ผู้เขียน | ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา |
---|---|
เผยแพร่ |
ถึงตอนนี้คงไม่ต้องบอกแล้วว่าชื่อเสียงความโด่งดังของผ้าไหมไทยเลื่องลือไปไกลแค่ไหนแล้ว เพราะความประณีตสวยสดงดงามอันมาจากคุณภาพเนื้อผ้าที่ผสมผสานกับลวดลายอันวิจิตรบรรจง อันเป็นเอกลักษณ์ที่ชาติอื่นยากที่จะเลียนแบบ จึงเป็นเสน่ห์ให้ผ้าไหมไทยเป็นที่หลงใหลของชาวต่างประเทศหลายชาติ
“ชัยภูมิ” เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความโดดเด่นด้านผ้าไหม โดยเฉพาะผ้าไหมลายหมี่คั่นขอนารี เป็นลายผ้ามัดหมี่เอกลักษณ์ของจังหวัดชัยภูมิ เกิดจากการนำหมี่คั่นลายโบราณ มารวมกับ ลายมัดหมี่ขอนารี นับเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ที่ต้องอนุรักษ์ไว้ให้เป็นสมบัติของชาวชัยภูมิ
คุณกิ่งดาว ประจำเมือง อยู่บ้านเลขที่ 25 หมู่ที่ 5 ตำบลสามสวน อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ ประธานกลุ่ม “ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม บ้านเหมือดแอ่” เล่าว่า การทอผ้าเป็นงานฝีมือดั้งเดิมของชาวบ้านที่ทอผ้าไว้ใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน ต้นหม่อนก็เป็นพืชที่เติบโตในหมู่บ้านมาช้านานแล้วเช่นกัน จึงเกรงว่าภูมิปัญญานี้กำลังจะหายไป ดังนั้น คนหนุ่ม-สาว จึงช่วยกันอนุรักษ์ไว้ พร้อมไปกับเชิญผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความสามารถมาถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องกระบวนการทอผ้าพื้นเมืองให้แก่ผู้สนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มไปพร้อมกับไปอบรมตามที่หน่วยงานราชการจัด เพื่อก่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาในเรื่องของพันธุ์ไหมเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตไหมอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ภายหลังที่ผ่านการอบรม ฝึกฝน เรียนรู้ เพิ่มทักษะแล้วจึงเกิดการพัฒนาฝีมือพร้อมกับเพิ่มพูนความชำนาญการทอด้วยลวดลายที่มีมากขึ้น ที่ถูกคิดค้นมาจากความชอบของผู้ทอผ้าเอง อันมาจากประสบการณ์พอจะรู้ว่าควรจะวางลวดลายแบบใดให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดความสวยงาม โดยแต่ละลายได้รับความนิยม ไม่ว่าจะเป็นลายนกยูงหรือแม้แต่ลายขอนารีที่เป็นลายประจำจังหวัดชัยภูมิ รวมไปถึงลายอื่นๆ ที่ลูกค้าต้องการ ขณะเดียวกัน อาจดูตัวอย่างตามนิตยสารทั่วไปเพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางหรือศึกษาเทรนด์ของยุคสมัยเท่านั้น
จุดเด่นของกลุ่มคือตัวไหมที่ชาวบ้านต่างเลี้ยงเอง แล้วเป็นใยไหมพื้นบ้านทางธรรมชาติ เมื่อนำมาทอด้วยมือ โดยไม่พึ่งอุปกรณ์ จึงทำให้งานทุกชิ้นมีความพิเศษ ละเอียด ประณีต มีลวดลายเสมอกัน มีความสวยงามมาก สร้างความสนใจต่อผู้พบเห็น
คุณกิ่งดาว บอกว่า โดยปกติระยะเวลาทอผ้าถ้าเป็นลายปกติทั่วไปที่ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อนจะใช้เวลาประมาณ 5 วัน ต่อผืน (ทอต่อเนื่อง) ถ้าเป็นผ้าขาวม้าใช้เวลาประมาณ 3 วัน ขณะที่ลายนกยูงที่ได้รับความนิยมมาก จะต้องใช้ระยะเวลาการทอนานเป็นเดือนเพราะมีความสลับซับซ้อนของลายและจำนวนสีที่มีมากถึง 4-5 สี
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับอาชีพนี้ คุณกิ่งดาว ชี้ว่า ในบางคราวราคาเส้นไหมลดลง ทำให้ราคาขายตก รายได้ของชาวบ้านได้รับผลกระทบด้วย นอกจากนั้น หน้าฝนยังเป็นปัญหาต่อการเลี้ยงไหม จึงทำให้วัตถุดิบมีไม่ต่อเนื่อง กระทบกับการผลิต
คุณฐาปกรณ์ ปานวิเศษ ที่ปรึกษากลุ่มและดูแลด้านการตลาด อาชีพการทอผ้ามีทั้งทำเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม การทอผ้าพื้นบ้านเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ที่สืบทอดกันมายาวนาน ซึ่งสมัยนั้นการทอผ้าของชาวบ้านเพื่อไว้ใช้ในงานพิธีสำคัญ หลังจากเสร็จทำนา ทำไร่ จนทุกวันนี้ได้ตกทอดมายังรุ่นหลาน เหลน
“สมัยก่อนใช้เส้นไหมที่เป็นธรรมชาติ เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่มีเส้นเล็กและใยน้อย ต่อมาภายหลังได้มีการพัฒนาให้เส้นไหมมีความสวยขึ้น ทนทานแข็งแรงมากขึ้น รู้จักปรับรูปแบบลวดลายให้มีมูลค่ามากขึ้น เพื่อให้ขายได้ราคาสูงขึ้น เป็นที่ต้องการของตลาด จนชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม”
ปัจจุบันประเภทสินค้าจากผ้าไหมของกลุ่ม ได้แก่ ผ้าผืน ผ้าขาวม้า ผ้าพันคอ ราคาจำหน่ายสูง-ต่ำอยู่ที่ความยาก-ง่ายของลายที่ทอ อย่างถ้าลายยากอย่างลายนกยูงมีราคาจำหน่ายผืนขนาดยาว 2 เมตร กว้าง 1.20 เมตร ราคาผืนละ 3,000 บาท ผ้าขาวม้ายาว 2 เมตร กว้าง 70 เซนติเมตร ขายผืนละ 1,000 บาท ผ้าพันคอขนาด 30 คูณ 50 เซนติเมตร ราคาขายผืนละ 800 บาท ทั้งนี้ ราคาขายเริ่มต้นที่ 1,500 บาท 2,000 บาท และ 3,000 บาท
“ตลาดที่ขายส่วนมากลูกค้าจะติดต่อเข้ามาเอง โดยการชักชวนหรือบอกต่อ นอกจากนั้น ยังขายสินค้าผ่านเฟซบุ๊กในชื่อ “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านเหมือดแอ่ อำเภอบ้านแท่น ชัยภูมิ” ด้วย ทั้งนี้ ลูกค้าส่วนมากเป็นพนักงานที่นิยมซื้อผ้าไหมไปเป็นของฝาก”
สำหรับผลิตภัณฑ์สินค้าผ้าไหมของกลุ่มถือว่าได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในตลาดต่างประเทศจะส่งเส้นไหมออกไปจำหน่ายเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ซึ่งขณะนี้ชาวชัยภูมิเลี้ยงไหมกันทุกอำเภอ จึงทำให้ในช่วงปลายปีซึ่งเป็นหน้าเทศกาลมักจะผลิตผ้าทอไม่ทัน เนื่องจากเป็นการทอมือจึงต้องใช้เวลา
ดังนั้น หากลูกค้าสนใจต้องสั่งล่วงหน้าหลายเดือน อย่างไรก็ตาม สินค้าของกลุ่มไม่มีวางขาย ไม่มีนำไปออกงาน เพราะผลิตขายในจังหวัดกับส่งนอกก็ไม่ทันแล้ว ฉะนั้น คุณไม่สามารถหาซื้อที่ไหนได้ ถ้าไม่ได้มาติดต่อซื้อที่กลุ่มเพียงแห่งเดียว
“จากคนกลุ่มเล็กๆ จนกระทั่งถึงวันนี้กลุ่มแม่บ้านของพวกเราก็ไม่เคยย่อท้อ แม้บางครั้งอาจจะเหนื่อยล้าบ้างแต่ก็มีความสุขกับสิ่งที่ตนเองได้ทำมา ถึงแม้ราคาเส้นไหมจะไม่ดีนัก แม่บ้านของพวกเราก็ยังสู้ถึงจะไม่ได้ขายแต่กลุ่มแม่บ้านของพวกเราก็นำเส้นไหมมาทอเป็นลายหมี่สวยๆ ไว้สวมใส่และเก็บไว้ขาย จนทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นภายหลังที่ผ้าไหมของชุมชนแห่งนี้ได้รับความสนใจ จนไม่มีใครในหมู่บ้านต้องการเดินทางไปหางานที่อื่นแม้กระทั่งในกรุงเทพฯ” คุณกิ่งดาว กล่าว
ท่านใดที่สนใจต้องการสั่งผ้าทอพื้นเมือง เข้าไปดูรายละเอียดได้ในเฟซบุ๊ก “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านเหมือดแอ่ อำเภอบ้านแท่น ชัยภูมิ” หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ (089) 578-3436, (092) 608-7610