‘ไก่งวงตักสิลา’ พรีเมียม เลี้ยงง่าย-สร้างรายได้งาม เมนูแซ่บนัว ‘เมืองสารคาม’

ไก่งวง เป็นสัตว์ปีกจัดอยู่ในวงไก่ฟ้าและนกกระทาในต่างประเทศชาวคริสส์นิยมรับประทานในวันขอบคุณพระเจ้า ไก่งวงมีขนาดใหญ่กว่าไก่ทั่วไปหน้าตาผิดแผกไปจากไก่พื้นบ้าน ปัจจุบันมีการส่งเสริมการเลี้ยงไก่งวงในภาคอีสาน ว่ากันว่า เริ่มแรกไก่งวงเข้ามาในประเทศไทยโดยทหารอเมริกันเข้ามาประจำในฐานทัพที่ จ.อุดรธานี และ จ.นครราชสีมา กระทั่งปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์นำมาเลี้ยงสร้างรายได้มี 3 สายพันธุ์หลัก คือ พันธุ์เบลท์สวิลล์ สมอล ไวท์ (Beltsville Small White) พันธุ์อเมริกัน บรอนซ์ (American Bronze) และไก่งวงลูกผสม (Crossbred) ที่จังหวัดมหาสารคามได้รับการผลักดันส่งเสริมจากอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด โชคชัย เดชอมรธัญ” ตั้งแต่ก่อนโยกย้ายไปประจำจังหวัดภูเก็ตปรากฏว่าไก่งวงจากมหาสารคามได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งยังได้รับการพัฒนาแม่พันธุ์ภายในชื่อใหม่ “ไก่งวงเมืองตักสิลา” ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงมีรายได้เพิ่มขึ้น จนสามารถจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตามมา

ปัจจุบัน จังหวัดมหาสารคาม ถือเป็นแหล่งผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่งวงที่ดีที่สุดของประเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนและวางแผนการเลี้ยงจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการปศุสัตว์ที่ 4 ใช้ชื่อ “ไก่งวงเมืองตักสิลา” เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดมหาสารคาม โดยการเลี้ยง เน้นวิถีธรรมชาติ เนื้อของไก่งวงจะมีสีแดงน่ารับประทาน ที่สำคัญไก่งวงมีขนาดใหญ่กว่าไก่พื้นบ้าน ไก่งวง 1 ตัวสามารถประกอบอาหารได้หลายอย่าง ทั้งราคาขายถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูง นอกจากนำมาเป็นอาหารแล้ว ยังสามารถเลี้ยงเพื่อความสวยงามด้วย จากการสำรวจพบรูปแบบการเลี้ยงไก่งวง 6 ตัวที่ประกอบด้วยพ่อพันธุ์ 1 ตัว และแม่พันธุ์ 5 ตัว ภายใต้ระบบการจัดการและใช้อาหารในระบบธรรมชาติ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 3,850 บาทต่อเดือน หรือ 46,200 บาทต่อปี หรือมีต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ย 325 บาทต่อตัว ขณะที่สามารถจำหน่ายในราคาเฉลี่ย 720 บาทต่อตัว

โชคชัย เดชอมรธัญ อดีตผู้ว่าฯ กล่าวว่า ไก่งวง เป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อส่งขายไก่งวงไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่สำคัญคือ การเลี้ยงไก่งวงไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่เปรียบเทียบกับการทำปศุสัตว์ชนิดอื่นๆ ทำให้ไก่งวงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งได้เป็นอย่างดี

ชัชวาล ประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการปศุสัตว์ที่ 4 กล่าวว่า ไก่งวงถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจทางเลือกให้เกษตรกร เพราะนอกจากให้ผลผลิตเนื้อคุณภาพดี มีโปรตีนสูง และคอเลสเตอรอลต่ำแล้ว ยังสามารถปรุงอาหารได้เช่นเดียวกับเนื้อไก่เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคเฉพาะที่มีกำลังซื้อสูง (Niche Market) ที่สำคัญไก่งวง เป็นสัตว์เลี้ยงง่ายสามารถปล่อยให้หาอาหารกินตามธรรมชาติได้ สามารถกินพืชหรือวัสดุในท้องถิ่นได้หลากหลาย เช่น ผักตบชวา หญ้า และเศษพืชผักสวนครัว เป็นต้น

“ศูนย์วิจัยสำนักงานปศุสัตว์ที่ 4 ได้ส่งเสริม พัฒนาอาชีพการเลี้ยงไก่งวงในระบบปล่อยเลี้ยงอิสระ (Free-range system) ซึ่งเป็นระบบการเลี้ยงดูที่ทำให้ไก่มีความเป็นอยู่อย่างธรรมชาติ ร่วมกับการจัดการสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่ดี สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานการเลี้ยงสัตว์ปีกอินทรีย์ ช่วยทำให้ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มสูงขึ้น และช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตไก่งววงที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดที่เป็นฐานการผลิตและแปรรูปผลผลิตด้ารการเกษตร เพื่อสร้างความมั่นคงให้อุตสาหรรมเกษตรอาหารและพลังงานทดแทนของเทศ ประชาชชนอยู่ดีมีสุขในสังคมคุณภาพ

335

จังหวัดมหาสารคามมีเกษตรกรเลี้ยงไก่งวง 214 ราย มีปริมาณไก่งวงรวม 3,631 ตัว กระจายอยู่ในพื้นที่ 10 อำเภอ คือ เมืองมหาสารคาม กุดรัง พยัคฆภูมิพิสัย กันทรวิชัย โกสมพิสัย ชื่นชม วาปีปทุม แกดำ ยางสี สุราช และ อ.บรบือ แบ่งเป็นไก่งวงสายพันธุ์ 303 ตัว แม่พันธุ์ 1,220 ตัว และขนาดอื่นๆ 2,108 ตัว ประมาณการผลิตไก่งวงในพื้นที่ จากแม่พันธุ์ 1,220 ตัว ในหนึ่งปีจะออกไข่ 3 รุ่น รุ่นละ 14 ฟอง อัตราการฟัก 78% คิดเป็น 42,822 ตัวต่อปี อัตราการตาย 5% คิดเป็น 2,141 ตัว คงเหลือ 40,822 ตัวต่อปี สามารถจำหน่ายลูกไก่งวงอายุ 8 สัปดาห์ ได้ราคาตัวละ 200 บาท คิดเป็นเงิน 8,136,200 บาท หักต้นทุนตัวละ 89.88 บาท จะมีกำไรจากการขายลูกได่งวง 4,479,792 บาท ซึ่งในกรณีที่ไม่ต้องการลูกได่ สามารถนำไข่มาประกอบอาหารหรือจำหน่ายได้อีก ซึ่งไก่งวงจะมีอายุพร้อมขายได้ระยะ 7-8 เดือน น้ำหนักตัวเฉลี่ยตัวละประมาณ 5 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 150 บาท”

ปัจจุบัน ไก่งวงสามารถนำมาแปรรูปได้หลากหลายเมนู เช่น ไก่งวงรมควัน ลาบไก่งวง สเต็กไก่งวง ก๋วยเตี๋ยวไก่งวง ซึ่งจังหวัดมหาสารคามได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีชื่อเสียงในจังหวัด ใช้เนื้อไก่งวงเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารจำหน่ายให้กับลูกค้า โดยจังหวัดได้มีการมอบป้ายประชาสัมพันธ์ร้านอาหาร Q ให้ผู้ประกอบการร้านอาหารที่สนับสนุนการใช้เนื้อและผลิตภัณฑ์ไก่งวง เพื่อประชาสัมพันธ์ร้านอาหารที่ผ่านการรับรอง โดยเลือกใช้วัตถุดิบจากสินค้า Q หรือจากฟาร์ม GAP ที่มีความปลอดภัย หรือใช้ผลผลิตที่เกิดจากผู้ผลิตรับรองว่าผลิตโดยไม่ใช้สารเคมีเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด สำหรับร้านที่ผ่านการรับรองจากการเลือกใช้วัตถุดิบจากสินค้า Q ประเภทเมนูไก่งวง ได้แก่ ร้านกำชัย ร้านครัวบุญมี สาขา 1 และ สาขา 2 ร้านเฮือนพาแซ่บ ร้านครัวเฟื่องฟ้า ร้านบ้านร้อยดวงใจ ร้านอาหารศิลาดล และสถาบันสอนการประกอบอาหารไทยและยุโรป คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมมหาวิทยาลัยมหาสารคามร้านโมบายสเต็ก ฯลฯ

ผอ.ชัชวาลยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ศูนย์พร้อมเป็นหน่วยงานให้ความรู้ข้อแนะนำแก่เกษตรกรที่สนใจ โดยสามารถติดต่อขอคำแนะนำได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการปศุสัตว์ที่ 4 กองส่งเสริมและพัฒนาการสัตว์ กรมปศุสัตว์ ถนนมหาสารคามวาปีปทุม ต.แวงน่าง อ.เมือง จ.มหาสารคาม โทรสอบถามที่ 0-4377-7600 หรือหากประชาชนสนใจชิมรสชาติ “ไก่งวงตักสิลา” หรือต้องการซื้อบริโภค สามารถเข้ามาเลือกซื้อได้ที่ร้าน Q-Shop ตั้งอยู่ติดถนนบริเวณเดียวกับที่ตั้งสำนักงาน นอกจากมีไก่งวงเกรดพรีเมี่ยมแล้วยังมีสินค้าเกษตรหลากหลายชนิด เช่น ไข่ไก่ ไข่เป็ด ผัก ผลไม้ตามฤดูกาล และข้าวหอมมะลิ ผลผลิตทางการเกษตรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัย