มะพูด ผลไม้มงคลโบราณ เพาะขาย ทำรายได้เสริม

มะพูด เป็นผลไม้โบราณที่ค่อนข้างหาทานยากในปัจจุบัน ทำให้คนรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จักผลไม้ชนิดนี้ มะพูด มีชื่อท้องถิ่นที่หลากหลาย เช่น ไข่จระเข้ ตะพูด ส้มปอง ส้มม่วง (จันทบุรี), พะวาใบใหญ่ (จันทบุรี, ชลบุรี), ปะหูด (ภาคเหนือ), ปะหูด มะหูด (ภาคอีสาน), จำพูด มะพูด (ภาคกลาง), ตะพูด พะวา ประหูด ประโหด ประโฮด มะนู (เขมร) เป็นต้น

ต้นมะพูด เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 7-10 เมตร (บ้างว่ามีความสูงประมาณ 15 เมตร) เป็นไม้ทรงพุ่มแน่นทึบ ลำต้นตั้งตรง และอาจมีร่องรอยของแผลเป็น มีลักษณะเป็นปุ่มปมตะปุ่มตะป่ำ ซึ่งเกิดจากการหลุดร่วงของกิ่งก้านทั่วไป โดยจะแตกกิ่งก้านต่ำเป็นพุ่มโปร่ง ก้านจะแตกออกจากลำต้นค่อนข้างถี่

ผลอ่อนมะพูด สีเขียว
ผลมะพูดที่สุกแล้ว

และเปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเข้ม เรียบ และแตกเป็นร่องตื้นๆ ตามยาวของลำต้น เมื่อเปลือกต้นเกิดบาดแผล จะมียางสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองไหลซึมออกมา มีเขตการกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้น และตามชายห้วยหรือพื้นที่ริมน้ำในป่าเบญจพรรณ โดยจะพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ และในพื้นที่แถบชายแดนจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดศรีสะเกษ ส่วนในต่างประเทศสามารถพบได้ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา และประเทศบอร์เนียว เป็นต้น

มะพูดเป็นผลไม้โบราณที่ในอดีตชาวบ้านมักปลูกเป็นไม้ล้อมคู่บ้าน เพราะมีความเชื่อที่สื่อต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณว่า หากบ้านไหนปลูกมะพูด จะทำให้บ้านหลังนั้นเป็นคนมีวาทศิลป์ในการพูดจา ช่วยส่งเสริมการค้าหรือการงานที่ต้องติดต่อกับผู้คนให้ผ่านไปได้อย่างราบรื่น หรือหากเด็กที่ไม่ค่อยพูด เพียงแค่ได้ลองลิ้มรสชาติของผลมะพูด ก็จะสามารถทำให้เด็กคนนั้นพูดได้มากกว่าปกติ

คุณมัลลิกา พูลกิจวัฒนา (ขวา) และครอบครัว

คุณมัลลิกา พูลกิจวัฒนา อยู่ซอยสุเหร่าคลอง 1 ซอย 15 เขตคลองสามวา แขวงบางชัน กรุงเทพมหานคร แม่ค้าขายผลไม้ และพรรณไม้แปลกโบราณ คุณมัลลิกา กล่าวว่า เดิมทีตนเองเป็นคนที่ชื่นชอบผลไม้โบราณอยู่แล้ว ทำให้ได้รู้จักกับผลไม้โบราณหลายชนิดและด้วยเกิดเหตุการณ์ที่หลานเกิดมาแล้วเป็นคนไม่ค่อยพูด เลยลองนำผลมะพูดมาให้ลองทาน ปรากฏว่าหลานสามารถพูดได้มากขึ้นกว่าปกติ (ความเชื่อส่วนบุคคล) จึงได้นำต้นพันธุ์มะพูดจากสวนแห่งหนึ่ง มาทดลองปลูก และขยายพันธุ์

ใบมะพูด 

เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก โคนใบกว้างมนตัดตรง เว้าเล็กน้อย คล้ายกับรูปหัวใจและค่อยๆ สอบเรียวเล็กไปที่ปลายใบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-25 เมตร แผ่นใบมักเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบเหนียวและหนาคล้ายแผ่นหนัง หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน สีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีขนละเอียด แต่บางครั้งก็เกลี้ยง เมื่อแห้งเป็นสีเหลืองอมสีเทา ส่วนก้านใบสั้นย่นขรุขระยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และมีขนบางๆ ขึ้นปกคลุม

ผลมะพูดที่สุกแล้ว

ดอกมะพูด

ดอกออกเป็นช่อ ช่อละประมาณ 3-5 ดอก โดยจะออกดอกตามซอกใบ หรือตามแผลใบและตามกิ่งก้าน ดอกเป็นสีขาวอมเหลือง ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบซ้อนกันอยู่ ดอกมีลักษณะตูมเป็นรูปทรงกลม ส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม หนาและเป็นสีเหลืองอ่อน เมื่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร บานเป็นรูปถ้วยโถ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม

เนื้อมะพูดด้านใน

ผลมะพูด

ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือเป็นรูปไข่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 เซนติเมตร ผิวผลเรียบและเป็นมัน ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองสดอมสีส้ม เนื้อในผลเป็นสีเหลือง มีรสเปรี้ยวอมหวาน ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-5 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี สีน้ำตาล โดยจะติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม-เดือนมิถุนายน

การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์นิยมใช้ 2 วิธี คือ การเพาะด้วยเมล็ดและการปักชำ การเพาะพันธุ์ด้วยเมล็ดจะเลือกเมล็ดจากผลที่แก่จัด เมื่อนำเมล็ดมาล้างทำความสะอาดแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การเตรียมดิน ดินที่ใช้เป็นดินเพาะปลูกทั่วไปผสมกับแกลบและปุ๋ยคอก นำดินใส่ลงไปในกระถางปลูกประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ของกระถาง จากนั้นใส่เมล็ดที่เตรียมไว้ลงไป 1 เมล็ด และทำการใส่ดินกลบให้เต็มกระถาง

 

การให้น้ำ

การให้น้ำในช่วง 1 เดือนแรกของการปลูก ควรรดน้ำเช้า-เย็น เมื่อต้นกล้ามีอายุครบ 1-2 สัปดาห์ ก็จะมีต้นอ่อนงอกออกมาให้เห็น ต้นกล้าสามารถลงแปลงปลูกได้เมื่ออายุครบ 1 เดือน จากนั้นการรดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง ขึ้นกับสภาพอากาศในแต่ละวัน ไม่ควรปล่อยให้หน้าดินแห้ง เพราะต้นมะพูดชื่นชอบน้ำมาก เพราะเติบโตได้ดีในพื้นที่ติดน้ำ เช่น คลอง บึง แม่น้ำ

การให้ปุ๋ย

การใส่ปุ๋ยบำรุง สามารถใส่ปุ๋ยคอกได้ในทุก 15 วัน หรือ 1 เดือน เพื่อเพิ่มสารอาหารในดินให้ต้นเติบโตได้ดี ทั้งราก ใบ ลำต้น ส่งผลให้ติดดอกออกผลได้ดียิ่งขึ้น

ต้นมะพูดจะให้ผลผลิตเมื่อต้นมีอายุ 5 ปี แต่จะให้ผลผลิตที่ดกมากในปีที่ 6 โดยสายพันธุ์ของต้นมะพูดจะมีอยู่ 2 สายพันธุ์ ผู้คนนิยมเรียกกันว่า พันธุ์หวาน และพันธุ์เปรี้ยว โดยผลของพันธุ์หวาน จะมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว และผลของพันธุ์เปรี้ยวจะมีรสเปรี้ยวที่จัดมาก ต้องบอกเลยว่าเนื้อและรสชาติของทั้ง 2 สายพันธุ์ แตกต่างจากผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่ไม่สามารถเปรียบเทียบได้นอกจากจะได้ลองทานด้วยตัวเอง

มะพูดถือเป็นผลไม้แปลกโบราณที่มีความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาของผลมะพูดสูงถึง 100 บาทต่อกิโลกรัม และราคาต้นพันธุ์เริ่มต้นที่ 200 บาท

สำหรับท่านใดที่สนใจ ผลมะพูด ต้นพันธุ์มะพูด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณมัลลิกา พูลกิจวัฒนา โทรศัพท์ 063-078-9803 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก :  Navee Sutapradit