ยอดทะลุ 1 ล้านล้านบาท 60 ปีทองส่งออกอาหารไทย

3 องค์กร “ส.อ.ท.-หอการค้าฯ-สถาบันอาหาร” ผนึกชี้ทิศทางส่งออกอาหารปี′60 คาดทะลุ 1 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี′59 คาดมูลค่าส่งออก 9.7 แสนล้านบาท เผยปัจจัยเสี่ยงปีหน้านโยบายทรัมป์ รวมถึงเสถียรภาพตลาดอียู ขึ้นกับผู้นำคนใหม่หลังเลือกตั้งหลายประเทศ

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ทางสถาบันอาหารได้ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้มีแนวคิดร่วมกันในการเสนอข้อมูลข่าวสารในภาคธุรกิจเกษตรและอาหารให้อยู่ในกรอบทิศทางเดียวกัน จึงได้ประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร โดยสถาบันอาหารทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center สำหรับภาพรวมการส่งออกอาหารคาดว่าสิ้นปี 2559 จะมีมูลค่าส่งออก 972,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 เนื่องจากวัตถุดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกุ้งเริ่มฟื้นตัวจากโรคตายด่วน (EMS) ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้กลุ่มสินค้าปศุสัตว์มีต้นทุนการผลิตลดลง

ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพอยู่ในช่วง 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัว เพราะภัยแล้งในกลุ่มประเทศอาเซียนทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารมากขึ้น ผู้ประกอบการรายใหญ่ขยายกำลังการผลิตหลายสาขา อาทิ ไก่ น้ำผลไม้ เครื่องปรุงรส

สินค้าอาหารส่งออกของไทยส่วนใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูง 4 รายการ ได้แก่ น้ำผลไม้ 24.5% กุ้ง 22.0% สับปะรดกระป๋อง 12.2% และไก่ 8.0% ส่วนสินค้าอื่น ๆ อาทิ ข้าว มีปริมาณการส่งออก 2.1% เพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี มูลค่าขยายตัว 2.6%

น้ำตาลทรายปริมาณส่งออกลดลง ติดลบ 10.4% แต่มูลค่าขยายตัว 1.2% ปลาทูน่ากระป๋อง มีปริมาณส่งออกลดลง ติดลบ 2.5% แต่มูลค่าขยายตัว 2.7% มันสำปะหลัง (เฉพาะแป้งมันสำปะหลังดิบ) ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 10.0% แต่ราคาลดลง ทำให้มูลค่าส่งออกหดตัวลง ติดลบ 1.0% เครื่องปรุงรส ปริมาณส่งออกและมูลค่าเพิ่มขึ้นตามลำดับ 5.8% และ 6.4% โดยสัดส่วนตลาดส่งออกอาหารของไทยในปี 2559 แบ่งเป็นอาเซียน 28.4% ญี่ปุ่น 13.9% สหรัฐ 11.9% สหภาพยุโรป 10.0% แอฟริกา 9.1% จีน 8.0% โอเชียเนีย 3.6% ตะวันออกกลาง 3.4% และเอเชียใต้ 1.1%

ส่วนแนวโน้มการส่งออกปี 2560 ประเมินว่ามูลค่าจะขยายตัวถึง 1,050,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะในระยะสั้นนโยบายเศรษฐกิจของผู้นำสหรัฐคนใหม่ จะส่งผลด้านบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ส่วนผลกระทบจากนโยบายการค้าและการต่างประเทศจะต้องใช้เวลาดำเนินงาน จึงจะส่งผลกระทบในระยะกลางถึงระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรวัตถุดิบในปีการผลิต 2559/2560 ที่ฟื้นตัวจากภาวะภัยแล้ง วัตถุดิบในอุตสาหกรรมกุ้งเริ่มคลายตัวจากภาวะโรคระบาด เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV ที่ขยายตัวต่อเนื่อง

โดยในปี 2559 CLMV เป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ของไทย ด้วยสัดส่วน 15.2% แซงหน้าญี่ปุ่นที่มีสัดส่วน 13.9% ซึ่งเคยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ในปี 2558 นอกจากนี้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มอ่อนค่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ MENA ฟื้นตัวตามราคาน้ำมัน ประกอบกับมาตรการการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ของไทยก็ก้าวหน้าและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าขึ้นตามลำดับ จะมีส่วนช่วยให้ภาพลักษณ์สินค้าไทยปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประมง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 ก็มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญหลายประการที่ต้องเตรียมความพร้อมรับมือ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนด้านนโยบายของผู้นำคนใหม่สหรัฐ จะทำให้ตัวแปรเศรษฐกิจผันผวน และความเสี่ยงจากการเกิดสงครามการค้าเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวล่าช้าจากปัญหาในภาคธนาคาร และความกังวลเรื่องเสถียรภาพอียูหลังเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ในหลายประเทศ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย และอิตาลี ส่วนเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวโดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันหลังจาก OPEC และชาตินอกกลุ่มเตรียมลดกำลังการผลิต ความผันผวนของค่าเงินและแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับยูโรและเยน เป็นต้น