กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมฯ สาวะถี ชูสินค้าเด่น “จมูกข้าวผสมงาดำ-กาแฟผสมหมามุ่ย”

เป็นที่ทราบกันดีว่าเวลานี้ผู้คนในบ้านเราหันมาเอาใจใส่เรื่องสุขภาพกันมากขึ้น ประกอบกับประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ดังนั้น สินค้าเพื่อสุขภาพจึงมีตลาดค่อนข้างกว้าง หากเทียบกับสมัยก่อน ด้วยเหตุนี้เองผู้ประกอบการน้อยใหญ่จึงหันมาผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพกันอย่างแพร่หลาย

หนึ่งในนั้นมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ที่มี คุณวิรัตน์ โพธิ์ศรีเรือง เป็นประธาน ซึ่งเมื่อปี 2556 ผลิตภัณฑ์ข้าวฮางงอกของกลุ่มได้รับคัดสรรเป็นสินค้าโอท็อป 4 ดาวของจังหวัดขอนแก่น โดยในกลุ่มดังกล่าวมีบรรดาแม่บ้านมาดูแลในเรื่องการแปรรูป ซึ่งมี คุณลุนนี โพธิ์ศรีเรือง เป็นผู้รับผิดชอบ

ชื่อแบรนด์ “อินทรีย์ภิรักษ์”

คุณลุนนี เล่าให้ฟังว่า กลุ่มเริ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวตั้งแต่ปี 2547 แต่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเมื่อปี 2553 ปัจจุบันมีสมาชิก 22 คน มีผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท ซึ่งเป็นอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อาทิ ข้าวกล้องนิล ข้าวกล้องหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวทับทิมชุมแพ ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวฮางงอก และยังได้นำข้าวฮางงอกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วย เช่น แป้งจมูกข้าว แป้งไอศกรีม จมูกข้าวผสมงาดำ กาแฟผสมหมามุ่ย หมามุ่ยอัดแคปซูล และชาใบเตย ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดใช้ชื่อแบรนด์ “อินทรีย์ภิรักษ์”

ใครที่เคยไปงานแสดงสินค้าโอท็อปที่เมืองทองธานี คงเคยเจอบู๊ธของกลุ่มแม่บ้านแปรรูปข้าวครบวงจรบ้านโนนรัง รวมถึงตามงานต่างๆ ของจังหวัดขอนแก่นและในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังขายผ่านออนไลน์ทางเฟซบุ๊กของกลุ่ม ส่วนใหญ่มักเป็นลูกค้าประจำ

สำหรับราคาสินค้าของกลุ่ม อาจจะมีราคาแพงสำหรับคนที่มีรายได้ไม่มากนัก แต่เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและส่วนใหญ่เป็นเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งบางอย่างต้องไปจ้างโรงงานที่ได้รับรองมาตรฐาน อย. เป็นผู้ผลิต จึงทำให้เป็นต้นทุนที่สูง

อย่างจมูกข้าวผสมงาดำน้ำหนัก 300 กรัม ขายกระปุกละ 200 บาท กาแฟผสมหมามุ่ย ผสมจมูกข้าว 300 กรัม ขาย 200 บาท หมามุ่ยอัดแคปซูล 90 แคปซูล 200 บาท และชาใบเตย ขายกล่องละ 200  บาท

คุณลุนนี ระบุว่า ลูกค้าของกลุ่มมีทั้งคนที่มีรายได้พอประมาณ และระดับบน บางส่วนเป็นคนที่มีปัญหาสุขภาพเป็นโรคต่างๆ อย่างเช่น เบาหวาน เมื่อกินแล้วทำให้อาการของโรคดีขึ้น ส่วนตลาดบนมักสั่งซื้อเป็นประจำ โดยเฉพาะพวกจมูกข้าว เพราะสินค้าหลายอย่างของกลุ่มมีจมูกข้าวผสมเข้าไปหมด

คุณลุนนี บอกว่า แต่ละเดือนสมาชิกมีรายได้นับหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับว่าเดือนนั้นๆ จะมีออเดอร์มากน้อยแค่ไหน ซึ่งผลิตภัณฑ์บางอย่างแม้จะใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น แต่ต้องไปจ้างโรงงานผลิตเพื่อให้ได้เครื่องหมาย อย. อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ผลิตเอง อย่างเช่น แป้งจมูกข้าวและแป้งไอศกรีม นับเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้เครื่องอบอินฟราเรด โดยเครื่องดังกล่าวราคา 5 แสนบาท แต่ทางกลุ่มได้รับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เธอแจกแจงวิธีการทำข้าวฮางงอกให้ฟังว่า การทำข้าวฮางงอกจะทำให้เก็บข้าวไว้ได้นาน โดยจะนำข้าวมาแช่น้ำ 2 คืน แล้วนำขึ้นมาใส่กระสอบหรือใส่ถังให้ข้าวงอก จากนั้นนำข้าวนี้ไปนึ่ง ต่อมานำเข้าเครื่องอบอินฟราเรด ใช้เวลา 5 นาทีออกมาข้าวจะเปลือกแห้ง แล้วนำมาผึ่งลมสักชั่วโมงก็กะเทาะเปลือกได้ ซึ่งข้าวที่ได้สารกาบาจะยังอยู่ในเม็ดข้าวทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม จากการที่ทางกลุ่มได้เครื่องแช่ข้าว ทำให้ลดเวลาการแช่จาก 2 วัน เหลือวันเดียว ข้าวก็งอกแล้ว จากเดิมปกติถ้าเป็นหน้าหนาวต้องแช่น้ำ 2 คืน ส่วนหน้าร้อนแช่น้ำ 1 คืน และต้องเปลี่ยนน้ำทุก 6 ชั่วโมง ข้าวถึงจะงอก แต่พอเปลี่ยนใช้เครื่องแช่ข้าว ใช้เวลาแช่แค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น พร้อมใช้ระบบน้ำหมุนเวียนไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ

สำหรับสินค้าที่ได้รับความนิยมคือ จมูกข้าวผสมงาดำ และกาแฟผสมหมามุ่ย ใช้ชื่อกาแฟแวดูนาร์ ซึ่งแปลงมาจากภาษาไทยให้ดูเก๋ไก๋มีความหมายทำนองให้แวะมาดูนะ

 

เล็งแปรรูปสมุนไพรพื้นบ้าน

คุณลุนนี กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากลุ่มเน้นปลูกแบบอินทรีย์และแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า อย่างหมามุ่ยพันธุ์อินเดีย คนในชุมชนก็ปลูกกันเอง เช่นเดียวกับข้าวสายพันธุ์ต่างๆ อย่างเช่น ข้าวพันธุ์ทับทิมชุมแพ พร้อมกันนี้ กำลังอยู่ระหว่างพัฒนา เพื่อนำสมุนไพรพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นมะกรูด ตะไคร้ หรือย่านาง นำมาบดละเอียดเป็นผงเพื่อใช้ชงดื่ม และยังนำไปทำเป็นอาหารและขนมได้ด้วย

“สมาชิกในกลุ่มปลูกหมามุ่ยพันธุ์อินเดีย แตกต่างจากหมามุ่ยของไทย โดยปลูกอินทรีย์ อย่างของดิฉันเองปลูก 2 ไร่ 1 ต้น ได้ผลผลิต 1-2 กิโลกรัม แล้วนำมากะเทาะเปลือกออกแล้วคั่วให้สุก จากนั้นบด หมามุ่ย 1 กิโลกรัม บดแล้วจะได้ประมาณ 7-8 ขีด ทางกลุ่มขายในรูปแบบแคปซูลและผสมในกาแฟด้วย กินแล้วมีสรรพคุณในการฟอกเลือด และขยายหลอดเลือด” คุณลุนนี กล่าวและว่า ลูกค้ามักให้จัดส่งทางไปรษณีย์ ใครที่คิดว่าหมามุ่ยเป็นยาโด๊ปในเรื่องเพศนั้นไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพียงแต่ไปฟอกเลือด ซึ่งถ้าเลือดดีอะไรๆ ในร่างกายก็ดีหมด

ในส่วนกาแฟหมามุ่ยของทางกลุ่มเป็นกาแฟเพื่อสุขภาพสูตรผสม โดยมีจมูกข้าว 3% หมามุ่ย 2% กาแฟ 1% ไม่มีน้ำตาล ถ้าใครชอบกาแฟเยอะก็ไปเติมกาแฟได้ หรือถ้าชอบหวานอาจเติมน้ำผึ้ง

เธอบอกอีกว่าหมามุ่ยพันธุ์อินเดียนี้สั่งซื้อพันธุ์มาจากประเทศอินเดียเพื่อให้ได้พันธุ์แท้ ราคากิโลกรัมละ 4,000 บาท จากนั้นนำมาขยายพันธุ์เอง โดยปลูกแบบยกร่อง ก่อนปลูกใส่ปุ๋ยรองพื้นพวกปุ๋ยหมัก สัก 1 สัปดาห์เมล็ดจะงอก จากนั้นแตกพุ่ม หมามุ่ยเป็นพืชที่ชอบน้ำ ต้องรดน้ำสม่ำเสมอ แต่ไม่ต้องให้น้ำเยอะ พอได้ 1 เดือน จะออกดอก ช่วงนี้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์บำรุง และต้องหาไม้มากปักเพื่อให้เลื้อย เหมือนกับการปลูกพืชประเภทถั่ว ซึ่งสมาชิกของกลุ่มจะปลูกหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ช่วงนั้นฝนจะลงมาพอดี จึงไม่ต้องรดน้ำมาก ที่สำคัญต้องยกร่อง เพราะหมามุ่ยไม่ชอบน้ำขังน้ำแช่

ถ้าต้นโตประมาณ 4 เดือนสามารถเก็บฝักได้ นำมาตากแดดให้แห้งแล้วกะเทาะ ถ้ามีเครื่องกะเทาะก็ใส่เข้าเครื่องได้เลย แต่กลุ่มแม่บ้านใช้วิธีนั่งกะเทาะเอง เพราะไม่มีเครื่องกะเทาะ

กับคำถามที่ว่าผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีคู่แข่งในท้องตลาดหรือไม่อย่างไร คุณลุนนีชี้แจงว่า คู่แข่งในท้องตลาดมีจำนวนมาก โดยเฉพาะจมูกข้าวผสมงาดำ แต่กลุ่มได้เปรียบตรงที่ใช้ข้าวพันธุ์พื้นเมือง โดยเฉพาะข้าวเหนียวดำพันธุ์พญาข้าว ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ทนทานโรค ทางกลุ่มส่งเสริมให้สมาชิกปลูกและรับซื้อ

 

ไอศกรีมข้าวฮางงอก

นอกจากนี้ ในส่วนแป้งไอศกรีมของกลุ่มนั้นก็ไม่เหมือนใครเพราะใช้จมูกข้าว กินแล้วมีประโยชน์ต่อร่างกาย ส่วนใหญ่ลูกค้ามักสั่งให้ทางกลุ่มทำไอศกรีมเพื่อใช้ในงานบุญ งานประชุมหรืองานโรงเรียน ใครที่ได้กินต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าหอมอร่อย และมักสั่งซ้ำเสมอ แต่จะไม่ได้ทำประจำ ต้องมีลูกค้าสั่งถึงจะทำให้

“ความลับที่ทำให้แป้งไอศกรีมของทางกลุ่มอร่อย เนื่องจากเราใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมือง ซึ่งล้วนเป็นข้าวพันธุ์ดี ไม่ใช่ข้าวตัดต่อพันธุกรรม และเป็นข้าวอินทรีย์ ข้าวที่ใช้มีทั้งข้าวหอมเสงี่ยม หอมกอเดียว คำผายก้นดำ สันป่าตอง อีหลงมา หอมทุ่ง พญาข้าวคือข้าวเหนียวดำ ข้าวเขี้ยวงู ข้าวพันธุ์พื้นเมืองเดิมๆ และแต่ละชนิดต้องเป็นข้าวฮางงอกด้วย ซึ่งข้าวญี่ปุ่นมีสารกาบาไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ แต่ข้าวของกลุ่มมีเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะข้าวลืมผัว”

คุณลุนนีให้รายละเอียดเกี่ยวกับไอศกรีมข้าวฮางงอกว่า เป็นไอศกรีมที่รสชาติแตกต่างจากเจ้าอื่นชัดเจน ซึ่งถ้าใครซื้อแป้งไอศกรีมของกลุ่มที่มีส่วนผสมของจมูกข้าวไปปั่นไอศกรีมขายเอง จะได้กำไรดี กรณีอยู่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ทางกลุ่มขายไอศกรีมเป็นถัง ถังละ 2,000 บาท น้ำหนัก 8 กิโลกรัม ตักได้ 250 ถ้วย ถ้าขายถ้วยละ 20 บาท จะได้กำไร 3,000 บาท โดยไอศกรีม 1 ถัง ใช้แป้งข้าว 3 ขีด ถ้าใช้แป้งข้าว 1 กิโลกรัม จะได้ไอศกรีม 3 ถัง

หมามุ่ยคั่ว

ทั้งนี้ หากลูกค้าสั่งไอศกรีมถังละ 2,000 บาท ทางกลุ่มจะแถมข้าวหุงให้ 1 หม้อ เพื่อใช้เป็นท็อปปิ้งจะเลือกข้าวสีแดงหรือข้าวสีดำก็ได้

สนใจอยากเข้าเยี่ยมชมกิจการ หรือสั่งซื้อผลิตภัณฑ์นานาชนิดของกลุ่ม ติดต่อสอบถามประธานกลุ่มได้ที่ (089) 712-9978 หรือเบอร์คุณวิรัตน์ (089) 677-3099

ต้องบอกว่าเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอีกแห่งที่มีโอกาสเติบโต และเชื่อว่าในอนาคตอาจได้ตั้งโรงงานแปรรูปตามแผนที่วางเป้าหมายไว้ เพราะนอกจากจะมีตลาดรองรับชัดเจนแล้ว กลุ่มยังได้พัฒนากระบวนการผลิต โดยใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งให้การสนับสนุน

ที่สำคัญสินค้าของวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลสาวะถี ตอบโจทย์วิถีชีวิตผู้คนในยุคนี้ที่ล้วนมุ่งรักษาสุขภาพเพื่อให้เป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีในวันข้างหน้า