เกษตรฯยกเครื่อง “พืชสมุนไพร” ป้อนตลาดในประเทศ-ส่งออก

เกษตรฯยกเครื่องมาตรฐานการผลิต “พืชสมุนไพร” สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันตลาดทั้งในและต่างประเทศ ชี้กระแสการใส่ใจสุขภาพ-ความงาม ดันแนวโน้มความต้องการตลาดขยายตัวพุ่ง

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า พืชสมุนไพรเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มสูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ทั้งในรูปวัตถุดิบสมุนไพร สารสกัด ยา อาหารและอาหารเสริม เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์สปา และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เป็นต้น

ซึ่งคาดการณ์ว่า มูลค่าการใช้สมุนไพรทั่วโลกจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มเป็น 115,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 โดยมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้น 8% ต่อปี เนื่องจากประชากรในหลายประเทศก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงขึ้น รวมทั้งกระแสการใส่ใจเรื่องสุขภาพและความงาม และผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งไทยก็ได้มีการผลิตสมุนไพรใช้เพื่อบริโภคภายในประเทศและเพื่อการส่งออก โดยมีมูลค่าการใช้ประโยชน์รวมปีละกว่า 1.24 แสนล้านบาท

ที่ผ่านมา ไทยยังไม่ได้จัดทำมาตรฐานการผลิตพืชสมุนไพรครอบคลุมตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว จนถึงการคัดบรรจุ ทำให้ผลผลิตสมุนไพรไทยยังไม่มีการรับรองมาตรฐานทั้งจีเอพี (GAP) และสมุนไพรอินทรีย์

มกอช. จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล และกระทรวงพาณิชย์ จัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพรขึ้น เพื่อเป็นแนวทางยกระดับมาตรฐานคุณภาพสมุนไพรไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าปัจจุบันและสอดรับกับมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า  พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าสมุนไพรไทยในตลาดโลก

ร่างมาตรฐานดังกล่าว มีเนื้อหาครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตพืชสมุนไพร เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบพืชสมุนไพร ทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตตั้งแต่แปลงปลูก จนถึงการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว การคัดบรรจุหรือรวบรวมผลผลิตเพื่อจำหน่าย เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย เหมาะสมกับการบริโภคและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร

“ มกอช. ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างมาตรฐานฯจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งปรับปรุงร่างมาตรฐานให้มีความเหมาะสม เป็นที่ยอมรับ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรพิจารณาให้การรับรองและประกาศใช้เป็นมาตรฐานของประเทศต่อไป” นางสาวเสริมสุข กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปี 2561-63 มกอช. ได้มีแผนเร่งจัดทำมาตรฐานสินค้าพืชสมุนไพร (วัตถุดิบสมุนไพร) เพิ่มเติม เช่น สมุนไพรประเภทหัว เหง้า ราก ประเภทใบ/ทั้งต้น ประเภทผล และประเภทเปลือกหรือเนื้อไม้ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับเพิ่มมากขึ้น และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกในระยะยาว

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพรกว่า 48,000 ไร่ เกษตรกรประมาณ 10,000 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย  ขณะเดียวกันยังมีการรวมกลุ่มผลิตสมุนไพรในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนกว่า 315 วิสาหกิจชุมชน ทั้งยังมีวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินการแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร 1,929 วิสาหกิจชุมชน และมีการผลิตสมุนไพรแปลงใหญ่ใน 6 จังหวัด รวม 8 แปลงด้วย

สำหรับพืชสมุนไพรที่เกษตรกรนิยมปลูกมาก อาทิ ว่านหางจระเข้ ขมิ้นชัน กฤษณา พริกไทย กระเจี๊ยบแดง มะแขว่น บัวบก กระวาน ไพล และกระชายดำ เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรจะปลูกเป็นพื้นที่เล็กๆ หรือปลูกเป็นพืชแซม พืชเสริมรายได้ยังไม่สอดคล้องกับตลาดที่มีแนวโน้มกำลังขยายตัว