สัมมนาส่งท้ายปี “อนาคตเกษตรไทยในยุคดิจิทัล” คนร่วมงานทะลัก ฟังช่องทางสินค้าเกษตรบนโลกออนไลน์โอกาสเติบโตสูง

ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามสำหรับงานสัมมนา “อนาคตเกษตรไทยในยุคดิจิทัล” ที่จัดโดยเทคโนโลยีชาวบ้าน ในเครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) งานสัมมนาสุดยิ่งใหญ่ส่งท้ายปี ที่อัดแน่นไปด้วยสาระความรู้ที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรไทยสามารถนำไปปรับใช้ และสร้างโอกาสเติบโตในการประกอบอาชีพได้อย่างแท้จริง

เวทีนี้เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางการปรับตัวของเกษตรกรในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับภาคเกษตรกรรมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งได้รับเกียรติจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรมากความสามารถมาร่วมแชร์ประสบการณ์เพื่อให้ความรู้กับการผลิตสินค้าทางการเกษตรให้มีอนาคตในยุคดิจิทัล

เริ่มต้นด้วยการบรรยายพิเศษ “อนาคตเกษตรกรไทยในยุคดิจิทัล” โดยนายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวบรรยายพิเศษว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐบาล โดยการนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสินค้าเกษตรซึ่งเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจประเทศ โดยมุ่งเน้นการดำเนินการตามหลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เริ่มตั้งแต่การสร้างทางเลือกให้เกษตรกรเพื่อผลิตสิ่งที่ตลาดต้องการ พร้อมเปิดตลาดใหม่เพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าให้เกษตรกร การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างความแม่นยำในการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มจำนวนและคุณภาพของผลผลิต และการสร้างระบบประกันราคาสินค้าเกษตรล่วงหน้า เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกรด้วยการให้ราคาผลผลิตที่เหมาะสม

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในยุคของการเปลี่ยนแปลง วิถีชีวิตของเกษตรกรก็ต้องสลับไปตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลง ทั้งในเรื่องสภาพอากาศที่มีความเปลี่ยนแปลง ภัยธรรมชาติ เศรษฐกิจ สงครามการค้า ฉะนั้นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เกษตรกรในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องต่อความต้องการของโลกเช่นเดียวกัน รวมถึงทางรัฐบาลก็พยายามที่จะเข้าสนับสนุนอาชีพของเกษตรกร ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยเฉพาะในเรื่องของการผลิต ที่จะมีในเรื่องการวิเคราะห์ตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ในเรื่องการผลิตเพื่อการปริมาณก็ต้องกลับมาทบทวน เพราขณะนี้กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาสินค้าล้นตลาดและปัญหาต่างๆ มากมาย การผลิตจึงต้องมุ่งเน้นเรื่องตลาดเป็นหลัก และสามารถใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัย ให้เข้ามามีส่วนในการทำให้ภาคการเกษตร ให้สอดรับในเรื่องของการเพิ่มผลผลิต เพื่อประสิทธิภาพตลอดไปจนถึงการจำหน่ายไปยังต่างประเทศ

ต่อด้วย Session influencer Marketing โดยคุณอรรถกร เอี่ยมเจริญ เจ้าของเพจมนทรีสวนป่า จังหวัดราชบุรี จากพนักงานหนุ่มออฟฟิศทำงานเอเจนซี่โฆษณามา 5 ปี ผันตัวมาทำอาชีพเกษตรกรรมขายต้นไม้ออนไลน์ ขยับขยายช่องทางการตลาดออนไลน์ด้วยตัวเอง จนเติบโตเป็นธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ สร้างรายได้ช่วงโควิด-19 กว่า 30 ล้านบาทต่อปี  ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในหัวข้อ “ขายง่าย ด้วยปลายนิ้ว” ด้วยการแบ่งปันแนวคิดการสร้างธุรกิจเกษตรออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จ ด้วยหลักการการวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน สถานการณ์ ฉลาดทำ ก็จะทำให้เหนื่อยน้อยลง และมีเวลามากขึ้น ต่อด้วยหลักการการสังเคราะห์ เมื่อทุกอย่างผ่านการคิดมาทั้งหมดแล้ว ก็จะทำให้ทำน้อยลง สามารถลดภาระผูกพัน ทำองค์กรให้ปรับตัวได้ไวที่สุด และปิดท้ายด้วยหลักการการสะเดาะเคราะห์ทางธุรกิจ

ในช่วงท้ายของเวทีเสวนา เป็นวงเสวนาในหัวข้อ “สินค้าเกษตรแบบไหน ที่ตลาดต้องการ” โดยคุณอภิวัฒน์สุขพันธ์ ผู้อำนวยการสายงานบริหารพื้นที่ ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดค้าส่งผักผลไม้ของสดชั้นนำของเอเชีย กล่าวว่า สำหรับสินค้าการเกษตรที่ตลาดต้องการ มี 4 ข้อสั้นๆ จำง่ายๆ คือ “ครบถ้วน หลากหลาย มีมาตรฐาน ราคายุติธรรม” ทั้ง 4 ข้อนี่สำคัญมากๆ ในการผลิตสินค้าเกษตร แต่ทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมานี้ก็ยังไม่ใช้ทั้งหมดของการทำตลาดให้สำเร็จ เนื่องจากยุคที่เปลี่ยนแปลงไป รูปแบบของการตลาดออนไลน์มีบทบาทมากขึ้น ตลาดสี่มุมเมืองในฐานะที่เป็นตลาดต้นแบบของตลาดค้าส่งผักผลไม้ของสดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอด 40 ปี จะไม่ยอมตกขบวนแน่นอน

“กลับมาถึงการปรับตัวของตลาดเอง ณ ปัจจุบันออนไลน์ก็มีเทรนด์ ซึ่งเราก็คงไม่ตกขบวนอยู่แล้ว เราก็ตอบรับในเรื่องของออนไลน์ โดยปัจจุบันตลาดสี่มุมเมืองก็พยายามพัฒนาในเรื่องของช่องทางออนไลน์ขึ้นมา เรามีแม่ค้าอยู่ประมาณ 4,000 แผงค้า ในสี่มุมเมือง เราก็พยายามเชิญชวนทุกคนในตลาดนำสินค้าของตัวเองขึ้นออนไลน์ โดยอ้างอิงตามคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า สำคัญไปกว่านั้นคือสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้”

คุณอภิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันยอดขายในตลาดออนไลน์ของตลาดสี่มุมเมืองมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผักและผลไม้ รวมถึงรายการสินค้าประเภทอื่นๆ เพิ่มขึ้นทุกวัน จาก 20 รายการ เพิ่มขึ้นมาเกือบ 1,000 รายการ ยอดขายถ้าเป็นเม็ดเงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดออฟไลน์ก็ยังคงดำเนินกิจการได้ดีอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ด้านคุณกุลพิพิทย์ จันทร์บวย ผู้อำนวยการกองส่งเสริมมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พูดถึงเรื่องการทำสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค และให้ตอบโจทย์มาตรฐานของสินค้าที่ดี คุณกุลพิพิทย์แนะนำว่า ในยุคปัจจุบันสินค้าต้องปัง และต้องตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้ เพราะเด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านของตลาดที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับมาตรฐานของสินค้าเพิ่มมากขึ้น และผู้บริโภคจะรู้ได้อย่างไรว่าสินค้าทางการเกษตรได้ผ่านการรองรับมาตรฐาน ซึ่งคำตอบของเรื่องนี้คือ “เครื่องหมาย” ที่เป็นตัวการันตีว่าสินค้านั้นได้คุณภาพ ซึ่ง GI หรือ Organic โดยเฉพาะสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ทำให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี และเป็นสินค้าที่ขายดีเป็นที่ต้องการของตลาด เป็นสินค้าที่ไม่ได้ใช้สารเคมีในการเพาะปลูก เมื่อมีการขายสินค้าโดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ “ผู้ซื้อ” หรือ “ผู้บริโภค” ก็จะมีคำถามว่า “แล้วสินค้านี้ได้มาตรฐานหรือไม่” ในส่วนนี้คุณกุลพิพิทย์บอกว่า “ผู้ผลิตที่เป็นต้นน้ำ หรือเกษตรกรของเราก็ GIP หรือ เกษตรปลอดภัยนะคะ เกษตรปลอดภัยใช้สารเคมีได้ แต่ต้องใช้ในขนาดที่เหมาะสม และต้องไม่ตกค้างถึงพูดบริโภค”

ทั้งนี้ คุณกุลพิพิทย์ยังแนะนำให้ผู้บริโภคตรวจเช็กสินค้า และสังเกตเครื่องหมายที่ได้รับการรองรับจากกองส่งเสริมมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เพื่อให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าที่ได้รับการตรวจสอบว่าปลอดภัยแล้วนั่นเอง

คุณวรรณพร บัณฑิตภูวนนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาสหกรณ์การเกษตร 2 กรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวในหัวข้อ “สินค้าเกษตรแบบไหน ที่ตลาดต้องการ” ว่า นโยบายของกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ให้ความสำคัญด้านสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภค มีการดูแลเกษตรกรทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยทางกรมจะเข้าไปเติมเต็มในด้านของความรู้จากหน่วยงานต่างๆ ให้ผู้ผลิตได้มีการผลิตของที่ดี มีคุณภาพที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคหรือตลาดมากที่สุด ต้นน้ำมาจากผลไม้ที่มีคุณภาพจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการส่งออก แต่สินค้าที่ตกเกรดที่ไปไหนไม่ได้ล้นตลาดคือปัญหาที่สำคัญที่ต้องแก้ไขจะเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนเรื่องของต้นน้ำ ส่วนกลางน้ำจะให้สหกรณ์พยายามขับเคลื่อนทั่วประเทศ ในการที่เป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตของชุมชน ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเติมเต็มในเรื่องของเงินทุนและอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงบูรณาการจากหน่วยงานต่างๆ ที่จะทำให้สินค้าจากต้นทางขนส่งไปให้ผู้บริโภคได้ดีที่สุด และท้ายสุดปลายน้ำ ขับเคลื่อนด้วยหลายๆ ช่องทางไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการเอง ส่วนหนึ่งไป Modern Trade ส่วนหนึ่งส่งออกพ่อค้าส่งออก ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบส่งเสริม รับรองตามมาตรฐาน สินค้าที่ดีต้องมีการผลิตที่ดี

โดยกิจกรรมทั้งหมดนี้ ผู้ที่เข้าร่วมฟังสัมมนาในครั้งนี้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปลงมือปฏิบัติได้จริง เพื่อพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพ พัฒนาศักยภาพของผลผลิต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในยุคดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ส่วนท่านใดที่พลาด! สามารถรับชมงานย้อนหลัง ได้ที่ https://fb.watch/odyDlO3-MB/