โปรตุเกส ยังใช้โควต้ากดเกษตรกร

วันก่อนเราพูดกันถึงเรื่องชาวสวนองุ่นในประเทศตูนิเซีย ประเทศทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา กำลังทุกข์หนัก เพราะองุ่นตายเกือบครึ่งจากความร้อนที่สูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำความเสียหายให้เกษตรกรรมองุ่น ต่อเนื่องไปถึงอุตสาหกรรมไวน์ ซึ่งเป็นผลผลิตหลักในแอฟริกาทางตอนเหนือไปจนถึงทวีปยุโรป ที่อยู่เหนือขึ้นไปหน่อยเดียว

วันนี้เราจะพูดถึงแหล่งปลูกองุ่นสำคัญกว่าใหญ่กว่า และอยู่ในยุโรป แต่เป็นยุโรปทางใต้สุด ที่ต่อเนื่องกับพื้นที่เหนือสุดของแอฟริกา เป็นภูมิภาคหลักของการปลูกองุ่นของโลก

องุ่นโปรตุเกส หนึ่งในผู้ผลิตองุ่นรายสำคัญของโลก กำลังเผชิญหน้ากับอันตรายที่อาจมีผลถึงความอยู่รอด มันไม่ใช่มาจากความร้อนของโลกเหมือนกรณีของตูนิเซีย แต่มาจากน้ำมือมนุษย์

มันมาจากกฎหมายที่พวกเขาบอกว่าล้าสมัย เก่าแก่เกินจะเอามาใช้กับโลกที่เปลี่ยนแปลงมากแล้ว

โปรตุเกสปลูกองุ่นตามขั้นบันไดบนหุบเขาสูงที่มีอากาศเย็นสบาย อย่างเช่นที่เมือง Douro ที่มีทั้งไร่องุ่นสุดลูกหูลูกตา เป็นแหล่งผลิตองุ่นสำคัญของประเทศ และเป็นท่าเรือส่งออกไวน์ของประเทศ เมืองนี้มีชื่อเสียงในหมู่คนดื่มไวน์ จะพากันเดินทางมาจากทั่วโลก โดยเฉพาะฤดูร้อนจะหนาแน่นเป็นพิเศษ

มันก็ควรจะดีไม่ใช่หรือ?

“แต่มันไม่ค่อยดีน่ะสิ” พอล ซิมมิงตัน หัวหน้าท่าเรือในเมืองนี้กล่าว เขาบอกว่าโปรตุเกสยังบังคับใช้กฎหมายที่มีมานับศตวรรษ กฎหมายเก่าแก่นี้กำลังเป็นอันตรายต่อหุบเขา Douro และไร่องุ่นทั้งหมด

ซิมมิงตัน บอกว่า เป็นเวลากว่าทศวรรษแล้วที่เขาและคนอื่นๆ พยายามโน้มน้าวรัฐบาลโปรตุเกสให้เลิกใช้กฎหมายคร่ำครึนี้เสียที ก่อนที่อุตสาหกรรมองุ่นและไวน์ของประเทศจะล้มหายตายจาก

หุบเขา Douro เป็นภูมิภาคไวน์เพียงแห่งเดียวในโปรตุเกสที่ยังคงใช้กฎหมายที่ออกโดยเผด็จการ อันโตนิโอ ซาลาซาร์ ซึ่งเสียชีวิตไปเกินครึ่งร้อยปีแล้ว เป็นกฎหมายที่ล้าสมัยอย่างสิ้นหวัง เช่น ยังคงควบคุมราคาและโควต้าส่งออกอย่างเข้มงวด บีบให้เกษตรกรต้องขายองุ่นต่ำกว่าทุน ทั้งที่โลกที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และยิ่งต้องมาเผชิญอัตราเงินเฟ้อซ้ำไปอีก พวกเขาก็วิกฤต

ในขณะที่ภูมิภาคอื่นไม่มีกฎหมายควบคุมในลักษณะนี้

ชาวเมือง Douro ต้องการให้มีคณะกรรมการที่ชาวไร่เข้าไปมีส่วนในการกำหนดกฎระเบียบ เช่นเดียวกับในภูมิภาคผลิตไวน์อื่นๆ ของโปรตุเกส

กลุ่มผู้ผลิตชั้นนำ 26 รายจากหุบเขานี้ และหุบเขา Sogrape และ Gran Cruz ซึ่งล้วนเป็นภูมิภาคผลิตไวน์ชั้นนำของโปรตุเกส ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อสื่อมวลชน ส่งเสียงไปถึงรัฐบาล ประณามที่ไม่ยอมปฏิรูปใดๆ “ผลกระทบมันไม่เพียงแค่ราคาองุ่นเท่านั้น แต่รวมถึงสังคม ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของเมือง และภูมิภาคไวน์ที่เก่าแก่และสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก” จดหมายมีผู้ลงนามกว่า 1,000 คน

พวกเขาบอกว่าอยู่ภายใต้กฎหมายที่กดทับอย่างนี้และยังอยู่รอดมาได้นับว่าอัศจรรย์แล้ว แต่จะไม่ยอมอีกต่อไป

ตอนนี้รัฐบาลโปรตุเกสเจอเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูป หรือพูดตรงๆ คือให้ยกเลิกกฎหมายนี้โดยด่วน ประธานาธิบดีสายอนุรักษ์นิยมของโปรตุเกส อย่าง มาร์เซโล เรเบโล เด โซซา ลงทุนเรียกร้องให้รัฐบาลสังคมนิยมของ อันโตนิโอ คอสตา นายกรัฐมนตรี ปฏิรูประบบนี้โดยด่วน

“อนาคตมีแต่เรื่องท้าทาย การหาคนมาทำงานในสวนองุ่นยากขึ้นทุกวันและต้นทุนก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เราต้องการกฎหมายที่ช่วยเหลือเราบ้าง” Bernardo Nápoles เจ้าของและผู้จัดการรุ่นที่สี่ของไร่องุ่น Quinta do Monte Travesso ในหุบเขา Douro บอก เขาบอกด้วยว่าตอนนี้ประชากรในท้องถิ่นลดลง 14 เปอร์เซ็นต์ในรอบ 10 ปี พากันย้ายถิ่นไปเสียมากเพราะมันอยู่ยากขึ้นทุกวัน

Douro เป็นพื้นที่ไร่องุ่นบนภูเขาสูงชันที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีต้นทุนสูงมาก และให้ผลตอบแทนต่ำมาก ดังนั้น จึงต้องการการประคับประคองอย่างมาก

เพราะแม้ปลายทางมันจะคือไวน์ ที่ถูกมองว่าเป็นเครื่องดื่มราคาแพง แต่เบื้องหลังคือเกษตรกรตัวเล็กตัวน้อยที่ทำมาหากินเยี่ยงนี้มาหลายชั่วอายุคน