สาวลพบุรี เผยเทคนิคปลูกมะละกอคุณภาพ ลดต้นทุน ไม่ใช้สารเคมี สร้างรายได้หลักล้าน

คุณสมร รัตนะชัย ไม่ใช่ชาวลพบุรีโดยกำเนิด แต่แต่งงานกับหนุ่มเมืองลิง เริ่มต้นชีวิตด้วยการรับจ้างและค้าขายทั่วไป สู้ชีวิตมาตั้งแต่อายุ 15 ปี เธอค้าขายทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นของกินของใช้ หรือรับจ้างทุกอย่าง เนื่องจากตัวคุณสมรเองไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะเคยประสบอุบัติเหตุกระทบกระเทือนทางสมอง และด้วยที่ไม่ได้เรียนหนังสือจึงไม่สามารถอ่านเขียนได้ ทำให้ไม่สามารถเลือกอาชีพได้มากนัก ประกอบกับต้องช่วยแม่เลี้ยงน้องอีก 3 คน ชีวิตที่ต้องดิ้นรนอยู่นิ่งไม่ได้จึงเริ่มขึ้น

ต้นกล้าที่เพาะใส่ถุง

“เมื่ออายุ 25 ได้แต่งงานมีครอบครัว สามีเป็นคนลพบุรี ทำอาชีพค้าขายอยู่ในตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง เมื่อแต่งงานแล้วก็ช่วยกันกับสามีทำการค้าขายผลไม้ในตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง โดยปกติจะวิ่งรับซื้อผลไม้จากสวน ตามฤดูกาลในจังหวัดต่างๆ เมื่อหมดผลไม้ตามฤดูกาลก็จะกลับไปทำเกษตรกับสามีที่จังหวัดลพบุรี ปลูกผักและรับซื้อพืชผักเพื่อมาขายที่ตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง บางครั้งราคาพืชผักตกก็ขาดทุน ค้าขายแบบนี้อยู่ 4 ปี ก็เริ่มสังเกตเห็นลู่ทางการค้าขาย ว่าเขาค้าขายอะไรและช่วงไหน ที่ผัก ผลไม้ มีราคาดี”

ต้นมะละกอฮอลแลนด์ลงแปลงปลูก ประมาณ 70 วัน

คุณสมร บอกว่า ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ตนเองได้ไปขายของที่ตลาดสี่มุมเมืองตามปกติ แต่ได้สะดุดตากับแผงขายมะละกอเจ้าหนึ่ง เห็นว่ามะละกอสายพันธุ์อะไร ทำไม มีรูปทรงและสีแตกต่างจากมะละกอทั่วไป จึงได้สอบถามและได้คำตอบกลับมาว่า “มะละกอลูกนี้ เป็นมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ เป็นมะละกอสายพันธุ์ใหม่ ขายโลละ 48 บาท”

ต้นมะละกอฮอลแลนด์ 80 วัน เริ่มออกดอก

คุณสมร ตกใจมากที่มะละกอมีราคาถึง 48 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งในยุคสมัยนั้น มะละกอฮอลแลนด์ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณสมรสนใจปลูกมะละกอฮอลแลนด์ จึงได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับมะละกอฮอลแลนด์มากขึ้น ด้วยความที่คุณสมรเป็นคนช่างสงสัย มีความใฝ่รู้ และมีความนอบน้อมเข้ากับผู้คนได้ง่าย ทุกครั้งที่คุณสมรไปรับผัก ผลไม้ จากจังหวัดอื่นๆ เพื่อที่จะนำไปขายต่อ ก็จะสังเกตความแตกต่างมะละกอฮอลแลนด์ที่ปลูกในแต่ละพื้นที่ว่า รูปทรง สีเนื้อด้านใน และรสชาติ มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ดอกของต้นมะละกอฮอลแลนด์

กระทั่งวันหนึ่ง คุณสมร ได้มีโอกาสไปสถานีวิจัยปากช่อง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดนครราชสีมา ทำให้คุณสมรได้รู้จักมะละกอหลายสายพันธุ์มากขึ้น แต่คุณสมรก็ยังคงให้ความสนใจกับมะละกอสายพันธุ์ฮอลแลนด์มากที่สุด จึงตัดสินใจซื้อต้นกล้ามะละกอฮอลแลนด์ 50 ต้น

คุณสมร บอกว่า เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ซื้อต้นกล้ามะละกอฮอลแลนด์ ในราคาต้นละ 30 บาท เพื่อมาทดลองปลูก แต่ด้วยคุณสมรนั้นไม่มีพื้นที่ในการเพาะปลูก จึงขอปลูกในพื้นที่ไร่ของแม่สามี

คุณสมร รัตนะชัย กับผลผลิตที่ภูมิใจ

คุณสมร ลองผิดลองถูกในการปลูกมะละกอฮอลแลนด์ ทั้งความรู้ที่ได้จากผู้อื่นและจากประสบการณ์ของตนเอง ผ่านไป 1 เดือน ต้นมะละกอฮอลแลนด์เริ่มโตขึ้น ทำให้มีกำลังใจในการปลูกมะละกอฮอลแลนด์มากขึ้น จึงนำต้นกล้าจากสถานีวิจัยปากช่องมาปลูกเต็มพื้นที่ 1 ไร่ บนพื้นที่ของแม่สามี พอถึงช่วงผลผลิตออก ก็ได้คุณภาพดีตามที่ตนเองได้คาดหวังไว้ ทำให้คุณสมรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากผลผลิตมะละกอฮอลแลนด์ อีกทั้งผลผลิตของคุณสมรค่อนข้างเป็นที่ต้องการของตลาด จึงนำกำไรบางส่วนมาเช่าพื้นที่ เพื่อปลูกมะละกอฮอลแลนด์เพิ่ม

ปัจจุบัน คุณสมร มีพื้นที่ปลูกมะละกอฮอลแลนด์ของตนเอง จำนวน 63 ไร่

ผลผลิตมะละกอฮอลแลนด์บนต้น

คุณสมร บอกว่า มะละกอฮอลแลนด์ของตนเองเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะมีจุดเด่นเฉพาะ ลักษณะเป็นทรงกระบอก รสชาติดี สีแดงสวย โดยไม่ใช้สารเร่งให้แดง เป็นเนื้อชั้นเดียว เนื้อแน่น กรอบ สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นโดยที่เนื้อยังคงแน่น กรอบ หวาน ซึ่งแตกต่างจากมะละกอฮอลแลนด์ทั่วไป ด้วยประสบการณ์ในการปลูกมะละกอฮอลแลนด์กว่า 14 ปี ทำให้มีประสบการณ์ในการปลูกและวิธีการดูแลแตกต่างจากคนอื่น

คุณสมร อธิบายถึงหลักการในการปลูกมะละกอฮอลแลนด์ว่า เริ่มจากการเพาะต้นกล้ามะละกอฮอลแลนด์ อัตราส่วนในการผสมดินปลูก ใช้ขี้วัว 30 เปอร์เซ็นต์ ดินดำ 70 เปอร์เซ็นต์ นำ 2 ส่วน มาผสมกัน และนำใส่ถุงเพาะ ขนาด 2×5 นิ้ว โดยใส่ดินครึ่งถุง และใส่เมล็ดมะละกอฮอลแลนด์ จำนวน 5 เมล็ด ต่อถุง จากนั้นใส่ดินที่ได้ผสมไว้จนเกือบถึงปากถุง และนำลงแปลงเพาะต้นกล้า ที่มีการให้น้ำผ่านสปริงเกลอร์ ด้านบนของแปลงเพาะต้นกล้ากางซาแรนไว้ เพื่อไม่ให้ต้นกล้าถูกแสงแดดโดยตรง ซาแรนที่เหมาะสมกับต้นกล้ามะละกอ ควรมีความหนา 70 เปอร์เซ็นต์ และ 90 เปอร์เซ็นต์ หากเพาะในช่วงฤดูร้อนก็จะใช้ซาแรนความหนา 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าช่วงในฤดูปกติที่ไม่ร้อนจนเกินไป ก็จะใช้ซาแรนความหนา 70 เปอร์เซ็นต์ อัตราส่วนในการรดน้ำ จะรดน้ำต้นกล้า 3 เวลา ตอนเช้า 30 นาที เที่ยง 20 นาที และเย็น 10 นาที ในช่วง 10 วันแรกของการเพาะต้นกล้าต้องควบคุมให้กล้าทุกต้นโตให้พร้อมกัน ดังนั้น การรดน้ำในช่วง 10 วันแรกค่อนข้างสำคัญมาก

หลังจากลงเพาะต้นกล้า 15-18 วัน เริ่มเปิดซาแรนเพื่อให้ต้นกล้าคุ้นเคยกับแสงแดดและแข็งแรงมากขึ้น แต่ถ้าหากวันไหนอุณหภูมิมากกว่า 35 องศาเซลเซียส ต้องปิดซาแรน เพราะแสงแดดที่แรงมากเกินไป อาจทำให้ต้นกล้าตายได้ เมื่อต้นกล้ามีอายุ 48-55 วัน ก็สามารถนำลงแปลงปลูกได้

การเตรียมดินสำหรับแปลงปลูก ใช้ปุ๋ยขี้วัวนมแล้วไถด้วยผาล 3 เพื่อพลิกหน้าดิน การใส่ปุ๋ยขี้วัวทำให้ดินบริเวณนั้นเป็นแหล่งอาหารของไส้เดือน และประโยชน์ของไส้เดือนทำให้พื้นที่บริเวณนั้นดินเกิดการร่วนซุยเหมาะสำหรับการเพาะปลูกมะละกอฮอลแลนด์อย่างมาก หลังจากนั้น ตากดินไว้ 1 เดือน ไถรอบ 2 โดยใช้ผาล 7 และตากดินไว้อีก 15 วัน จากนั้นยกร่อง โดยใช้ผาล 7 โอบดินขึ้นมาให้เป็นร่อง 2-3 รอบ จำนวนรอบในการยกร่องแล้วแต่สภาพดินของแต่ละพื้นที่ แต่ดินที่มะละกอชอบมากที่สุดคือ ดินดำ เพราะคุณสมบัติของดินดำจะอุ้มน้ำได้เป็นอย่างดี เมื่อยกร่องเสร็จแล้วเปิดสายน้ำหยดเป็นเวลา 1 คืน เพื่อให้ดินเกิดความชุ่มชื้นก่อนนำต้นกล้าลงแปลงปลูก

ผลผลิตมะละกอฮอลแลนด์ที่เก็บเกี่ยว

การนำต้นกล้าลงในแปลงปลูก จะเว้นระยะห่าง 2.10-2.40 เมตร ต่อ 1 ต้น

คุณสมร ให้เหตุผลว่า เมื่อต้นมะละกอโตขึ้น ใบของมะละกอแต่ละต้นจะช่วยกันบังแสงแดดที่จะส่องลงมาสู่ลำต้น ทำให้มะละกอเมื่อออกผลผลิตแล้วไม่ถูกแดดแรงมากจนเกินไป เพราะถ้าแดดแรงมากอาจทำให้สีของผลมะละกอไม่เสมอกัน

เนื้อและสีด้านในมะละกอฮอลแลนด์

เมื่อนำต้นกล้าลงแปลงปลูกแล้ว ให้น้ำหยดต่อเป็นเวลา 1 คืน หลังจากนั้นรดน้ำวันเว้นวัน ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นเพื่อเป็นการลดความร้อนให้กับต้นมะละกอ เป็นเวลา 20 วัน จากนั้นใส่ขี้วัวที่โคนต้น ต้นละ 1-2 กำมือ และเปลี่ยนการรดน้ำเป็น 2 วัน 1 ครั้ง เมื่อครบ 7 วัน ก็พรวนดินพูนโคนต้น เมื่อต้นมะละกอมีอายุ 70-75 วัน จะเริ่มออกเกสร ก็คัดแยกเพศโดยเอาแต่ดอกที่เป็นกะเทยไว้ หลังจากนี้จะเข้าสู่ช่วงติดลูก ก็ลิดแขนงที่ออกมาจากก้านมะละกอเพื่อไม่ให้แย่งสารอาหารกัน

คุณสมร มีหลักการปลูกมะละกอที่ต้องการประหยัดต้นทุนและใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด เมื่อถึงช่วงเร่งดอก จะใช้ขิงแก่ 3 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ต้มให้เหลือน้ำ 1 ลิตร ใบน้อยหน่า 1 ปี๊บ ต่อน้ำ 20 ลิตร ต้มให้เหลือน้ำ 1 ลิตร เปลือกสะเดา 3-4 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ต้มให้เหลือน้ำ 1 ลิตร นำทั้ง 3 อย่าง ผสมกับน้ำ 200 ลิตร และน้ำหมักชีวภาพที่หมักไว้  อัตราส่วนนี้สามารถฉีดพ่น ได้พื้นที่ประมาณ 3 ไร่ เพื่อป้องกันเพลี้ยไฟและไรแดง ใช้การฉีดพ่นทางใบเป็นเวลา 15 วัน สลับกับใส่ปุ๋ยทางดิน สูตร 15-15-15 และยังคงรดน้ำ 2 วัน ต่อ 1 ครั้ง ไปเรื่อยๆ หลังจาก 15 วัน ฉีดพ่นทางใบด้วยสารแคลเซียมโบรอน ทำแบบนี้ไปจนมะละกอหมดอายุในการเก็บเกี่ยวเป็นเวลา 3 ปี

“ช่วงแรกอาจจะมีรายได้ที่ไม่มากนัก เพราะมีต้นทุนที่สูง แต่ปัจจุบันเราสามารถลดต้นทุนโดยใช้สารชีวภาพและเพาะต้นกล้ามะละกอฮอลแลนด์ได้เอง ทำให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นหลักล้านต่อปี จากการจำหน่ายผลผลิตมะละกอฮอลแลนด์และต้นกล้ามะละกอฮอลแลนด์”

สำหรับท่านใดที่สนใจ ผลผลิตมะละกอฮอลแลนด์ ต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์มะละกอฮอลแลนด์ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสมร รัตนะชัย บ้านบ่อคู่ หมู่ที่ 4 ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี โทรศัพท์ 087-915-4135, 086-124-7767 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก กูลสกิจ ฟาร์ม

…………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ.2563