“นิรุตติ์ ศิริจรรยา” สุขแบบพอดี ที่สวนทองจันทร์

ความพอดีที่อาจจะไม่พอดี และเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา พบได้ตลอด ขึ้นอยู่กับโอกาสและจังหวะ และอยู่ที่บุคคลนั้นๆ ว่าจะมีพอใจในความพอดีหรือพอเพียงในสิ่งที่ประสบหรือไม่

นิรุตติ์ ศิริจรรยา นักแสดงชายมากด้วยฝีมือ กับวัย 75 ปี ที่คงวินัยการทำงานในวงการแสดงอย่างไม่บกพร่อง แม้จะเป็นดารารุ่นเก่า แต่ก็เก่าแบบไม่หย่อนยาน และเราๆ จะคุ้นกับการเรียก “อาหนิง” มากกว่า     

บ่ายแก่ๆ หลังกิจกรรมที่ต้องพบปะผู้คนในมุมของการทำหน้าที่พรีเซ็นเตอร์คนหนึ่งจบลง อาหนิงให้เกียรติพูดคุยอย่างเป็นกันเอง และสั่งกาแฟแก้วโตมาดื่ม แน่นอนกาแฟดำ ยังคงเป็นกาแฟที่อาหนิงดื่มเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 แก้ว

เทคโนโลยีชาวบ้าน คือนิตยสารที่มีเนื้อหาเกษตรกรรม เป้าของการพูดคุยวันนี้คือ สวนทองจันทร์ หรือบ้านไร่ทองจันทร์ สุดแล้วแต่การเรียกของแต่ละท่าน

สำหรับอาหนิง เคยให้สัมภาษณ์ถึงสวนทองจันทร์แห่งนี้ ไว้หลายสื่อ

“ความสุขที่ผมค้นพบได้ในตอนนี้คือ ที่นี่ ที่บ้านแห่งนี้ จุดที่เรียกได้ว่าเป็นจุดที่พอเพียงของผมแล้ว ได้ทำงานที่ชอบ และได้ใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองรัก เสร็จจากงานก็เดินทางกลับมาพักที่บ้าน อยู่กับความเรียบง่ายของธรรมชาติ อยู่กับอิสระที่ใจเราต้องการ เพราะผมเชื่อว่า ทุกอย่างที่แวดล้อมตัวเราอยู่นั้น นั่นคือความสุขที่เราสามารถสร้างมันขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง”

วันที่ 26-28 พฤษภาคม 2566 ที่จะถึง เทคโนโลยีชาวบ้าน จัดกิจกรรมเกษตรเติมสุข สัญจรจันทบุรี และสวนทองจันทร์ เป็นหนึ่งในสถานที่ที่จะพาไปเยือน และอาหนิงเป็นผู้ให้การต้อนรับ และพาเปิดสวนด้วยตนเอง

ทุกครั้งที่ว่างเว้นจากการแสดง อาหนิงจะขับรถด้วยตนเองไปยังสวนทองจันทร์ พักผ่อนยาวๆ ในช่วงที่ไม่ได้รับงาน อาจจะ 1 สัปดาห์ หรือเป็นเดือน

สวนแห่งนี้ เริ่มต้นจากพื้นที่เพียง 50 ไร่ ในสภาพรกชัฏราวกับป่า ไม่ได้ถูกตัดแต่งเตียนเป็นร่องหรือทาง ยุคนั้นเป็นยุคที่ยังมีผู้ก่อการร้าย และเพื่อนบ้านที่ลักลอบเข้าประเทศผ่านเขตแดนทางอำเภอโป่งน้ำร้อน อาหนิงเล่าเห็นภาพชัดว่า ทุกครั้งที่มาสวน จะได้ยินเสียงอาวุธสงครามเหมือนลอยข้ามหัวบ่อยมาก สวนเหมือนป่า เงียบเชียบ นิ่งสนิท สงบ ผู้คนไม่พลุกพล่าน

“แต่ผมชอบนะ มันเงียบดี ชอบตั้งแต่ครั้งแรกที่มาที่นี่ ห่างไกลผู้คน ห่างไกลความเจริญมาก ผมโชคดีมีเพื่อนขายที่ดินให้ 50 ไร่ ผมตัดสินใจซื้อเลย แล้วก็คิดว่ามีสวนก็ควรมีบ้าน อยากปลูกบ้านไว้พักผ่อน พื้นที่รกๆ ผมไม่ได้ตัดแต่งอะไรมาก แต่พื้นที่ตรงไหนว่าง ผมก็หาต้นไม้มาลงจนหมด แรกๆ ไปขอความรู้จากทางราชการ เรื่องการปลูกทุเรียน รู้สึกว่าหลายขั้นตอนมากกว่าจะลงปลูก ใช้เวลาปลูกต่อต้นนานมาก แล้วผมสั่งมาหลายสิบต้น ผมจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ สุดท้ายก็ต้องไปถามกับชาวบ้านที่ทำสวนละแวกนี้ ให้เขาสอน แล้วเขาก็มาช่วยลงปลูก”

จากป่ารกชัฏ ที่มีไม้หลายชนิดอยู่ในผืนดินเดียวกัน อาหนิงไม่ได้ตัดแต่งออก มีแต่ปลูกเพิ่มยังพื้นที่ว่าง แทรกเข้าไปให้ธรรมชาติดูแลธรรมชาติ จะมีเพิ่มก็เป็นไม้ผล ลิ้นจี่ ลำไย เงาะ ทุเรียน มังคุด ลางสาด ลองกอง กล้วย ไม้ยืนต้น และพืชอีกหลายชนิด

จาก 50 ไร่ ค่อยๆ ขยับขยายตามกาลเวลา ปัจจุบันราว 200 ไร่

การดูแลต้นไม้ในสวน อาหนิง เล่าว่า ให้เขาเติบโตของเขาเอง ถ้าจะมีก็บางอย่างที่ให้คนงานช่วยดู คนงานก็ไม่ใช่ใคร เป็นญาติของป้าเล็ก แม่บ้านที่คอยดูแลสวน ดูแลบ้าน เช่น ทุเรียน ต้องโยงลูก ตัดแต่งกิ่ง เก็บผลไม้ที่ถึงเวลาต้องเก็บ ส่วนตนเองหากกลับมาในช่วงฤดูของผลไม้ใด ก็จะนำติดไม้ติดมือไปฝากเพื่อนและผู้ใหญ่ที่เคารพเสมอ มีขายบ้างก็นิดหน่อย เป็นรายได้กลับมาพอจ่ายค่าจ้างให้กับป้าเล็กและคนงาน

“เคมีนี่ ผมไม่ใช้เลย ปล่อยให้เขาโตของเขาแบบนั้น ให้โตแบบรวมๆ ผสมผสานกันไป ธรรมชาติของต้นไม้เขาอยู่แบบผสมผสานกันโดยให้ธรรมชาติดูแลธรรมชาติ ผลผลิตที่ได้ก็ดี ไม่ได้แย่จนกินไม่ได้ แค่ผิวอาจจะไม่สวยแค่นั้น แต่รสชาติผมรับรองได้ ยิ่งทุเรียนที่ปลูกในอำเภอโป่งน้ำร้อนที่นี่ ถือว่าเป็นทุเรียนที่รสชาติดีที่สุดของจันทบุรีแล้ว”

ในวันที่เราเข้าไปยังสวนทองจันทร์ เป็นวันที่อาหนิงติดงานแสดง ร่วมเดินทางไปกับเราไม่ได้ แต่แนะนำให้รู้จักกับป้าเล็กผ่านทางโทรศัพท์ และให้ป้าเล็กออกมารับ

ที่สวนทองจันทร์ มี ป้าเล็ก ผู้หญิงวัย 50 ปีเศษ ซึ่งอาหนิง บอกว่า ป้าเล็กคือแม่บ้านที่คอยดูแลสวน ขี่รถจักรยานยนต์มารอรับปากซอยติดถนนใหญ่ เพราะทางเข้าไม่มีจุดสังเกตใดๆ และเป็นซอยเล็ก ที่ต้องเข้าซอยไปอีกหลายกิโลเมตร ไม่มีป้ายบอกทาง ซึ่งถ้าไม่คุ้นเคยโอกาสหลงมีสูง

เราไม่ได้ถามชื่อจริงป้าเล็ก แต่เรียกป้าเล็กตามที่อาหนิงเรียก

ป้าเล็กพาเดินดูต้นทุเรียน ที่อยู่บนเนินถัดจากตัวบ้านไปราว 30 เมตร ชี้ให้ดูผลทุเรียนที่ถูกโยงด้วยเชือกฟาง และไม้ยืนต้นอื่นๆ ที่อยู่โดยรอบ

ป้าเล็ก เล่าให้ฟังว่า คุณหนิงมาทีไร ก็จะอยู่เงียบๆ คนเดียว เดินดูต้นไม้ เล่นกับหมา ป้าก็ทำกับข้าวมาให้ มาทีไรชอบมานั่งมุมนี้เป็นเวลานานๆ (ชี้มือไปที่เก้าอี้เหล็กมีพนักพิงสีน้ำตาล) นั่งได้ทั้งวัน

ความเงียบของสวนที่นี่ สัมผัสได้ถึงความสงบ รู้สึกได้ถึงความเคลื่อนไหวของใบไม้

“ที่นี่คือบ้าน บ้านก็ต้องมาอยู่ มานอน เราไม่ได้คิดว่าเป็นบ้านพักตากอากาศเหมือนแบบคนอื่นเขา แต่เราคิดว่าคือบ้านที่อยู่อาศัยของเรา ความสุขที่พบค้นพบได้ตอนนี้ ก็คือบ้านแห่งนี้ บ้านที่เรียกได้ว่าเป็นจุดของความพอเพียงของผม ยังได้ทำงานที่ชอบ ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่รัก เมื่อต้องทำงานตามหน้าที่ก็ทำให้เรียบร้อย เสร็จจากงานก็ขับรถกลับมาบ้าน มาอยู่กับความสุขที่เราสร้างมันขึ้นมาได้ด้วยตัวของเราเอง”

วัย 75 ปี ของอาหนิง ไม่ได้แสดงความทรุดโทรมตามวัยแม้แต่น้อย อาหนิงให้สัมภาษณ์อย่างเป็นกันเอง น้ำเสียงและอารมณ์ขันที่แสดงออกมาทางสายตา ทำให้รู้ว่าผู้ชายสูงวัยคนนี้ พกอารมณ์ดีไว้ตลอดเวลา มีความร่าเริงในตัวเอง และอบอุ่นอย่างเหลือเชื่อ

แต่เมื่อเราถามป้าเล็ก เวลาอาหนิงโกรธเป็นอย่างไร ป้าเล็กยิ้ม ตอบแบบเรียบง่ายว่า เขาก็ดุนะ แต่เขาก็เงียบ เขาไม่พูดบ่อยหรอก เราจะรู้เอง

ณ เวลาที่เข้าไปยังสวนทองจันทร์ เป็นเวลาบ่ายแก่ๆ ค่อนไปทางเย็น ความร่มรื่นของต้นไม้ที่แย่งกันขึ้น เบียดบังช่องให้เล็กมากพอที่แดดส่องลงมาได้ไม่มาก หากเปรียบเวลานี้เป็นเวลากลางคืน สวนทองจันทร์ คงไม่ต่างจากป่า ที่นิ่งเงียบสนิท ได้ยินแม้กระทั่งเสียงใบไม้ไหว นึกไปถึงอาหนิง ยามที่กลับมาพักผ่อนที่บ้านในสวนทองจันทร์ เงียบๆ ตามแบบของความพอเพียงที่ต้องการ

และที่นี่ คือความสุขที่แท้จริง ของอาหนิง-นิรุตติ์ ศิริจรรยา

อาหนิง-นิรุตติ์ ศิริจรรยา จะมาเป็นแขกสุดพิเศษ ร่วมรับประทานมื้อค่ำอย่างใกล้ชิด และพาชมสวนทองจันทร์ อำเภอโป่งน้ำร้อน พร้อมเติมความสุขให้เห็นเมื่อเปลี่ยนบทบาทจากนักแสดงเป็นเกษตรกรในสวนทองจันทร์ได้อย่างไร ในวันที่ 26-28 พฤษภาคม 2566 สำรองที่นั่งได้ที่ 02-580-0021 ต่อ 2335 รับจำนวนจำกัด