สกว.ร่วมงานตลาดนัดเปิดโลกผลงานวิจัยและนวัตกรรม ขนผลงานออกโชว์เพียบ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมโชว์ผลงานวิจัยกินได้ ขายได้ และงานวิจัยที่มีศักยภาพพร้อมต่อยอดพาณิชย์ ในงาน “ตลาดนัดเปิดโลกผลงานวิจัยและนวัตกรรม” ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “วิจัยขายได้” ระหว่างวันที่ 23-24 กันยายน 2560 ณ อาคารไปรษณีย์กลางบางรักและศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ บางรัก ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการร่วมของสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวนช.) ร่วมกับพันธมิตรและหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ โดยมี พล.อ.อ. ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน

งานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยในระดับที่มีความพร้อมใช้ โดยเป็นผลผลิตที่คัดกรอง วิเคราะห์ข้อมูลจากคลังข้อมูลงานวิจัยไทยที่เชื่อมโยงข้อมูลจากฐานข้อมูลการวิจัยของหน่วยงานทั่วประเทศ จำนวน 172 หน่วยงาน เพื่อขยายไปสู่การใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ เชิงชุมชนและสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศ รวมถึงผลักดันให้เกิดกลไกและกิจกรรมที่สร้างความเชื่อมโยงในรูปแบบต่าง ๆ ระหว่างนักวิจัย เจ้าของผลงานวิจัย และผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งเน้นความต้องการของผู้ใช้เป็นสำคัญ นอกจากนี้นิทรรศการผลงานวิจัยกว่า 1,000 ผลงานใน 7 กลุ่มวิจัยตามกรอบยุทธศาสตร์การวิจัย แห่งชาติ 20 ปี ได้แก่ งานวิจัยเพื่อความมั่นคง งานวิจัยเพื่อการเกษตร งานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม งานวิจัยเพื่อสังคม งานวิจัยเพื่อการแพทย์และสาธารณสุข งานวิจัยเพื่อพลังงาน และงานวิจัยเพื่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัย การให้คำปรึกษาจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และกรมทรัพย์สินทางปัญหา รวมถึงการบริการบันทึกภาพเพื่อจัดทำคอลเลคชั่นแสตมป์ส่วนตัวชุดพิเศษจากบริษัทไปรษณีย์ไทยอีกด้วย

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นกำลังใจที่จะได้แสดงออกแก่นักวิจัยและหน่วยงานวิจัยที่มาร่วมจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้เกิดความอบอุ่นใจ ขณะที่งานวิจัยที่มีศักยภาพแต่ยังขายไม่ได้ก็จะช่วยสร้างการรับรู้และเกิดการใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องมาช่วยกันคิดว่าจะต่อยอดอย่างไร รวมถึงการเสนอแนะแนวทางในการคลี่คลายปัญหาอุปสรรคที่เป็นคอขวดหรือมีขั้นตอนยุ่งยาก อีกทั้งเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนเข้าสู่ระบบวิจัยเพื่อสร้างสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี หรือช่วยเหลือชุมชน ให้เห็นว่างานวิจัยขายได้และช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-สังคมได้จริง ทั้งนี้อยากให้ลงไปถึงชุมชนฐานรากเพื่อสร้างผลงานและความภาคภูมิใจ ตามยุทธศาสตร์การวิจัยที่มุ่งขับเคลื่อนนวัตกรรม เทคโนโยลี เพื่อผลิตสินค้าและบริการให้บรรลุประเทศไทย 4.0 และอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นจริงตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ สร้างความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน

สำหรับผลงานวิจัยของ สกว. ที่นำมาร่วมจัดแสดงและจำหน่ายในงานครั้งนี้มีทั้งสิ้น 21 ผลงาน เช่น ถุงยืดมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกทางเรือ สตรอว์เบอร์รีลูกผสมที่มีศักยภาพในการผลิตสารแอนโทไซยานิน และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากถั่งเช่าสีทอง โดย ผศ. ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท มหาวิทยาลัยนเรศวร ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพปไทด์สกัดจากเห็ดลมที่มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูง ต้านอนุมูลอิสระและกระตุ้นภูมิคุ้มกัน  โดย ผศ. ดร.รักฤดี สารธิมา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ผลิตภัณฑ์แคปซูลเสริมสุขภาพลดคอเลสเตอรอลจากชานอ้อย โดย ดร.อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชานอ้อยซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการหีบน้ำอ้อยมาเป็นวัสดุเพาะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ มีศักยภาพในการนำมาใช้เป็นวัสดุเพาะเลี้ยงเชื้อราเพื่อผลิตสาร Lovastatin ที่มีคุณสมบัติในการลดระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด โดยนักวิจัยได้ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการผลิตสารดังกล่าวในวัสดุเพาะเลี้ยงชานอ้อยและศึกษาปัจจัยที่สามารถเพิ่มอัตราการผลิตสาร Lovastatin ให้สูงขึ้น ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพต้นแบบโดยใช้สารนี้เป็นวัตถุดิบ เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากชานอ้อยในเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน และสร้างโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพอย่างสะดวกและปลอดภัย ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อยาลดคอเลสเตอรอลจากต่างประเทศ

ขณะที่นวัตกรรมเพื่อชุมชนที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้แก่ ขนมขาไก่จากข้าวเหนียวดำหมอ โดย น.ส.เบ็ญจวรรณ บัวขวัญ ซึ่งนำข้าวพันธุ์พื้นเมืองของพัทลุงมาพัฒนาเป็นขนมอายุวัฒนะที่ช่วยบำรุงร่างกาย ชะลอการเสื่อมของเซลล์ตับ ลดกรดในกระเพาะอาหาร บำรุงสมองและความจำ นอกจากนี้ยังมีเบตาแคโรทีนต้านอนุมูลอิสระและใยอาหารต่าง ๆ โดยมีสารให้ความหวานจากอ้อยช้างซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นในชุมชน “สบู่น้ำผึ้งอุง” โดย น.ส.จารุวรรณ ชูสงค์ มองเห็นประโยชน์ของผึ้งอุงหรือชันโรงซึ่งเป็นผึ้งขนาดเล็กสายพันธุ์หนึ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น อุดมด้วยคุณค่าทางอาหารที่มีประโยชน์มากมาย จึงได้นำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรชุมชน เป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้จากองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมี “หมี่กรอบสมุนไพรซอสลูกหยี” ซึ่งลูกหยีเป็นทรัพยากรท้องถิ่นที่มีมากในพื้นที่ชุมชนบ้านบางหล่อที่สร้างรายได้แก่เกษตรกรเป็นจำนวนเงินไม่น้อยในแต่ละปี แต่การแปรรูปยังมีค่อนข้างน้อยส่วนใหญ่จะขายส่งพ่อค้าคนกลางหรือเจ้าของกิจการแปรรูปผลิตภัณฑ์ น.ส.จรวยพร นุ่มน้อย จึงได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หมี่กรอบซอสลูกหยีเพื่อแก้ปัญหาผลผลิตราคาต่ำและสร้างรายได้เสริมแก่ครอบครัว