ปลูกพืชแซม เลี้ยงสัตว์ ในสวนปาล์ม ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ดีกว่าอาชีพหลัก

สวนปาล์ม ของคุณสมหวิง

เมื่อเร็วๆ นี้ “กรมส่งเสริมการเกษตร” พาสื่อมวลชนบุกพิสูจน์ผลการดำเนินงาน “ศูนย์การเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร” (ศพก.) ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิตสวนปาล์ม

คุณสงกรานต์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เล่าว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมีพันธกิจสำคัญคือ การส่งเสริมพัฒนาเกษตรกร ครอบครัวเกษตรกร องค์กรเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีขีดความสามารถในการผลิตและการจัดการสินค้าเกษตรตามความต้องการของตลาด ซึ่งจังหวัดกระบี่ เป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของการดำเนินงาน เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในระดับโลกแล้ว ยังเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน โดยที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เข้าไปดำเนินกิจกรรมพัฒนาเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรผ่านโครงการต่างๆ อย่างหลากหลาย และมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมัน การส่งเสริมอาชีพ การส่งเสริมการตลาด การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้เพิ่มเติมประสิทธิภาพสูงสุดต่อการดำเนินงาน รวมทั้งเป็นการเผยแพร่กิจกรรมของเกษตรกรในพื้นที่

คุณสมหวิง หนูศิริ เกษตรกรต้นแบบ
คุณสมหวิง หนูศิริ เกษตรกรต้นแบบ

คุณสมหวิง หนูศิริ เกษตรกรต้นแบบเจ้าของศูนย์ ตั้งอยู่ที่ 261 หมู่ที่ 3 บ้านทุ่งทับควาย ตำบลทุ่งไทรทอง อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ เป็นต้นแบบในการเรียนรู้ของชุมชนในการจัดการสวนปาล์มน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินการในลักษณะการทำเกษตรแบบผสมผสานมีกิจกรรมหลากหลาย ปลูกปาล์มน้ำมันเป็นพืชหลัก ปลูกพืชแซม เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลาในบ่อซีเมนต์ เพาะเห็ด การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากมูลสัตว์และเศษวัสดุเหลือใช้จากในแปลงทำปุ๋ยหมัก ร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมี

คุณสมหวิง กล่าวว่า การปลูกปาล์มน้ำมันที่ดีต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ และทำความเข้าใจในการปลูก เกษตรกรจะปลูกอย่างเดียวไม่ได้ เพราะในปัจจุบันไม่เหมือนเมื่อก่อน ต้นทุนการผลิตสูง ทีนี้เกษตรกรจะปลูกต้องคำนึงถึงพื้นที่ การปลูกปาล์มน้ำมันไม่ได้เหมาะกับทุกพื้นที่ แต่ทางภาคใต้แล้วถือว่าเหมาะกับการปลูกปาล์มน้ำมัน

วิธีการปลูก

หลังจากการเตรียมดิน แนะให้ปลูกแบบใหม่ ก่อนหน้านี้ จะปลูกให้มีระยะห่างระหว่างต้น ระหว่างแถว 9×9 เมตร หรือ 8×8 เมตร ซึ่งจะได้จำนวนต้นเยอะ แต่ผลผลิตน้อย ปัจจุบัน แนะให้ปลูกระยะห่างระหว่างต้น ระหว่างแถว 10×10 เมตร วางแนวให้ได้รับแสงแดด เพราะแสงแดดจะทำให้ปาล์มออกลูกได้มาก วิธีนี้ได้ทะลายน้อยก็จริง แต่ได้ผลผลิตมาก ลูกดก ช่วยประหยัดแรงงาน เกษตรกรเจ้าของสวนปาล์มก็สามารถทำเองได้

ปลูกปาล์ม ต้องยึดหลักพันธุ์ปาล์ม เป็นหัวใจสำคัญ

คุณสมหวิง บอกว่า เมื่อก่อนเกษตรกรนิยมปลูกปาล์มพันธุ์ไต้หวัน ไปเก็บใต้โคนต้นมาปลูก ด้วยความไม่เข้าใจของเกษตรกรจึงส่งผลทำให้ไม่ได้ผลผลิตดีเท่าที่ควร จึงทำความเข้าใจใหม่ว่าการปลูกปาล์มให้ได้ผลดีต้องมีพันธุ์ปาล์มที่ดี บุคคลที่จะขยายพันธุ์ปาล์มต้องมีหนังสือรับรองจากกรมวิชาการเกษตร ทีนี้เกษตรกรได้ปาล์มที่ดีมาปลูก เมื่อเกษตรกรเข้าใจเรื่องพันธุ์ปาล์มแล้ว เข้าใจเกี่ยวกับการดูแล ทางศูนย์เราก็พยายามแนะนำให้ใช้เชื้อไตรโคเดอร์มาร่วมกับปุ๋ยหมัก รองก้นหลุมก่อนปลูก นี่คือ ตัวหลักคือเราต้องป้องกันตั้งแต่ ที่ดิน 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 22 ต้น ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ

ปลูกปาล์มแบบลดต้นทุนการผลิต

สวนของคุณสมหวิงมีวิธีลดต้นทุน ดังนี้

  1. เน้นที่การเลี้ยงสัตว์ในสวนปาล์ม เพราะสัตว์ช่วยถางสวนให้ ลดสารเคมี ใช้มูลเป็นปุ๋ย
  2. ทำปุ๋ยหมักมาใส่ต้นปาล์ม ทำค่าวิเคราะห์ดินและใบปาล์มน้ำมัน เพื่อใส่ปุ๋ยชีวภาพตามค่าวิเคราะห์ดิน ลดปุ๋ยเคมีลง ต้นทุนการผลิตก็ลดลงด้วย

7

เลี้ยงแพะ
เลี้ยงแพะ
สาธิตการทำปุ๋ย
สาธิตการทำปุ๋ย

ปลูกพืชแซมในสวนปาล์ม

ช่วงแรกเกษตรกรก็ไม่เข้าใจในการปลูกพืชแซมในสวนยาง โดยเฉพาะภาครัฐเมื่อก่อนไม่ให้ปลูก ให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไม่ให้ปลูกพืชแซม เพราะเป็นนโยบายของภาครัฐให้ทำลายพืชชนิดอื่นเหลือพื้นที่เปล่าๆ แต่เมื่อโครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้ามาสู่ชุมชนจะเห็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะโยงถึงชาวสวน ทำให้ชาวสวนเกิดแนวคิดว่า จะมานั่งทำสวนเชิงเดี่ยวไม่ได้แล้ว ต้องหารายได้เสริมเพื่อแก้ปัญหายามปาล์มน้ำมันราคาตกในช่วงฤดูแล้ง ต้องหาอาชีพเสริมเข้ามาใส่ คราวนี้ก็มาคิดว่าในสวนปาล์มสามารถปลูกอะไรได้บ้าง จึงศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม จึงได้รู้ว่าในสวนปาล์มสามารถเลี้ยงสัตว์ ทำประมง ปลูกพืชผักก็ได้ ซึ่งทุกวันนี้รายได้หลักน้อยกว่ารายได้เสริม

เลี้ยงกบในวงบ่อซีเมนต์
เลี้ยงกบในวงบ่อซีเมนต์
สวนปาล์ม ของคุณสมหวิง
สวนปาล์ม ของคุณสมหวิง

สำหรับท่านที่อยากทราบรายละเอียดการทำสวนปาล์มเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ตำบลทุ่งไทรทอง อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ เบอร์ติดต่อ (087) 279-3557