ตฤณศร สัมทับ โดดเด่นปาล์มน้ำมันกับเศรษฐกิจพอเพียง ที่กำแพงเพชร

ทางเดินชีวิต…สู่แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

คุณตฤณศร สัมทับ  อยู่บ้านเลขที่ 21 หมู่ที่ 12 บ้านดาดทองเจริญ ตำบลอ่างทอง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร 62000 สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาเอกภาษาอังกฤษ วิชาโทภาษาญี่ปุ่น จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลาครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. 2536 ได้เริ่มทำงานกับ บริษัท อมากาซากิไพพ์ (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดชลบุรี          180948_103144829765578_1941441_n

ต่อมาเข้าทำงานบริษัทน้ำมัน หลังจากนั้นได้ทำงานกับกองบรรณาธิการนิตยสารด้านสื่อสารมวลชน และในที่สุดคุณตฤณศร ได้ทำงาน เอ็นจีโอ เกี่ยวกับการส่งเสริมจริยธรรมให้กับเยาวชน แต่จากการงานในเมืองหลวงที่ทำให้สุขภาพอ่อนแอลง คุณตฤณศรจึงได้ตัดสินใจกลับมาทำสวนที่จังหวัดกำแพงเพชร โดยการปลูกปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่ 6 ไร่ 2 งาน พร้อมทั้งได้ปลูกผักสวนครัว อาทิ กล้วย พริก มะเขือ ฟัก และพืชล้มลุก เพื่อปลูกแซมเป็นการชดเชยรายได้ก่อนเก็บปาล์ม รวมทั้งปลูกไม้ยืนต้น เช่น มะม่วง ขนุน ยางนา สัก เป็นต้น ขุดสระเลี้ยงปลาแบบธรรมชาติ และปลูกข้าวปลอดสารพิษ ใช้ชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และใช้พื้นที่การเกษตรเป็นศูนย์เรียนรู้ชีวิตพอเพียง คุณตฤณศรได้รับรางวัลชมเชยผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ ปี พ.ศ. 2551 จากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบัน ครอบครัวคุณตฤณศรสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน มีสุขภาพดี รวมทั้งได้รับการยอมรับจากชุมชน

 

รูปแบบกิจกรรมทางการเกษตร

คุณตฤณศร ได้ดำเนินกิจกรรมการเกษตรโดยมีความโดดเด่นเรื่องการปลูกปาล์มน้ำมัน โดยนำปาล์มสายพันธุ์มาเลย์ยังกัมบิ จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 145 ต้น มาปลูกเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2548 ขั้นตอนการปลูกเริ่มจากการเตรียมแปลงปลูก การไถปรับพื้นที่และวางแนวปลูก ส่วนพื้นที่ว่างปลูกพืชระยะสั้นแซม เช่น กล้วยและฟักทอง เป็นต้น เพื่อเสริมรายได้ โดยการบำรุงรักษาปาล์มน้ำมันนั้น จะรองก้นหลุมก่อนปลูกด้วยปุ๋ยอินทรีย์

 

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาปฏิบัติ

คุณตฤณศร ได้ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะหลัก ความมีเหตุผล ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการตัดสินใจว่าควรปลูกพืชชนิดใดจึงจะเหมาะสมกับพื้นที่ และพืชชนิดใดสามารถปลูกร่วมกับพืชชนิดใดได้ โดยวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล เพื่อนำผลการวิเคราะห์ที่ได้มาใช้ในการวางแผนการเพาะปลูกในพื้นที่ และเพื่อใช้ในการตอบโจทย์เป้าหมายในการทำการเกษตรของตนเอง นอกจากนี้ ยังต้องจดบันทึกการลงทุนในการทำการเกษตรไปพร้อมๆ กันอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้ทราบถึงรายรับ-รายจ่าย และสามารถวางแผนการบริหารจัดการให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์(081) 953-3204

 

ขอบคุณข้อมูล จากหนังสือ การเพิ่มรายได้เกษตรกร ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์