“สวนสามแสน” ที่ ลี้ ลำพูน จำหน่ายพืชผักผลไม้อินทรีย์จากฝีมือชาวบ้าน

“สวนสามแสน” ชื่อของสวนเกษตร ในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ซึ่งเกิดจากการปรับปรุงพื้นที่ภายในบริเวณโรงเรียนเก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาเป็นแปลงปลูกพืชผักผลไม้แนวเศรษฐกิจพอเพียง แล้วเปิดโอกาสให้ชาวบ้านในชุมชนมีส่วนร่วมทำเกษตรกรรมเน้นความเป็นอินทรีย์หวังให้ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ เพื่อสร้างความยั่นยืน

(ซ้าย) คุณสมคิด ธีระสิงห์ ประธานกลุ่ม และคุณวันเพ็ญ ชาญสมร สมาชิกกลุ่ม

คุณสมคิด ธีระสิงห์ ประธานกลุ่ม “สวนสามแสน” เปิดเผยถึงความเป็นมาของสวนแห่งนี้ว่า เกิดจากความคิดที่ต้องการหาวิธีทำเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย โดยยึดแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นหลักปฏิบัติ

การนำเสนอแผนพัฒนาชุมชนของคุณสมคิดในฐานะผู้ใหญ่บ้าน ด้วยการนำโรงเรียนมิตรภาพ 17 หรือโรงเรียนบ้านกลาง ที่มีพื้นที่จำนวน 5 ไร่ ตั้งอยู่ริมถนนเส้น ลี้-เถิน ซึ่งถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่ามานานกว่า 9 ปี จนเกิดความเสื่อมโทรม สร้างภาระให้แก่ชาวบ้านต้องมาช่วยกันทำความสะอาดทุกวันสำคัญเพื่อมาใช้ประโยชน์แล้วปรับเปลี่ยนพื้นที่เป็นสวนเกษตรกรรม จัดแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือแปลงส่วนรวม กับแปลงส่วนตัว แล้วเปิดโอกาสให้ทุกครัวเรือนที่อยู่ในหมู่บ้านกลางสามารถสมัครเข้ามาปลูกพืชผัก ซึ่งปรากฏว่ามีชาวบ้านสนใจสมัครมาปลูกพืชผักในแปลงส่วนตัวชุดแรกจำนวน 33 ครัวเรือน

พันธุ์มะละกอนานาชนิดที่ปลูกไว้เป็นกำแพง

ทั้งนี้ มีการตกลงร่วมกันว่าแปลงส่วนตัวไม่กำหนดว่าจะต้องปลูกพืชผักอะไร อยู่ที่ความถนัดและความพร้อมเป็นหลัก เพียงเก็บค่าน้ำจากแปลงย่อยรายละ 30 บาท ต่อเดือน และแปลงส่วนรวมจะปลูกพืชผักชนิดต่างๆ ที่ตลาดต้องการสลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน โดยสมาชิกทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมด้วย เพราะเป็นหน้าที่ ทั้งนี้ ภายหลังที่ขายผลผลิตจากแปลงรวมแล้วหักต้นทุนออกจึงมีการแบ่งกำไรกัน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นแปลงแบบใดผู้ปลูกสามารถใช้สารชีวภัณฑ์ได้ตามความเหมาะสม แต่ห้ามใช้สารเคมี

“ตอนนี้แปลงส่วนตัวจำนวนมาก แต่ละรายมีพื้นที่ปลูกจำนวน 50 ตารางเมตร ใครจะปลูกอะไรก็ได้ จะซ้ำกันก็ได้ แต่ควรปลูกให้ครบทุกชนิดตามที่กำหนด อีกทั้งผักบางอย่าง อาทิ กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ห้ามขาดจากแปลงปลูก เพราะเป็นผักตลาดที่มีความต้องการตลอดเวลา”

ผักใบช่วงฤดูหนาว

ประธานบอกว่า สมาชิกกลุ่มไม่เพียงเป็นคนหนุ่ม-สาว แต่ยังมีผู้สูงวัยอีกจำนวนหลายคน เพราะมีเวลาว่าง หรือบางรายเป็นอดีตข้าราชการที่เพิ่งเกษียณอายุงาน แต่ทุกรายได้ปลูกพืชผักไว้ที่บ้านตัวเองอยู่แล้ว แต่ต้องการขยายพื้นที่เพื่อขยายผลผลิตให้เพิ่มขึ้นเอาไว้ไปขายที่ตลาดในชุมชน การเข้าร่วมทำกิจกรรมของผู้สูงวัยเหล่านี้ช่วยให้พวกเขาได้มีโอกาสใช้เวลาว่าง มีการพบปะพูดคุยสนทนากัน ช่วยสร้างสุขภาพกายและใจให้มีความสมบูรณ์แทนการอยู่บ้านเฉยๆ

อีกทั้งยังกำหนดให้สมาชิกทุกรายต้องทำบัญชีครัวเรือนด้วย เพื่อต้องการให้เกิดวินัย และควบคุมรายรับ-จ่ายให้เกิดความสมดุล อย่างไรก็ตาม ภายหลังดำเนินกิจกรรมไปสักระยะหนึ่งพบว่าสมาชิกทุกรายมีรายได้สุทธิปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท

แปลงปลูกผักของลุงลัย

คุณสมคิด บอกว่า การวางแผนปลูกพืชแบบอินทรีย์จะผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ แนวคิดการปลูกพืชผักจะพิจารณาจากความเหมาะสมของแต่ละฤดูกาล เน้นปลูกกลางแจ้ง ไม่มีการสร้างโรงเรือน แต่ใช้วิธีการบริหารจัดการผสมกับภูมิปัญญา เพราะแนวทางของคนสมัยก่อนสามารถปลูกพืชผักให้มีความสมบูรณ์โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี เพียงแต่ควรเรียนรู้แล้วทำความเข้าใจกับธรรมชาติของพืชแต่ละชนิดอย่างถ่องแท้ ดังนั้น แนวทางนี้จึงไม่จำเป็นต้องลงทุนอะไรมากมาย

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านผลิตปุ๋ยหมักเองเพื่อช่วยลดต้นทุน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิต โดยได้รับการแนะนำจากหลายหน่วยงาน พร้อมกับมีการพัฒนาปรับปรุงดิน ตลอดจนยังได้รับการชี้แนะจากทางเทศบาลเมืองมาสอนการผลิตปุ๋ยหมักหัวแปลงด้วยการนำกอหญ้าที่ผลิตเป็นปุ๋ยหมักขนาดเล็กกองไว้ที่แต่ละหัวแปลง ทั้งนี้ เพื่อจะได้ช่วยย่นเวลาและความยุ่งยากหากทำเป็นกองปุ๋ยหมักขนาดใหญ่เพราะต้องเสียเวลาและใช้กำลังคนในการขนย้าย

แปลงรวมปลูกเสาวรส

พืชผักไม้ผลที่ปลูกภายในสวนสามแสนทั้งหมด ได้แก่ สตรอเบอรี่ที่ขายดีมาก, เคพกูสเบอร์รี่ (Cape Gooseberry) หรือบางคนเรียกว่า “โทงเทงฝรั่ง, เสาวรส, กะหล่ำปลี, กวางตุ้ง, กระเจี๊ยบเขียว, บวบ, ฟัก, มะละกอทั้งดิบ-สุก ผักสวนครัว และพืชสมุนไพร

พอเข้าช่วงหน้าหนาว ทางเกษตรที่สูงจะนำผักเมืองหนาวมาจัดทำเป็นแปลงปลูก ช่วยเสริมให้สวยงามโดดเด่น ทั้งนี้ทางชุมชนมีผลผลิตจำหน่ายตลอดทั้งปี เพราะมีการบริหารจัดการวิธีการปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดตลอดเวลา

“เสาวรสส่งแหล่งใหญ่ที่โครงการหลวง พื้นที่ปลูกจำนวน 3 ไร่ แต่ช่วงหน้าฝน เจอปัญหาเชื้อรา ต้องแก้ไขด้วยการปรับระยะปลูกให้ห่างออกไปเพื่อปล่อยให้แสงแดดส่องเข้ามา”

สมาชิกมาช่วยกันปลูกผัก

จากเจตนารมณ์ครั้งแรกของสวนสามแสนที่สมาชิกกำหนดร่วมกันว่าพืชผักผลไม้เหล่านี้ปลูกเพื่อกินแล้วถ้าเหลือค่อยขาย แต่หลังจากดำเนินกิจกรรมมาสักพักหนึ่งพบว่าผลผลิตทุกชนิดมีคุณภาพสมบูรณ์ดีมาก ได้รับความสนใจจากลูกค้าหลายแห่งเพราะไว้ใจในเรื่องความปลอดภัย จนทำให้ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น จนต้องปรับแนวคิดใหม่โดยต้องมองตลาดก่อนเพื่อมาวางแผนปลูกให้สอดคล้อง

ส่วนการตลาดมุ่งขายที่สวนเพียงแห่งเดียว เพราะทำเลที่ตั้งมีความเหมาะสมอยู่ริมถนนใหญ่สาย ลี้-เถิน จึงอาศัยความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง วางผังออกแบบปลูกพืชผักให้มีความสวยงาม สร้างภูมิทัศน์ให้เด่นสะดุดตาผู้สัญจรไปมา ต้องจอดแวะซื้อสินค้าหรือถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องออกไปหาตลาดด้านนอก ยกเว้นส่วนราชการร้องขอให้นำสินค้าผลิตภัณฑ์ออกไปขายตามงานต่างๆ เท่านั้น

อาคารเรียนใช้ทำกิจกรรมต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าที่ไม่สะดวกในวันธรรมดา จึงเปิดขายผลผลิตที่แปลงเพิ่มขึ้นอีกในทุกวันเสาร์ตอนเย็น โดยจะตัดผักส่วนหนึ่งแบ่งไว้ขาย กับอีกส่วนหนึ่งเป็นผักที่แปลง ถ้าลูกค้าต้องการแบบไหนให้แจ้งแล้วจะตัดสดๆ ทันที เหตุผลที่ต้องทำเช่นนี้เพราะหากตัดผักขายจำนวนมากแล้วขายไม่หมดก็จะเสียหาย จึงเก็บไว้ที่แปลงดีกว่ายังบำรุงให้สดสวยงามได้อีก

ปัจจุบัน สวนสามแสนมีพื้นที่ทั้งของโรงเรียนและที่ดินที่ได้รับความอนุเคราะห์จากเอกชนกว่า 30 ไร่ โดยแบ่งทำเกษตรกรรมจำนวนกว่า 20 ไร่ ที่เหลือเป็นอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ทั้งนี้ อาคารเรียนถูกใช้ประโยชน์สำหรับเป็นสถานที่ประชุม สัมมนา จัดกิจกรรมต่างๆ อยู่เสมอ

ด้านหน้าศูนย์จุดถ่ายรูป

ที่สวนสามแสนนอกจากจะมีลูกค้ามาซื้อผัก พืช และผลไม้ แล้วยังมีกลุ่มบุคคลทั้งภาคราชการและเอกชนจากทั่วทุกแห่งเข้ามาเยี่ยมชมกิจกรรมทั้งคนไทยและต่างชาติ เช่น คณะเจ้าหน้าที่จาก สปป.ลาว เข้ามาดูงานเพื่อเป็นตัวอย่างนำไปใช้ที่ประเทศของเขาด้วย

คุณสมคิด บอกว่า บุคลากรทุกคนที่เข้ามาทำงานในสวนแห่งนี้ล้วนแต่มีจิตสาธารณะ อุทิศและเสียสละตัวเองเพื่อสังคมส่วนรวม นอกจากนั้น พวกเขายังมีความชำนาญ มีทักษะ ตลอดจนความสามารถในวิชาชีพเกษตรกรรมขั้นบรมครู จึงนับเป็นกำลังสำคัญ แล้วยังก่อให้เกิดความรักสามัคคีกลมเกลียว ช่วยเหลือกันอย่างดี นำมาสู่ความหมายของการตั้งชื่อสวนสามแสน คือ แสนพอดี, แสนคุ้ม และแสนภูมิใจ

“ชัยภูมิที่ตั้งของสวนสามแสนที่อยู่ริมถนนใหญ่สาย ลี้-เถิน  ได้สร้างความน่าสนใจดึงดูดให้ผู้พบเห็นต้องจอดแวะชมเลือกซื้อสินค้าหรือบันทึกภาพ ดังนั้น จึงฉวยโอกาสในความได้เปรียบนี้ วางแผนให้สวนสามแสนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรที่มีทั้งแปลงปลูกพืช ศูนย์เรียนรู้ และโฮมสเตย์”

สมาชิกกำลังปรับปรุงแปลงผักตัวเอง

แม้สวนสามแสนจะเป็นเพียงแหล่งผลิตสินค้าการเกษตรขนาดเล็กในชุมชน แต่การที่ชาวบ้านได้เข้ามามีบทบาทในกิจกรรมต่างๆ นำความรู้และภูมิปัญญามาพัฒนางานเกษตรกรรมแบ่งงาน แบ่งหน้าที่ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถือเป็นตัวอย่างของความรักสามัคคี ตลอดจนการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวในชุมชนที่ดี

สอบถามรายละเอียดหรือต้องการเข้าเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ของสวนสามแสนได้ที่ คุณสมคิด ธีระสิงห์ บ้านเลขที่ 95 หมู่ที่ 10 ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน โทรศัพท์ 093-212-9090

…………………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2561