แนวทางการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ พะเยา

หลายปีก่อน เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภคผักผลไม้ พวกเขากำลังพยายามหาวิธีกำจัดสารเคมีอันตรายบนพืชผัก มินานนักกระบวนการปลูกผักผลไม้ก็ปรับเปลี่ยนสู่เกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ มีหน่วยงานรับรอง เช่น สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์เกิดขึ้น เป็นการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม หรือ Sustainable Development Goals Partipatory Guarantee System (SDGs PGS) เป็นกระบวนการรับรองผู้ผลิตอินทรีย์ตามหลักการและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องมีส่วนร่วม วิสัยทัศน์ร่วม ความโปร่งใส กระบวนเรียนรู้และความสัมพันธ์แนวราบ โดยมีสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์จังหวัดพะเยาร่วมขับเคลื่อน ในการทำความเข้าใจกับเกษตรกรและการตรวจรับรอง พร้อมออกใบรับรองเพื่อให้เกษตรกรนำไปเผยแพร่และรับประกันสินค้า ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในความปลอดภัย

สินค้าประเภทผักผลไม้อินทรีย์ระดับพรีเมี่ยมที่ปลูกในพื้นที่ท้องถิ่นจังหวัดพะเยามีจำนวนมากขึ้นและเริ่มวางจำหน่ายบนชั้นวางสินค้าในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ นั่นคือความเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรที่กำลังปลูกผักผลไม้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยเมื่อไม่นานมานี้ มีการจัดเสวนาแนวทางการตลาดเกษตรอินทรีย์จังหวัดพะเยา ในงานจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม จากเกษตรกรที่ได้ผ่านการรับรองของสมาพันธ์ฯ ณ เทียนวิหารฟาร์ม ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เพื่อพูดคุยเสวนาในประเด็นการตลาดของสินค้าเกษตรอินทรีย์

คุณศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา (ตำแหน่งขณะนั้น) กล่าวนำการสัมมนาว่า จังหวัดพะเยาเรามีของดี แต่จะค้นหาสิ่งดีอย่างไร วีธีการที่ดีที่สุดคือการพูดคุยปรึกษา สร้างการมีส่วนร่วม เมื่อมีความคิดเห็นใดก็พูดคุยแลกเปลี่ยน กระบวนการค้นหามีหลายองค์ประกอบ ผมเชื่อว่าการสร้างเวทีเสวนาจะเป็นจุดเริ่มต้นการพูดคุยแลกเปลี่ยนสร้างเครือข่าย นับเป็นรูปแบบวัฒนธรรมที่ดี เป็นการเริ่มต้นปรับเปลี่ยนทัศนคติ โลกของเราเปลี่ยนแปลง พวกเราไม่สามารถควบคุมโลกได้ แต่เราปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ดีของเราได้

คุณนฤมิตร สมัคร หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรพะเยา (ตำแหน่งขณะนั้น) กล่าวว่า ผมทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่รุ่นคุณป้า คุณตา คุณยาย เราเริ่มตั้งแต่สร้างกระแสการรับรู้การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย เป็นหุ้นส่วนเกษตรอินทรีย์ จนปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่เข้ามาทำการเกษตร เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงานหลายคนหันมาทำการเกษตร เมื่อมีผลผลิตเราก็ตั้งคำถามว่า จะขายสินค้าเกษตรอินทรีย์กันที่ไหน พวกเราเชิญบริษัท สุขทุกคำ บริษัท วังรีคลีน เพื่อรับผลผลิตเกษตรอินทรีย์ไปทำการตลาด พ.ศ. 2565 บริษัท สุขทุกคำ ก็ยังเป็นพันธมิตรกับเรา

ทางด้าน คุณเอกพงค์ มุสิกะเจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมธุรกิจ เทคโนโลยีและนวัตกรรม กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมประเทศไทยใช้กลไก PGS อันเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมซึ่ง IFOAM หรือ สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements) (ตำแหน่งขณะนั้น) เป็นผู้คิดค้น ต้องการลดค่าตรวจแปลงที่มีราคาแพง จึงวางกรอบการทำงานให้แต่ละประเทศนำไปใช้ เป้าหมายของสมาพันธ์เกษตรยั่งยืนคือต้องการสร้างเกษตรกรผู้ตรวจแปลงให้มีจำนวนมากที่สุด เพื่อผู้ตรวจแปลงจะเข้าสู่การรับรองมาตรฐานใบรับรองเกษตรอินทรีย์ เป้าหมายต่อไปคือเราจะทำอย่างไรให้เกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมมีจำนวนเต็มทุกตำบล สร้างสัมมาชีพให้เกิดขึ้นเต็มพื้นที่

 

“เราจะทำอย่างไรให้พะเยาประกาศออร์แกนิกอาเจนดาร์ (วาระเกษตรอินทรีย์) ตอนนี้เรากำลังก่อสร้างตลาดกลางสินค้าเกษตรอินทรีย์พื้นที่ 5,000 ตาราเมตร 500 คูหา เกษตรกรสามารถรวบรวมสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปขายที่นั่นได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 2 ปี เราชวนทุกท่านมาต่อซัพพลายเชนสินค้าเกษตรอินทรีย์ ขับเคลื่อนตลาดสินค้าอินทรีย์ ขับเคลื่อนโครงการ 1 ล้านครัวเรือน 1 เกษตรอินทรีย์”

ส่วน คุณสมศักดิ์ เจียรสมบูรณ์ บริษัท สุขทุกคำ จำกัด “สุขทุกคำ” คือเราสุขทุกคำที่ได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย สุขทุกคำเหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ จัดส่งสินค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เราขายเฉพาะสินค้าที่มีมาตรฐานอินทรีย์ ตอนนี้สุขทุกคำมีผักผลไม้มากกว่า 100 รายการ ผลไม้เราเสาะหาตามฤดูและคุณภาพ เรามีเว็บไซต์สามารถรับคำสั่งซื้อ และจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้า ปัจจุบันสุขทุกคำรับซื้อผลไม้จากเกษตรกรจังหวัดพะเยาจำนวน 200 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ลูกค้าของเรามีกำลังซื้อและมีความต้องการผักผลไม้อินทรีย์เพิ่มมากขึ้น ผมจึงเริ่มทำฟาร์มที่ห้วยลาน อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา พื้นที่การเกษตรจำนวน 60 ไร่ ทดลองปลูกผักอินทรีย์จำนวน 1 ไร่ ต้องเจอกับปัญหามากมายเพราะเกษตรกรคุ้นชินอยู่กับการใช้สารเคมี ผมต้องใช้พื้นที่ฟาร์มทำการเกษตรเพื่อปลูกผักให้ได้ตามคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับ ผศ.ดร.บังอร สุขสวัสดิ์สุข ที่ปรึกษา บริษัท ออแกนิคพะเยาวิสาหกิจเพื่อสังคม บริษัท ออแกนิคพะเยาวิสาหกิจเพื่อสังคมจดทะเบียนโดยชื่อบ่งบอกว่า เราจะเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นนิติบุคคล เราดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี มีวิสาหกิจนิติบุคคลจำนวน 49 ราย ซึ่งเราจะต้องดำเนินการด้านการเงินและการบัญชี ด้านการตลาด การจำหน่ายสินค้า รายเดี่ยว กลุ่ม วิสาหกิจชุมชน อนาคตเราจะเข้าสู่ตำบล แต่อยากฝากข้อคิดกับเกษตรกรไว้ว่า ผลิตแล้วจำหน่ายด้วยตนเองก่อน ขายใบรับรอง สร้างความเชื่อมั่นให้ได้ว่าคุณผลิตเกษตรอินทรีย์พืชผักผลไม้เป็นเกษตรอินทรีย์จริง อย่าให้เขาตรวจสอบได้ว่าเขามีสารเคมีเจอปน

คุณณัฐพล ขุ่ยคำ กรรมการผู้จัดการบริษัท ออแกนิคพะเยาวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) บอกว่า ผมเริ่มต้นการเป็นสมาชิกสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา เราขับเคลื่อนตลาดชุมชน ขยายกลุ่มที่อำเภอแม่ใจ ขยายตลาดในพื้นที่ เราส่งผักให้กับโรงครัวของโรงพยาบาลแม่ใจ ตอนนี้เรากำลังคุยกับกลุ่มของบริษัทที่นำเข้าส่งออกสินค้าอินทรีย์ ผมอบรมเกษตรอินทรีย์รุ่นใหม่ที่แม่โจ้ เรียนการเขียนแผนธุรกิจ ธุรกิจเป็นคนละเรื่องกับการเกษตร เราเห็นภาพโมเดลแปลงเกษตร ผมเอาโมเดลการเกษตรมาทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ชุมชน ชวนคนในชุมชนมาทำการเกษตรแล้วจึงมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ แล้วจึงเกิดเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์จริงๆ เราทดลองปลูกผักสลัด ทำให้คนแม่ใจรู้จักผักสลัดแต่ละสายพันธุ์อย่างจริงจัง จากนั้นมีการบอกต่อและมีสมาพันธ์เกษตรยั่งยืนเข้ามาผลักดัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรามีตัวตนในพื้นที่ มีโรงพยาบาลเริ่มติดต่อซื้อผลผลิตของเรา โรงพยาบาลต้องการผักสวนครัวเราก็ปลูกผักอินทรีย์สวนครัวเพื่อตอบโจทย์โรงพยาบาล

ทางด้าน ดร.ประพันธ์ เทียนวิหาร นายกสโมสรโรตารีพะเยาและสมาชิกชาวนาโลก สโมสรโรตารีพยายามทำงานเรื่องคุณภาพชีวิต โรตารีเปลี่ยนชีวิตด้วยจิตบริการ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์เราผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ ดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สารเคมี เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ลดภาระคาร์บอนเครดิต (ปริมาณก๊าซเรือนกระจก) เราตอบโจทย์ระดับโลก เกษตรกรเปลี่ยนวิถีชีวิตจากเกษตรสารเคมีและเทคโนโลยี เมื่อเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนพฤติกรรม ก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ในทางบวก ขอบคุณเครือข่ายเพื่อสร้างพลังให้เกิดขึ้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเราและโลก ขอบคุณผู้บริหารระดับจังหวัดที่ให้ความสำคัญกับการเกษตรที่เป็นวิกฤตมาอย่างยาวนาน ปัญหาคือไม่มีตัวเชื่อม รัฐส่งเสริมแต่ไม่มีกระบวนการต่อยอด วันนี้เรามองเห็นภาคการผลิต การตลาด สู่ผู้บริโภค เชื่อมร้อยกันทำให้เกิดพลังทางสังคม มันจะเกิดพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือธุรกิจเพื่อสังคม มันคือคุณภาพชีวิต เริ่มจากครอบครัว ชุมชนสู่เครือข่ายระดับโลก

ในการสัมมนาในครั้งนี้มี สมาชิกสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์พะเยา และเกษตรกรที่ได้รับใบรับรองเกษตรอินทรีย์ มีความเห็นร่วมกันว่าจะเปิดตลาดร่วมกันในจังหวัดพะเยาเดือนละอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยจะใช้เทียนวิหารฟาร์ม เป็นสถานที่จัด

ขอบคุณข้อมูล ร.ต.อ. ทรงวุฒิ จันทิมา (กระจอกชัย)