โลกขานรับ ศก.พอเพียง

ย้อนไปเมื่อ 26 พฤษภาคม 2540 “โคฟี อันนัน” เลขาธิการสหประชาชาติน้อมเกล้าฯ ถวายรางวัลพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นแด่ในหลวงของเราที่พระองค์ทรงช่วยพัฒนาคนไทยให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประกาศบนเวทีโลก และได้น้อมนำไปประยุกต์ใช้เป็นต้นแบบกับประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ทั่วโลกให้พ้นความยากจน

ขณะเดียวกันเมื่อหลายปีก่อน “สถาบันไทยพัฒน์” เคยสัมภาษณ์บุคคลสำคัญของต่างประเทศถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างน่าสนใจ ขอหยิบยกมาบางท่านเท่านั้น

“วูล์ฟกัง ซักส์” จากเยอรมนี

“หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับทุกประเทศในขณะนี้ และมีแนวคิดผลักดันปรัชญาให้เป็นที่รู้จักในเยอรมนี เพราะเศรษฐกิจพอเพียงกับความยั่งยืนเป็นเรื่องเดียวกันและยังเป็นแนวทางที่ยุโรปคุ้นกันอยู่แล้ว หลักปรัชญาไม่ได้บอกให้ทิ้งเทคโนโลยี แต่ให้เลือกที่ความเหมาะสมและเทคโนโลยีให้เหมาะกับงาน อย่าตกอยู่ในกับดักของความสะดวกสบายจนเกินไป เพราะเป็นเช่นนั้น ทุกคนก็ต้องใช้พลังงานมากขึ้นตามไปด้วย

“อมาตยา เซน” แห่งอินเดีย ระบุว่า “แนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีเรื่องของมุมมองการตัดสินใจเป็นหัวใจสำคัญ เพราะเมื่อหลายคนผิดหวังจากเศรษฐกิจกระแสหลัก ก็มักมองหาหลักการด้านอื่น แต่เศรษฐกิจพอเพียงกลับเป็นการใช้สิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพและใช้โอกาสให้พอเพียงกับชีวิตที่ดี ความพอเพียงในทัศนคตินี้จึงไม่ได้หมายถึงความไม่ต้องการ แต่ต้องรู้จักใช้ชีวิตให้ดีพอ อย่าให้ความสำคัญกับเรื่องรายได้ และความร่ำรวย ให้มองที่คุณค่าชีวิตมนุษย์ ไม่ได้หมายถึงไม่ต้องการอีกแล้ว แต่หมายถึงต้องมีพอเพียงที่จะอยู่ได้”

“วิมาลา วีระรัคควาน” อินเดีย

“เมื่อครั้งยังเป็นเด็กในครอบครัวสอนว่า จงพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ การมีสิ่งที่มากกว่าความจำเป็น ทำให้เราอยากได้ไม่สิ้นสุด ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียงน่าจะเป็นหนทางนำไปสู่ความพอดีได้ และเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เราคิดว่าจะทำอะไรให้กับสังคมและผู้อื่น โดยที่ไม่เก็บสะสมทุกอย่างเข้าตัวเองคนเดียว และเห็นว่าทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงน่าจะเป็นทางออกในยุคนี้ด้วย”

นี่คือมุมมองของนักคิดสำคัญของโลกที่มีต่อเศรษฐกิจพอเพียง คือทางออกจากวิกฤต

 

ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันเสาร์ที่ 22 ตุลามคม พ.ศ.2559