เอสซีจี บุกส่งออก “ทุเรียน” ปั้นตลาดเกษตรพรีเมี่ยม

เอสซีจี เทรดดิ้ง ลุยตลาดสินค้าเกษตรพรีเมี่ยม ประเดิม “ทุเรียนนาโนแรปปิ้ง” ยั่วลูกค้าจีนในคิง เพาเวอร์-เอเชียทีค ขยายฐานตลาดนอกอาเซียน รุกจีน-อินเดีย ผนึกประชารัฐ D4 จับมือพันธมิตรต่อยอดอีคอมเมิร์ซ เปิดแผนสเต็ปแรกดิสทริบิวชั่นเซ็นเตอร์กระจายสินค้าเครือ เอสซีจี สู่ strategic city ก่อนขยับลงทุน

นายบรรณ เกษมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัด ในเอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปีที่ผ่านมา ยอดขายเอสซีจี เทรดดิ้ง มีมูลค่า 37,000 บาท ขยายตัว 13% จากปี 2559 โดยสัดส่วนกำไรประมาณ 1-2% ในปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่เอสซีจี เทรดดิ้ง ดำเนินการมาครบรอบ 40 ปี มีแผนจะขยายธุรกิจตามทิศทางนโยบายหลักของเครือเอสซีจี เพื่อก้าวสู่การเป็น “regional company” จากในอดีตที่เป็น “ASEAN company” สัดส่วน 75-80% และนอกอาเซียนมีเพียง 20-30% แต่จากนโยบายดังกล่าว บริษัทจะมุ่งเป้าขยายตลาดไปสู่จีนและอินเดีย

“ขณะนี้ได้มีการตั้งทีมงานเพื่อศึกษากลยุทธ์ในการทำตลาดจีน และอินเดียขึ้นมา โดยมี นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เป็นประธาน China Exploration Team เริ่มศึกษาเชิงลึก เพื่อเชื่อมโยงการค้ากับจีนผ่านนโยบาย One Belt One Road โดยวางกลยุทธ์ให้จีนเป็น sourcing center พร้อมทั้งขยายเส้นทางการค้าผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น บริษัทกำลังเจรจากับพันธมิตรด้านอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มหลายรายในจีน”

นายบรรณ กล่าวว่า สินค้าเป้าหมายที่จะผลักดันไปตลาดจีนปีนี้ จะมุ่งเน้นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย (Thainess) และผลไม้ จะนำร่องด้วยทุเรียน เพราะ เอสซีจี เทรดดิ้ง อยู่ในกลุ่มคณะทำงานสานพลังประชารัฐ D4 ด้วย ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนานวัตกรรมแพ็กเกจจิ้งทุเรียนสดแกะเปลือกตามระบบ nano raping ช่วยเก็บกลิ่นและยืดอายุการเก็บรักษาจาก 1 สัปดาห์ เป็น 2 สัปดาห์ ทำให้ขนย้ายไปจำหน่ายได้นานขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชาวสวน

ได้มีการประสานกับหอการค้าไทย จัดทำ Thai Food Chain คัดเลือกทุเรียนจากจังหวัดในภาคตะวันออกที่มีคุณภาพราคาระดับพรีเมี่ยม หลังจากทดลองวางจำหน่ายในงานแสดงสินค้าที่เมืองหนานหนิงเมื่อปีก่อน ควบคู่ไปกับการทดลองวางจำหน่ายในร้านค้าคิง เพาเวอร์ และเอเชียทีค ให้กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ปรากฏว่าทุเรียนพันธุ์หมอนทองได้รับความนิยมมากที่สุด คาดว่ากลางปีนี้จะเริ่มวางตลาด ต้องการผลักดันให้ได้ 10-20% ของปริมาณทุเรียนที่ส่งออกทั้งหมด

ตั้ง เอสซีจี เทรดดิ้ง อินเดีย

ในส่วนกลยุทธ์ในตลาดอินเดีย ขณะนี้เตรียมตั้งบริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง อินเดีย จำกัด และจัดตั้งโรงงาน จากเดิมที่มีเพียงสำนักงานตัวแทน (reprecentative office) โดยเอสซีจี เทรดดิ้งถือหุ้น 100% และมีการตั้ง director อยู่ภายใต้เอสซีจี เทรดดิ้ง อินเดีย บริษัทนี้มีนโยบายตั้งศูนย์กระจายสินค้า (distribution channel) ในเมืองสำคัญ เช่น เชนไน มุมไบ เดลี ไฮเดอราบาด เพื่อสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ

“ฝั่งนายกรัฐมนตรีโมดี ของอินเดีย มีนโยบายเศรษฐกิจช่วยส่งเสริมการค้า อาทิ การป้องกันคอร์รัปชั่น นโยบายเมกอินอินเดีย (Make in India) ส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ อีกทั้งอินเดียมีประชากรมาก มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก จึงเป็นตลาดที่น่าลงทุนในระยะยาว แต่สไตล์ของ เอสซีจี จะเข้าไปทำศูนย์กระจายสินค้าก่อน โดยมุ่งไปที่ strategic city”

“การขยายไปจีน-อินเดีย น่าจะส่งผลดีต่อยอดรวมปีนี้ มีโอกาสขยายตัวเกิน 10% เพราะตลาดแต่ละแห่งที่มุ่งไป มี จีดีพี โตปีละ 6-7% ถ้าต่อเนื่องใน 10 ปี ถือว่าโต 2 เท่าแล้ว”

ปัจจัยเสี่ยงค่าบาท-ต้นทุนวัตถุดิบ

นายบรรณ มองว่า ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับธุรกิจเทรดดิ้ง บริษัทได้วางแผนบริหารจัดการความเสี่ยง และดูแลปัจจัยอื่น เช่น คุณภาพสินค้า ราคาแข่งขันได้ ต้นทุน อัตราแลกเปลี่ยนต้องไม่ขาดทุน

นอกจากนี้ มีปัจจัยเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบ เพราะขณะนี้ราคาวัตถุดิบหลักที่นำเข้า คือ ถ่านหิน มีการปรับระดับขึ้นไปตามทิศทางราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 100 เหรียญสหรัฐ ต่อตัน หรือประมาณ 3,000 บาท แต่ละปีนำเข้าประมาณ 5 ล้านตัน จากอินโดนีเซีย สัดส่วน 80-90% เพื่อมาใช้ในโรงงาน เอสซีจี ปีละ 3 ล้านตัน และขายให้ลูกค้ากลุ่มยางรถยนต์ โรงไฟฟ้า โรงงานแปรรูปอาหาร โรงงานบะหมี่สำเร็จรูป 1-2 ล้านตัน ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการมากขึ้น ด้วยปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ทำให้บริษัทวางแผนกระจายการซื้อไปในประเทศอื่น เช่น ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ รัสเซีย และอเมริกา เอสซีจี เทรดดิ้ง เป็นหนึ่งในกลุ่มเอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ซึ่งเป็นธุรกิจ 1 ใน 3 กลุ่มรายได้หลักของเครือ เอสซีจี มีสัดส่วน 40% นอกเหนือจากกลุ่มเคมิคอล สัดส่วน 40% และกลุ่มกระดาษ 20% โดยหลัก เอสซีจี เทรดดิ้ง เป็นหัวหอกในการส่งออกและนำเข้าสินค้าในกลุ่ม เอสซีจี สัดส่วน 55% และสินค้านอกกลุ่ม เอสซีจี (non-SCG) สัดส่วน 45%