านหนึ่งของผมที่พบเจอกันโดยบังเอิญเล่าให้ฟัง “เวลาจะทำตลาดทุกแห่ง มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ แล้วก็บริหารจัดการเรื่องเฉพาะหน้าร่วมกันจริงๆ นะ อย่างถ้าจะทำตลาดอินทรีย์ เราก็ต้องพยายามให้ความรู้แลกเปลี่ยนกันกับผู้ค้ารายใหม่ๆ ด้วย เช่นที่นี่ ก็อาจต้องแยกส่วนที่ขายผักไฮโดรโปนิกส์ไปเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากเลย หรือที่สำคัญมากๆ ก็คือ ต้องหาเอกลักษณ์ของตัวให้เจอ” เขาหมายถึงว่า อย่างกรณีรสชาติ ควรมีการแนะนำให้ลดความเค็ม ความหวาน เพื่อให้ส่งผลดีต่อสุขภาพ ลดการทอดน้ำมัน หรือการเติมสารกันบูดที่เป็นอันตราย

ตลอดจนการรู้จักดัดแปลงวัตถุดิบอินทรีย์ที่หาได้ในพื้นที่ ปรับใช้เป็นสำรับใหม่ๆ ที่มีเอกลักษณ์ให้ได้ เช่น ลองหันมาใช้แป้งข้าวอินทรีย์แทนแป้งถุงสำเร็จรูปจากโรงงาน เพื่อให้เกิดนวัตกรรมอาหารปลอดภัยแบบใหม่ๆ ขึ้นมา

“อย่างเช่นบางที่ เราจะเห็นว่า เขามีวัตถุดิบอินทรีย์ดีๆ แต่ตอนปรุง เขายังระดมใส่ผงชูรส ผงปรุงรสมากๆ อยู่เลย มันก็ต้องพูดคุยกับเขา หรือคณะผู้จัดการตลาด ให้เห็นว่าทำไมเราถึงควรลดวัตถุปรุงแต่งรสพวกนี้ มันมีอันตรายยังไงบ้าง ถ้าตัดใจไม่ใช้ เราอาจขายสินค้าได้ดีมากๆ ในลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งเลยแหละ แล้วพอมันหาทางออกแบบนี้ มันจะไปต่อได้อีกมาก เช่น ก็จะมีการเชื่อมโยงแหล่งวัตถุดิบดีๆ เช่น น้ำตาลมะพร้าวออร์แกนิก ซึ่งแถบบางป่าเขาปลูกมากอยู่แล้ว หรือทางผู้จัดการตลาดเอง ก็อาจจะต้องหาช่องทางเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้สมาชิก เช่น มีการจัดอบรมที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องทำนองนี้บ่อยๆ ก็จะช่วยได้มาก”

มองในแง่นี้ ผมคิดว่า การติดตลาดอินทรีย์แต่ละแห่งขึ้นมา สิ่งที่ได้มากกว่าการระบายขายสินค้า อาจคือการเปิด “พื้นที่ทดลองจริง” ในอันที่จะปรับใช้ชีวิตวัฒนธรรมในแบบแผนที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันระหว่างคน สิ่งของ พฤติกรรม และสภาพแวดล้อม เป็นการทดลองใช้สิทธิ์ใช้เสียง การยอมรับผู้อื่น และการเปิดใจต่อวัฒนธรรมใหม่ๆ อันไม่คุ้นเคย แต่ก็อาจเป็นทางออกให้แก่ปัญหาที่หมักหมมบ่มเพาะต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน

อย่างเช่นกรณีของการกำจัดขยะ ก็มีตัวอย่างที่ป่าไผ่สร้างสุข อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ให้เห็นเป็นแบบอย่างชัดเจนถึงความเป็นไปได้จริงๆ

ทั้งหมดนี้ เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งของผู้บริหารจัดการตลาด พ่อค้าแม่ขาย และผู้ซื้อ เราคงได้แต่เอาใจช่วย เมื่อได้ยินข่าวตลาดอินทรีย์ที่นั่นที่นี่เปิดตัวขึ้น และพลอยยินดี เมื่อเห็นความสำเร็จค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจนเป็นรูปธรรมจับต้องได้

“ตลาดวิถีธรรมชาติ” นับเป็นน้องใหม่มากๆ นะครับ ซึ่งคงใช้เวลาอีกระยะหนึ่งที่จะยืนขึ้น และมีชีวิตของตัวเอง ท่ามกลางแหล่งวัตถุดิบอินทรีย์ที่มีหลากหลายรอบๆ เขตตัวเมืองราชบุรี

พ่อค้าแม่ค้า หรือเกษตรกรอินทรีย์ในพื้นที่ใกล้เคียงรายใดสนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อสอบถามได้โดยตรงที่ โครงการตลาดวิถีธรรมชาติ โทร. (086) 766-0006 เลยนะครับ