หนุ่มสพรรณฯ ทำเกษตรปลอดภัย สร้างรายได้เป็นรายวัน

“การที่คนเราจะมาทำเกษตร ต้องร้อนให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้” เป็นคติประจำใจของ คุณอลงกรณ์ บุพสังข์ อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 185 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ก่อนจะผันตัวมาทำการเกษตรเหมือนเช่นทุกวันนี้ เดิมทีเรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งดูห่างไกลจากเรื่องเกษตรมากพอสมควร ก่อนจะมาถึงจุดนี้ได้ล้มลุกคลุกคลานมาไม่น้อย แต่ไม่เคยถอดใจ จนในที่สุดทุกวันนี้สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ด้วยการทำการเกษตร

คุณอลงกรณ์ บุพสังข์

คุณอลงกรณ์ บุพสังข์ เล่าว่า เมื่อก่อนทำงานเกี่ยวกับเบื้องหลัง ทำงานในกองละคร จนกระทั่งมีช่วงเวลาหนึ่งเกิดความรู้สึกว่าอยากกลับบ้าน แต่ตอนนั้นยังไม่มีเงินทุน จึงลาออกแล้วหันไปหางานทำใหม่ ได้มีโอกาสไปทำงานอยู่ที่เชียงคาน ทำงานบริการอยู่ที่โรงแรม แต่ไปเห็นว่าคนเชียงคานเขาอยู่บ้าน แต่ก็มีรายได้เพราะการทำเกษตร จึงหันมาย้อนมองที่บ้านตนเองก็มีพื้นที่ว่างอยู่ แถมยังมีต้นทุนเป็นความรู้ทางด้านการเกษตร เพราะคุณพ่อและคุณแม่เป็นเกษตรกรมาตั้งแต่จำความได้ จึงตั้งใจเก็บเงินทุนได้ก้อนหนึ่งแล้วตัดสินใจกลับมาบ้านเกิด ในปี 2556

ต้นอ่อนพืชที่เพาะเอาไว้

ความล้มเหลว คือการเรียนรู้

ผักสดพร้อมนำออกไปวางขาย

เริ่มแรกมาตัดสินใจลงทุนทำกล้วยหอมในพื้นที่นาหลังจากที่ไปดูงานมาจากจังหวัดเพชรบุรี จึงตัดสินใจเอากล้วยหอมลง 5 ไร่ ผลปรากฏว่าตัดได้ไม่ถึง 10 ต้น นอกนั้นต้องตัดทิ้งทั้งหมด เพราะพื้นที่นาที่ตนเองมีอยู่เป็นดินเหนียว

น้ำหมักทำเอง

“ตอนนั้นก็เรียกว่าเจ๊งเถอะครับ แต่เราเจ๊งแบบได้ความรู้ ปัญหาคือ เราไปเรียนรู้มาจากที่อื่น แต่มาทำที่นี่ซึ่งพื้นที่มันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว” เขาเล่าถึงความผิดพลาดของตนเองในตอนนั้น และสร้างหนี้สินให้มากมาย

เห็ดที่เพาะขายเอง

คุณอลงกรณ์ เล่าต่อว่า จึงหันกลับมาศึกษาใหม่อีกครั้ง ตัดสินใจเรื่องของพืชที่ให้ผลผลิตได้เรื่อยๆ จึงเริ่มปลูกฝรั่งเป็นอย่างแรก ลงปลูกประมาณ 30 กว่าต้น เพราะเล็งเห็นแล้วว่า ฝรั่งปลูก 6 เดือน สามารถเก็บผลได้เลย ต่อมาจึงปลูกหม่อนกินผล แต่ไม่ได้ขายผล เน้นไปขายต้นพันธุ์ และเริ่มวางแผนที่จะทำสวนหม่อนให้คนมาเที่ยว เปลี่ยนพื้นที่การเกษตรเป็นการทำเกษตรเชิงท่องเที่ยวในอนาคต

แปลงผักกางมุ้ง

ผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตได้ในช่วงแรกจะนำไปขายที่ตลาดของจังหวัด ต่อมาได้ย้ายมาขายที่โรงพยาบาลศรีประจันต์ที่เปิดเป็นตลาดพื้นที่สีเขียวให้เกษตรกร และด้วยความที่ตลาดใกล้บ้าน จึงหันมามองแนวทางพืชชนิดอื่นๆ บ้าง ก็เลยเริ่มปลูกพริก มะเขือ ผักพื้นบ้านในเวลาต่อมา

ปลูกพืชแบบเกษตรปลอดภัย

การปลูกพืชบริเวณรอบบ้าน คุณอลงกรณ์ เล่าว่า เน้นเป็นการปลูกพืชที่ปลอดภัย พืชทุกชนิดจะไม่ใช้สารเคมี เพราะหันมาใช้น้ำหมักที่ทำขึ้นเองและสารชีวภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้สูตรมาจากการอบรมและศึกษาด้วยตนเอง จากการซื้อหนังสือมาอ่าน เปิดช่องยูทูบ (YouTube) เพื่อใช้ในการศึกษา ต้องมีการศึกษาและปรับตัวเรื่อยๆ เพราะพื้นที่ภาคกลางมีข้อเสียคือ มีแมลงค่อนข้างเยอะ แถมยังมีแมลงทุกฤดู

“การทำการเกษตรปลอดภัย หรือเกษตรอินทรีย์ อันดับแรกที่ต้องมีคือ ใจ เพราะว่ามันต้องใช้เวลา มันนานก็จริง แต่ว่าเมื่อสำเร็จแล้ว ระบบนิเวศจะช่วยเหลือตัวของมันเอง เราไม่ต้องไปพึ่งสารเคมีเหมือนคนอื่นเลย” คุณอลงกรณ์ บอก

พื้นที่ในการทำการเกษตรของคุณอลงกรณ์มีทั้งหมด 16 ไร่ มีนาข้าว 10 ไร่ แบ่งออกเป็นปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่ปลูกไว้กินเอง 1 ไร่ อีก 9 ไร่ ปลูกไว้ขาย ซึ่งได้ผลผลิตประมาณ 7 ตันกว่าๆ และพื้นที่ส่วนที่เหลืออีก 6 ไร่ คือ การปลูกพืชบนคันนา

“ถ้าเราไปดูแปลงนาคนอื่น เขาจะไม่ใช้พื้นที่ตรงคันนา แต่คันนาของเราใหญ่ เพราะเราเอาไว้ปลูกพืชในระหว่างที่เราทำข้าวได้” เขาเล่าให้ฟัง “ข้าว 120 วันเกี่ยว ระหว่างนั้นเรากินอะไร? มันมีโจทย์เสมอ เราต้องหาเงินใช้ในทุกๆ วัน”

ด้วยเหตุผลนี้เอง เขาจึงหันมาปลูกมะเขือและถั่วฝักยาว ผักที่สามารถเก็บผลผลิตได้ในทุกวัน จึงทำให้มีรายได้เป็นรายวันตลอด ซึ่งตอนนี้กำลังจะวางแผนปลูกฝรั่งและน้อยหน่าบนคันนาเพิ่มอีกด้วย เรียกได้ว่าทุกอย่างที่ปลูกนั้นสามารถนำมาแปรรูปได้ เช่น สายบัวในน้ำ นอกจากสามารถเก็บไปขายแบบเป็นกำแล้ว ยังสามารถนำมาแกงขาย ทุกอย่างจะถูกแปรรูปโดยคนในครอบครัว ไม่ต้องจ้างแรงงานจากข้างนอก เป็นวิธีการลดต้นทุนได้อีกหนึ่งทางด้วย

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณอลงกรณ์ บุพสังข์ โทรศัพท์ 090-792-4199  

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562