อดีต ผอ.ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ปลูกผักสลัดระบบดิน ต้นทุนต่ำ ผลผลิตดี ขายแค่ตลาดในท้องถิ่นก็ไม่พอขายแล้ว

ผักสลัดเป็นผักที่ดูทันสมัย น่าบริโภค เหมาะกับคนรุ่นใหม่ จะเห็นได้ว่ามีการตั้งสลัดบาร์จำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า หรือร้านอาหารแฟรนไชน์ยี่ห้อต่างประเทศแทบทุกแห่ง ผักสลัดมีสีสันฉูดฉาด เป็นสิ่งที่ดึงดูดให้หยิบจับ อีกประการหนึ่งก็คือ มีการตกแต่งสลัดบาร์อย่างมีระเบียบสวยงาม เป็นที่พอใจแก่ลูกค้า และสลัดก็เป็นอาหารสุขภาพสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนัก

อาจารย์สงบ เพียรทำดี เรียนจบจากวิทยาลัยเกษตรบางพระ ได้วุฒิ ปมก.(ประโยคครูมัธยมเกษตรกรรม เทียบเท่าอนุปริญญา) ในปี พ.ศ.2515 หลังจากนั้นจึงได้บรรจุเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยเกษตรสิงห์บุรี สอนทางด้านสัตวศาสตร์ โคเนื้อโคนม ต่อมาได้ลาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาคุรุศาสตร์เกษตร และในปี พ.ศ.2535 ได้ย้ายมาเป็นผู้ประสานงานฝึกอบรมศิลปชีพภาคเกษตรกรรมที่ศูนย์ศิลปชีพบางไทร ด้วยความร่วมมือของกรมอาชีวะศึกษา สปก.และศูนย์ศิลปาชีพบางไทร

อาจารย์สงบ เพียรทำดี
อาจารย์สงบ เพียรทำดี

ต่อมาในปี พ.ศ.2538 กรมอาชีวะศึกษาได้จัดตั้งเป็นวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศูนย์ศิลปาชีพบางไทย จึงได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรก ซึ่งทางวิทยาลัยฯ มีชื่อเสียงในการผลิตผักไฮโดรโปรนิคส์ในเชิงการค้า สามารถประกอบธุรกิจจนมีผลกำไรเพียงพอที่จะนำเงินมาสนับสนุนกิจการศึกษาของวิทยาลัยฯ ได้

อาจารย์สงบลาออกก่อนเกษียน 1 ปี เมื่อปี พ.ศ.2552 แต่ก่อนที่จะลาออก อาจารย์สงบได้ทดลองปลูกผักสลัดที่บ้านในจังหวัดปทุมธานีบนพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ แต่ผลผลิตที่ได้ไม่ค่อยมีคุณภาพ จึงต้องหาที่ดินผืนใหม่ จนกระทั่งมาได้ที่ดินเนื้อที่เกือบห้าสิบไร่ในอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เนื่องจากมีความคุ้นเคยตอนที่ได้มาศึกษาเรื่องโคนมที่นี่ เดิมที่ดินแปลงนี้ถูกปล่อยรกร้างมาหลายปีจึงต้องทำการปรับปรุงใหม่ โดยการเอารถแบคโฮเข้ารื้อ ปรับพื้นที่ แบ่งสัดส่วนพื้นที่และวางระบบน้ำ แต่เนื่องจากดินค่อนข้างเสื่อมโทรมจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว จึงจำเป็นต้องปรับปรุงดินขนานใหญ่ ทุกครั้งที่ปลูกผักบนร่องใหม่จะต้องนำมูลไก่มาใส่ร่องละ 10 กระสอบปุ๋ยจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทำให้ดินที่ปลูกมีคุณภาพดี แต่ก็ยังคงมีการใส่มูลไก่อยู่ตลอดเวลา ส่วนปูนขาวจะนำมาโรยเพื่อปรับสภาพดินบ้างนานๆ ครั้ง

 

เกษตรมูลค่าสูงต้องประณีต

เนื่องจากผักสลัดเป็นผักที่บอบบาง ต้องจัดการอย่างประณีต จึงต้องเพาะกล้าในถาดเพาะขนาด 104 หลุม ใส่วัสดุปลูกซึ่งผลิตมาเป็นการเฉพาะสำหรับการเพาะกล้า (มีเดีย) กระสอบละ 400 บาท สามารถนำมาใส่ถาดได้ 15-20 ถาด หยอดหลุมละ 2 เมล็ด นำเอาไปวางไว้ที่บนโต๊ะใต้ซาแลนเพื่อพรางแสง แต่ในฤดูฝนจะต้องอยู่ใต้หลังคา รดน้ำเช้า-เย็นด้วยฝักบัวที่ฝอยละเอียดจนกระทั่งกล้าอายุประมาณ 14 วันในฤดูหนาว และอายุประมาณ 21 วันในฤดูร้อนจึงค่อยย้ายกล้าผักลงแปลง โดยมีระยะห่างระหว่างต้นและแถวประมาณ 30 เซนติเมตร ในช่วงนี้ให้น้ำเช้า-เย็น อายุเก็บเกี่ยวของผักสลัดไม่เท่ากัน เนื่องจากในฤดูหนาวผักเจริญเติบโตดี จะใช้เวลาประมาณ 25-30 วัน ก็เก็บเกี่ยวได้ ส่วนในฤดูร้อนจะใช้เวลายืดไปถึง 30-35 วัน

เพาะกล้า
เพาะกล้า

สำหรับแมลงศัตรูพืชของผักสลัดไม่ค่อยมี ถ้าอากาศไม่เลวร้ายเกินไป เช่น แล้งจัด ฝนไม่ตก ก็จะมีเพลี้ยบ้าง แต่โดยทั่วไปจะไม่มีแมลงรบกวน ส่วนโรคพืชที่มีจะเป็นโรคราที่ทำให้ใบล่างเป็นจุดเน่า แต่ปัญหานี้แก้ไขได้ถ้ามีการเตรียมดินที่ดี เช่น การไถพรวน การตากดิน และต้นกล้าที่แข็งแรงก็สามารถทนทานโรคนี้ได้ โรคดังกล่าวมักจะเกิดในช่วงฤดูฝน

การตัดผักแล้วต้องนำมาล้างให้สะอาดถึงสามครั้งก่อนจะบรรจุถุงเพื่อความมั่นใจต่อผู้บริโภค ผักของที่สวน 1 กิโลกรัมสามารถบริโภคได้หมดทั้ง 1 กิโลกรัมโดยไม่ต้องทิ้งเลย ผักที่ปลูกในพื้นที่ 20 ไร่ของสวนจะเป็นผักสลัดที่นิยมบริโภค ได้แก่ กรีนโอค เรคโอค ฟิลเล่ย์ เรดโคล่อน บัตรเตอร์เฮด คอส และเบบี้คอส การใช้ปุ๋ยในสวนจะเน้นปุ๋ยมูลสัตว์และปุ๋ยชีวภาพเป็นหลัก ส่วนยาป้องกันและปราบศัตรูพืชไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับการทำผักในสวนนี้

 

อุปสรรคไม่ใช่ปัญหา

อาจารย์สงบกล่าวถึงเรื่องอุปสรรคในการทำสวนเกษตรว่า “ถึงแม้จะทำงานในด้านนี้ แต่ก็เป็นหน้าที่บริหารจัดการเรื่องการศึกษา พอมาลงมือทำเองก็ไม่ง่ายดังที่คิด เนื่องจากมีพื้นฐานที่เคยเรียนทำให้แก้ปัญหาได้ ข้อมูลวิชาการต่างๆ ก็มีมากมายเพียงให้ตั้งใจเรียนรู้ ปัญหาอีกอย่างคือ ปัญหาเรื่องแรงงาน ปัจจุบันคนไทยไม่ชอบทำเกษตรเนื่องจากเป็นงานหนัก จำเป็นต้องใช้แรงงานต่างชาติซึ่งมีข้อยุ่งยากในการปฏิบัติมากมาย แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง ปัญหาที่แท้จริงคือ ความเข้าใจและการอยู่ร่วมกันได้ เรื่องแรงกายใครมีแรงก็ทำได้ แต่เรื่องแรงความคิดเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล สำหรับเรื่องนี้สามารถบ่มเพาะกันได้ การใช้ประสบการณ์จากการบริหารงานบุคคลจากหน่วยงานเก่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้มาก เราสามารถใช้คนที่มีให้เป็นประโยชน์ เรื่องการพูดคุยทำความเข้าใจกันเป็นสิ่งสำคัญ ควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา”

ปัจจุบัน สวนของอาจารย์สงบใช้แรงงานอยู่ 15 คน โดยมีหัวหน้างาน 1 คน

จากคำถามว่า ทำการเกษตรเหนื่อยจริงไหม อาจารย์สงบตอบว่า “ทำการเกษตรเหนื่อยก็จริง แต่เป็นความชอบและความภาคภูมิใจ ที่เราทำการเกษตรนี้ พืชผักที่เราปลูกสอนเรา สอนเราให้รู้ว่าต้องรดน้ำอย่างนี้ ต้องเอาใจใส่อย่างนี้ ไม่งั้นจะไม่ให้ผลผลิตที่ดีนะ จากประสบการณ์หลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เขาสอนเราจนขึ้นใจว่า ถ้าเราเอาใจใส่เขาดีเขาจะตอบแทนเราดีเช่นกัน”

 

ข้อแนะนำสำหรับคนที่จะเริ่มต้นเกษตร

คนที่จะทำการเกษตรต้องเริ่มศึกษาก่อน หาตัวตนของตัวเองให้พบว่าชอบอะไร แล้วต้องถามซ้ำอีกรอบว่าชอบจริงหรือไม่ ไม่ใช่เห่อตามกระแส พอหมดกระแสก็เลิกราไป ถ้าชอบจริงก็ควรศึกษาข้อมูลพื้นฐานและเริ่มทำขนาดเล็กๆ ก่อน เมื่อทำไปเรื่อยๆ ขนาดของมันจะขยายด้วยตัวมันเอง การทำการเกษตรเมื่อสูงอายุต้องดูกำลังกายตัวเองเป็นหลัก ทั้งอาจต้องใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องทุ่นแรง บวกกับการวางแผนว่าจะทำให้เราไม่ต้องเหนื่อยมาก อาจจะเหนื่อยสมองบ้าง แต่เมื่องานเข้าที่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ลำบากอีกแล้ว

 

ลูกค้ามั่นใจตลาดก็มั่นคง

อาจารย์พูดถึงการตลาดว่า “การตลาดที่สำคัญ คือการผลิตพืชผักที่มีคุณภาพ และการมีคุณภาพอย่างเดียวไม่พอ จะต้องมีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทำให้ผู้ซื้อมั่นใจ ทำให้สวนของเราได้รับความเชื่อถือ นอกจากนี้ ยังต้องมุ่งมั่นที่จะทำงานและซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค ผักของเราที่ชั่งน้ำหนักไม่เคยขาด ซึ่งถ้าขาดลูกค้าก็จะว่าเราโกง ผักของเราจะมีแต่น้ำหนักเกินไม่เคยขาด ตรงนี้ลูกค้าอาจว่าเราโง่ แต่ที่จริงเราไม่โง่ ตลาดที่สำคัญของสวนมีแหล่งจำหน่ายแหล่งใหญ่อยู่ในจังหวัดสระบุรีที่ศูนย์โอทอปพุแค สวนริมเขา ร้านอาหารทางขึ้นเขาใหญ่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และธุรกิจสลัดบาร์

64 b

การปลูกผักสลัดในระบบดินมีการลงทุนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผักสลัดที่ปลูกในไฮโดรโปรนิค ซึ่งเกษตรกรรายย่อยทำได้ยาก ความแตกต่างระหว่างผักทั้งสองอย่างคือ ผักไฮโดรจะมีใบค่อนข้างบาง เก็บไว้นานความกรอบจะหายไป และจะต้องเก็บไว้ทั้งต้นโดยไม่ตัดราก มิฉะนั้นผักจะเหี่ยวเร็ว ส่วนผักสลัดที่ปลูกดินใบจะหนากว่า กรอบกว่า และเมื่อตัดรากทิ้งจะเก็บไว้นานกว่า

d

จากการวางแผนโดยใช้ประสบการณ์ในงานบริหารที่ทำมา ทำให้สวนของอาจารย์สงบประสบความสำเร็จ ทั้งที่พื้นฐานของอาจารย์สงบคืองานสัตวบาลมากกว่างานเกษตร นั่นเพราะประสบการณ์และการบริหารนั้นไม่จำเป็นจะต้องมีพื้นฐานความรู้ทางด้านเกษตรโดยตรง หากแต่ประสบความสำเร็จเพราะความมุ่งมั่นมากกว่า

อาจารย์สงบยังได้กล่าวอีกว่า “ผมปลูกผักไว้ให้เกินจำนวนไว้เพื่อคัดเลือกผักดีๆ ส่งร้านค้า และยอมที่จะทิ้งผัก เมื่อผักล้นตลาดมากกว่า ให้ร้านค้าขาดผักขาย นั่นหมายถึงร้านค้าเสียผลประโยชน์ และลูกค้าไม่มีผักบริโภค”

ขอความรู้เรื่องผักสลัด ติดต่ออาจารย์สงบได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 081-8283917