สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2561 สาขาวิสาหกิจชุมชน

วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด

 จัดตั้งเมื่อ          24 สิงหาคมคม 2555

สมาชิกแรกตั้ง   7 คน

สมาชิกปัจจุบัน 90 คน

ประธานกลุ่ม     นายศักดิ์ชัย เอี่ยมบุญญฤทธิ์

ที่ทำการกลุ่ม     บ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด

โทรศัพท์           061-660-0955

 

ผลงานดีเด่น

ความคิดริเริ่ม

วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด เกิดจากการรวมกลุ่มคนในชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวทำกิจกรรมเพื่อหารายได้เสริมจากอาชีพประมงชายฝั่งและแปรรูปสัตว์น้ำและช่วยกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตั้งแต่ ปี 2547 จึงเกิดการบริการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เนื่องจากสภาพพื้นที่ตำบลน้ำเชี่ยวมีความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต เช่น ปู ปลา หอย และนก นอกจากนั้น บ้านน้ำเชี่ยวยังมีเอกลักษณ์ของวิถีชุมชนของการอยู่ร่วมกันของชาวไทยพุทธและไทยมุสลิม มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย

ปี 2549 ได้ริเริ่มปรับปรุงบ้านพักอาศัยให้เป็นโฮมสเตย์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สมาชิกและชุมชนได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยวได้สนับสนุนให้คนในชุมชน ไม่ว่าอาชีพใด ร่วมบริการนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นการกระจายรายได้ในชุมชน รวมทั้งพัฒนาเยาวชนให้เป็นนักสื่อความหมาย (มัคคุเทศก์น้อย) เพื่อสร้างรายได้และปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติสืบต่อรุ่นสู่รุ่น และมีความยั่งยืน วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยวมีวิสัยทัศน์ “เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติชุมชน 2 ศาสนา และมีการจัดการบริหารการท่องเที่ยวโดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

ความสามารถในการบริหารจัดการสถาบัน

มีกฎระเบียบข้อตกลงในการดำเนินงานชัดเจน และมีโครงสร้างการบริหารและกำหนดบทบาทหน้าที่ โดยการบริหารงานแบบบูรณาการ ซึ่งแบ่งกิจกรรมเป็น 6 ฝ่ายกิจกรรม ดังนี้

  1. ฝ่ายกิจกรรมเรือเล็กนำเที่ยว
  2. ฝ่ายกิจกรรมมัคคุเทศก์
  3. ฝ่ายกิจกรรมบ้านพักโฮมสเตย์
  4. ฝ่ายกิจกรรมอาหารพื้นบ้าน
  5. ฝ่ายกิจกรรมของฝาก/ของที่ระลึก
  6. ฝ่ายสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น

– มีการประชุมอย่างน้อย เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้สมาชิกได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น ชี้แจงผลการดำเนินงานและแจ้งข่าวสาร

– มีการจัดสรรผลกำไรและสวัสดิการแก่สมาชิกและชุมชน เป็นเครื่องอุปโภคและบริโภค ตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม แต่ไม่มีปัญหาใดๆ

– มีการจัดทำบัญชีควบคุมอย่างเป็นระบบและโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดตราดไปช่วยสอนการจัดทำบัญชีสม่ำเสมอ

– มีแผนการดำเนินงาน กิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพชุมชน

– มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลทางเว็บไซต์ท่องเที่ยว

– มีการพัฒนาสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ด้วยการส่งเข้าร่วมประชุม อบรม สัมมนา ทุกครั้งที่มีโอกาส

– มีความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชนและสมาชิก

บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสถาบัน

  1. คณะกรรมการและสมาชิกมีการประชุมวางแผนการพัฒนากลยุทธ์ ร่วมกันมีการวิเคราะห์ศักยภาพของตนเองและชุมชน และจัดทำแผนพัฒนาวิสาหกิจชุมชนที่เป็นรูปธรรม
  2. ร่วมวางแผนและตัดสินใจ โดยสมาชิกคัดเลือกคณะกรรมการบริหาร 12 คน เพื่อวางแผนดำเนินการและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน
  3. สมาชิกมีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์ของวิสาหกิจชุมชน
  4. สมาชิกร่วมประชุมทุกเดือน มีการบันทึกรายงานการประชุมให้สมาชิกรับทราบชัดเจน
  5. สมาชิกมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎ ระเบียบ ของกลุ่ม และให้ความร่วมมือ ยึดถือปฏิบัติเป็นอย่างดี
  6. สมาชิกได้รับเงินปันผลทุกปี ในปีที่ผ่านมาสมาชิกมีรายได้ จำนวน 96,000 บาท/ครัวเรือน
  7. สมาชิกทุกคนที่มีรายได้จากกิจกรรมของวิสาหกิจชุมชน จะนำส่งเงินเข้ากลุ่ม ร้อยละ 10 ของรายได้ที่ได้รับ
  8. จากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ ฝ่ายกิจกรรมเรือเล็กนำเที่ยว มัคคุเทศก์ บ้านพักโฮมสเตย์ อาหารพื้นบ้าน และจำหน่ายของฝากของที่ระลึก

ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน

  1. การดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว ยึดมั่นในหลักการบริหารจัดการอย่างโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล และเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้การดำเนินกิจกรรมพัฒนา มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการจัดสรรผลกำไรชัดเจน ดังนี้

ทุนสำรองกลุ่ม ร้อยละ 10 ปันผลแก่สมาชิก ร้อยละ 20 ทุนในการพัฒนากิจการ ร้อยละ 20 ตอบแทนคณะกรรมการบริหารร้อยละ 10  เป็นทุนสาธารณประโยชน์และพัฒนาชุมชนร้อยละ 30  ทุนสวัสดิการสมาชิก

  1. ทุนพัฒนาบุคลากร ร้อยละ 5

2.1. มีเครือข่าย/องค์กรทั้งในชุมชนและนอกชุมชนที่ให้การสนับสนุนและพัฒนาต่อยอด และช่วยประชาสัมพันธ์

2.2. เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมและเรียนรู้งานเพื่อสืบทอดกิจการในอนาคต

2.3. ชุมชนมีความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่มีการลักขโมย ไม่ดื่มสุรา เนื่องจากเป็นชุมชนมุสลิมและยังแจ้งแก่นักท่องเที่ยวไม่ให้นำสุราเข้ามาดื่มในชุมชนด้วย

2.4 สมาชิกวิสาหกิจชุมชนและคนในชุมชนมีความรักสามัคคีและหวงแหนวัฒนธรรมดั้งเดิม มีความตั้งใจที่จะตั้งรกรากและอยู่ร่วมกันไปต่อเนื่อง เกิดความมั่นคงทางสังคมควบคู่ไปกับด้านเศรษฐกิจ

การทำกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว ได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ เช่น ททท. กรมการพัฒนาชุมชน อพท. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น จำนวน 18 รายการ นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมส่งเสริมคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวได้อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น เพิ่มมูลค่า และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การเย็บงอบจากใบจาก การทำอาหารพื้นเมืองเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม ดังนี้

  1. การดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนด้านพัฒนาและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ช่วยนำนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศกลับมาสู่ชุมชน เป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับสมาชิกและคนในชุมชนเพิ่มมากขึ้น
  2. สมาชิกวิสาหกิจชุมชนมีการแบ่งหน้าที่คอยตรวจ และปลูกต้นโกงกาง เพื่อรักษาทรัพยากรป่าชายเลนให้ยั่งยืน มีการนำแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มาร่วมในโปรแกรมการท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ เช่น นักท่องเที่ยวทุกคนต้องเข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่าโกงกาง เป็นต้น
  3. ร่วมกับชุมชนจัดกิจกรรมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในชุมชน เช่น ปั้นจุลินทรีย์บอล ทำอวนดักขยะที่เกิดจากการพัดพาจากทะเลมาสู่ปากแม่น้ำเข้ามาในเขตชุมชน ร่วมกันเก็บขยะทั้งในคลองและบนบก จนทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น
  4. ปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่เด็กและเยาวชนในชุมชนในการร่วมอนุรักษ์ป่าชายเลน ปู ปลา หอย และนกต่างๆ มีเพิ่มขึ้นทำให้มีความมั่นคงอาหารในชุมชน

5. จัดสวัสดิการชุมชน เช่น มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียน จัดซื้อข้าวสารมอบแก่คนยากจน เป็นต้น