เตรียมความพร้อม ในการผลิต “มะม่วงนอกฤดู” (ตอนจบ)

สวนคุณลี อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. (081) 886-7398 ที่คลุกคลีและมีประสบการณ์ทำมะม่วงนอกฤดูในเขตภาคเหนือตอนล่างมานาน โดยเฉพาะการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออก ทางสวนคุณลีจึงอยากจะเรียบเรียง เทคนิคการผลิตมะม่วงนอกฤดูคุณภาพส่งออก เพื่อเป็นแนวทางในการผลิตมะม่วงเบื้องต้น ให้นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่

การดูแลระยะเดือยไก่ การให้น้ำ ระยะนี้ถ้าฝนตกปกติ ไม่ต้องเปิดน้ำให้ แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงจะต้องรดน้ำเพื่อให้ดอกออกมาสมบูรณ์และยาวมากขึ้น

มะม่วงออกดอกทั้งต้น เกษตรกรบางท่านไม่รู้วิธีดูแลรักษาทำให้พลาดโอกาส

ปุ๋ย และฮอร์โมน

การให้ปุ๋ย ทางดินจะใส่ปุ๋ย สูตร 9-25-25 หรือ 8-24-24 อัตรา ต้นละ 1 กิโลกรัม ถ้าเป็นพื้นที่ดินเหนียวอาจใช้สูตร 12-24-12 ก็ได้ การให้ปุ๋ยทางดิน จะทำให้ดอกสมบูรณ์ติดผลง่าย เมื่อเปรียบเทียบกับแปลงที่ไม่ใส่จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน การฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องเร่งให้ช่อดอกสมบูรณ์ที่สุด จึงจำเป็นต้องให้อาหารที่เพิ่มพลังการติดผล ตัวหลักๆ เลยก็คือ ปุ๋ยสูตร 10-52-17 เป็นปุ๋ยเร่งดอกสูตรดั้งเดิมที่เป็นที่นิยมของเกษตรกรทั้งในอดีตและปัจจุบัน ปุ๋ยสูตรนี้หาซื้อง่าย มีขายตามร้านเคมีเกษตรทั่วไป อัตราการใช้ 25-50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 2-3 ครั้ง ห่างกัน 10 วัน หรือจนกว่าดอกจะโรย สำหรับเกษตรกรยุคใหม่อาจเลือกใช้ปุ๋ยบำรุงดอกสูตรใหม่ๆ ที่ผลิตโดย บริษัทเคมีเกษตรชั้นนำก็ได้ ปุ๋ยบำรุงดอกที่สามารถเลือกใช้แทนปุ๋ย สูตร 10-52-17 ก็อย่างเช่น ปุ๋ยเฟอร์ติไจเซอร์ (3-16-36) ปุ๋ยซุปเปอร์-เค (6-12-24)

ฮอร์โมนที่นิยมใช้ช่วงเดือยไก่ ได้แก่

มะม่วงน้ำดอกไม้เกรดส่งออกต่างประเทศ
  1. อโทนิค (โปรดั๊กทีฟ) ช่วยเพิ่มประมาณดอก ดอกสมบูรณ์ ก้านดอกยาว เพิ่มเปอร์เซ็นต์การติดผล ป้องกันดอกและผลอ่อนร่วง แนะนำให้ใช้ 3 ระยะ คือ เดือยไก่ ก้างปลา และดอกโรย
  2. เอ็นเอเอ (NAA) เช่น บิ๊กเอ เป็นฮอร์โมนที่ช่วยเพิ่มจำนวนดอกสมบูรณ์เพศ เหมาะมากสำหรับแปลงมะม่วงที่ออกดอกช่วงฤดูหนาว หรือออกดอกเต็มต้น บางครั้งเราจะพบว่าแม้มะม่วงจะออกดอกทั้งต้น แต่ก็ไม่ติดผล ซึ่งเกิดจากสภาพอากาศทำให้ดอกมะม่วงแปรผัน การฉีดพ่น NAA จึงช่วยแก้ปัญหาเรื่องเพศของมะม่วงได้เป็นอย่างดี การใช้ NAA ที่ถูกต้อง ให้ฉีดพ่นช่วงเดือยไก่ ความยาวช่อดอก 2-3 เซนติเมตร และฉีดพ่นเพียงครั้งเดียวจะทำให้สามารถเพิ่มปริมาณดอกสมบูรณ์เพศได้มากกว่าต้นที่ไม่ได้พ่น 4-5 เท่าตัว
  3. จิบเบอเรลลิน ห้ามใช้ช่วงก่อนดอกบาน

ข้อควรระวัง เกษตรกรหลายท่านเข้าใจผิดในการใช้ฮอร์โมน จิบเบอเรลลิน ว่าฉีดแล้วทำให้ช่อยาว ติดผลดี ความเข้าใจนี้คลาดเคลื่อน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การใช้จิ๊บในมะม่วงให้ฉีดช่วงดอกใกล้โรย หรือช่วงติดผลเล็กๆ เท่านั้น ฮอร์โมน จิบเบอเรลลิน จะไปช่วยขยายขนาดผล ลดการหลุดร่วงของผลอ่อน แต่หากใช้ฉีดพ่นในระยะก่อนดอกบาน จะทำให้ช่อมะม่วงมีดอกตัวผู้มากขึ้น การติดผลจะยากขึ้น

เครื่องพ่นยาที่มีประสิทธิภาพสูง ย่อมส่งผลดีต่อการผลิตมะม่วงคุณภาพ

อาหารเสริมที่จำเป็นช่วงดอก

อาหารเสริมที่นิยมใช้ ได้แก่ แคลเซียม-โบรอน มีประโยชน์ในด้านการติดผลดี ดอกสมบูรณ์ ไม่หักร่วงง่าย เกษตรกรจะเลือกใช้เป็นอันดับต้นๆ สาหร่าย-สกัด ช่วยให้ช่อสมบูรณ์ ยาวเร็ว สดใส ช่วยเพิ่มขนาดของผลอ่อนสังกะสี ช่วยเร่งความเขียว เร่งการติดผล แมกนีเซียม ช่อสด แข็งแรง เร่งการติดผล การใช้อาหารเสริม เกษตรกรต้องศึกษารายละเอียดของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดให้ดี เพราะบางครั้งเราซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มา 5-6 ขวด เวลาเอามาดูจริงๆ กลับเป็นอาหารเสริมชนิดเดียวกัน เกษตรกรต้องดูให้ดี อย่าเชื่อแต่คำโฆษณาเชิญชวน เพราะจะทำให้เราสูญเงินโดยใช่เหตุ

ในช่วงที่มะม่วงแทงช่อดอก จำเป็นต้องฉีดพ่นยาเชื้อราอย่างต่อเนื่อง

ระยะช่อดอกต้องดูแลเต็มที่ เมื่อสังเกตเห็นมะม่วงเริ่มแตกตาดอก จะเน้นการฉีดสารเพิ่มความสมบูรณ์ให้ช่อดอกอย่างเต็มที่ โดยใช้ โฟแมกซ์ คัลเซียมโบรอน อัตรา 10 ซีซี ผสมกับน้ำตาลทางด่วน อัตรา 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ร่วมกับสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น อโรไซด์ หรือแอนทราโคล สารกลุ่มนี้จะใช้ในกรณีที่ฝนไม่ตก อากาศเปิด แต่ถ้าเป็นช่วงที่ฝนตก อากาศครึ้ม จะต้องเปลี่ยนมาใช้สารแซดคลอราช หรือโวเฟ่น หรือสารอมิสตา ในการบำรุงช่อดอกจะต้องฉีดพ่นอย่างน้อย 3 ครั้ง ก่อนถึงระยะดอกบาน เมื่อดอกบานดอกจะสมบูรณ์ ติดผลง่าย คุณพนม ยังย้ำว่าช่วงดอกบานเป็นช่วงที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโรคที่จะมาพร้อมกับน้ำฝน บางครั้งดอกบานฝนตกทุกวันก็ต้องหาเวลาที่ฝนเปิดฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เพราะหากเราไม่ฉีดพ่นดอกมะม่วงจะเสียหายหมด กรณีฝนตกชุกคุณพนม จะใช้แอนทราโคล 30 กรัม ร่วมกับสารแซดคลอราซ 20 ซีซี ฉีดสลับกับสารอมิสตา อัตรา 5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ในการฉีดแต่ละครั้ง จะเว้นระยะห่างกันประมาณ 3-5 วัน แล้วแต่ช่วงเวลาที่ฝนตก ถ้าฝนตกชุกจะฉีดถี่ขึ้น ส่วนเรื่องแมลงศัตรูจะเน้นการป้องกันเป็นหลัก เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราจะรู้ว่าระยะไหนแมลงชนิดใดจะเข้าทำลาย

ศึกษาสภาพแวดล้อมให้ดี ดึงดอกให้ออกช่วงฝนตกไม่หนาแน่น

ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อช่อดอกแทงยาวประมาณ 2 นิ้ว จะมีหนอนมาทำลาย เราก็จะฉีดยาฆ่าหนอน อาจจะใช้ยากลุ่มเมโทมิล หรือ เซฟวิน-85 ก็ได้ ฉีดพ่นประมาณ 1-2 ครั้ง หนอนก็จะไม่ทำลาย หรือในระยะดอกบานเพลี้ยไฟจะระบาด ทางราชการเขาให้งดการฉีดพ่นสารเคมี เพราะจะไปทำลายแมลงที่มาช่วยผสมเกสร แต่จริงๆ แล้วถ้าเราไม่ฉีดเพลี้ยไฟกินดอกมะม่วงเราหมดก่อนแน่ก็ต้องฉีด แต่การฉีดจะต้องเน้นใช้ยาที่ไม่ทำลายดอก เช่น กลุ่มยาผง อย่าง สารอิมิดาคลอพริด (เช่น สารโปรวาโด, สลิงเอ็กซ์) ส่วนยาน้ำมันที่ลงท้ายด้วย EC. ให้พยายามหลีกเลี่ยง เพราะเป็นยาร้อนจะทำให้ดอกแห้ง เวลาฉีดก็ควรฉีดพ่นในช่วงเช้าหรือเย็น ห้ามฉีดเวลากลางวันเพราะอากาศร้อนจัด

ปัญหาดอกบานหน้าฝน กับโรคแอนแทรคโนส

ช่วงดอกเป็นช่วงที่สำคัญ ต้องเลือกใช้สารเชื้อราให้เป็น ให้เหมาะกับสภาพฟ้าฝน

ในช่วงดอกบานปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ น้ำฝน ฝนจะพาโรคต่างๆ มาทำลายดอกมะม่วงของเราโดยเฉพาะโรคแอนแทรคโนส คุณเจริญ จะใช้วิธีฉีดยาเชื้อราป้องกัน ยาที่ใช้ประจำ ได้แก่ โวเฟ่น 500 ซีซี ผสมกับแอนทราโคล 1 กิโลกรัม ฉีดสลับกับ อมิสตา 200 ซีซี ผสมกับแอนทราโคล 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ  1,000 ลิตร ฉีดสลับกัน 5-6 วัน ต่อครั้ง ถ้าฝนตกบ่อย ให้ฉีด 3 วันครั้ง ในเรื่องการใช้สารโพคลอราชฉีดช่อดอกมะม่วงเขียวเสวย นักวิชาการมะม่วงหลายท่านห้ามใช้ เพราะจะทำให้ดอกมะม่วงเสียหาย แต่คุณเจริญ ใช้สูตรนี้มาตลอด ยืนยันว่าไม่เสียแน่นอน “จะต้องจำไว้เสมอว่า หลังฝนตกต้องฉีดพ่นยาเชื้อราทันที ห้ามปล่อยทิ้งไว้นานเด็ดขาด เพราะเชื้อโรคจะเข้าทำลายช่อดอก”

เรื่องของการใช้สารเคมี แต่ก็อาศัยประสบการณ์ทั้งลองผิดลองถูกมาโดยตลอด ซึ่งประสบการณ์จะสอนเราได้ดีจนมาถึงวันนี้ ทุกคนจะต้องรู้ว่าตัวยาดังกล่าวสามารถฉีดพ่นได้หรือไม่ มีระยะเวลาตกค้างกี่วัน ฉีดแล้วกี่วันจึงจะเก็บผลผลิตได้ ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้วจะทำให้ชาวสวนมะม่วงไม่ผิดพลาดในการใช้สารเคมี จะได้ไม่เสียโอกาส โดยถ้าส่งออกได้เราจะขายมะม่วงน้ำดอกไม้ได้ถึงกิโลกรัมละ 80-90 บาท แต่ถ้าเราพลาดไม่มีความรู้ในการใช้สารเคมี มะม่วงถูกตรวจพบสารตกค้าง มะม่วงของเราก็จะเหลือกิโลกรัมละ 40-50 บาท ราคานี้เกษตรกรก็ยังพอได้ แต่ปีไหนช่วงไหนราคาไม่ดี มะม่วงราคาถูก มะม่วงชุดดังกล่าวอาจจะเหลือเพียง กิโลกรัมละ 20-30 บาท เท่านั้น การใช้สารเคมีมีความสำคัญมาก ยกตัวอย่างการใช้ยาฆ่าแมลง เช่น เซฟวิน-85 สามารถใช้ก่อนเก็บเกี่ยว 14 วัน หรือจะเป็นยาป้องกันเชื้อรา “โพรคลอราซ” (เช่น แซดคลอราช, คูด๊อซ, เอ็นทรัส) ซึ่งควรใช้ก่อนการเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 14 วัน เป็นต้น ต้องทำความเข้าใจในการเลือกใช้สารเคมี ต้องดูถึงเปอร์เซ็นต์ของตัวยาด้วยว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยตัวยาเดียวกัน แต่ราคาต่างกันถึงเท่าตัว แต่เมื่อพิจารณาถึงเปอร์เซ็นต์ยาแล้ว พบว่า ยานี้ขายถูกๆ ก็มีเปอร์เซ็นต์ยาเพียง 20-30% เท่านั้น แล้วเขาขายเพียงขวดละ 500-700 บาท แต่ยาที่ขายแพง ขวดละ 1,000-1,400 บาทนั้น มีเปอร์เซ็นต์ยาสูงถึง 50% เมื่อเรานำมาใช้ยาที่มีเปอร์เซ็นต์ตัวยาสูงย่อมใช้ได้ผลดีกว่าแน่นอน อีกประการต้องเลือกใช้สารเคมีจากบริษัทที่เชื่อถือได้เท่านั้น ไม่มีการผสมตัวยาอื่นลงไป จะต้องถูกต้องตามฉลากที่เขาระบุไว้ บางบริษัทข้างขวดเขียนว่า “อะบาเม็กติน” แต่พอเราไปใช้ ผลปรากฏว่ามะม่วงของเราตรวจพบ “สารคลอไพริฟอส” นั้น ทำให้เกษตรกรเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก เสียโอกาสเป็นอย่างมาก รายได้ของชาวสวนมะม่วงจะหายไปครึ่งหนึ่งทีเดียว แถมเราเองก็เสียชื่อเสียง เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากเรื่องหนึ่ง

ดอกบานหน้าฝน ต้องมีความเข้าใจในการดูแลรักษาช่อดอก โดยเฉพาะโรคแอนแทรคโนส

ระยะดูแลผลเมื่อมะม่วงเริ่มติดผลอ่อน…จะต้องฉีดปุ๋ยทางใบเพื่อเร่งการเจริญเติบโตและลดปัญหาผลร่วง แนะนำให้ใช้ปุ๋ยเหลวสูตรเสมอ หรือสูตรตัวหน้าสูงร่วมกับน้ำตาลทางด่วน ข้อดีของการใช้ปุ๋ยเหลวคือจะช่วยทำให้ผลมะม่วงโตเร็วและลดปัญหาผลแตกสะเก็ด ซึ่งถ้าใช้ปุ๋ยเกล็ดบางครั้งจะพบปัญหาผลแตกสะเก็ดขายไม่ได้ราคา ส่วนเรื่องเชื้อราในระยะนี้จะใช้สารโพรพิเนบ (เช่น แอนทราโคล) ฉีดป้องกันไว้ตลอดจนถึงระยะห่อผล จึงหยุดใช้ยาเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออก

การผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ ต้องห่อผล

ทุกวันนี้ถ้าเราปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำดอกไม้สีทองหรือน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 เพื่อการส่งออกหรือขายในประเทศก็ต้องห่อผลให้ผิวมะม่วงมีสีสวย ยกตัวอย่าง ตลาดในบ้านเราไม่ว่าจะเป็นตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ถ้ามะม่วงของเราไม่ห่อผล เขาก็จะไม่รับซื้อ หรือซื้อก็จะถูกตีราคาเป็นมะม่วงยำ ส่วนการห่อมะม่วงก็มีปัญหาที่เกษตรกรพบบ่อย คือ “เพลี้ยแป้ง” ที่อยู่ในถุงห่อมะม่วง ซึ่งก่อนนั้นเราก็เจอปัญหาเพลี้ยแป้งมาก่อน แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ พบว่า แก้ไขปัญหาเพลี้ยแป้งนั้นไม่ยากเลย เพียงแต่เราต้องรู้จักการใช้สารเคมี คือใช้ยากลุ่ม “มาลาไธออน” ฉีดสลับกับ “เมโทมิล” ซึ่งเป็นยาที่ราคาค่อนข้างถูก ไม่แพงแต่อย่างใด ในช่วงที่เราฉีดพ่นมะม่วงระยะสะสมอาหาร ก็จะเริ่มมีการใช้ยากลุ่มนี้ไปด้วย จะเป็นการกำจัดและป้องกันเพลี้ยแป้งไว้แต่ต้น ซึ่งพบว่าเพลี้ยแป้งจะบางเบาจนเกือบจะไม่มีเลยทีเดียว แต่การป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งให้ได้ผลดีที่สุด ก็ต้องย้อนไปกำจัดจุดเริ่มต้นของเพลี้ยแป้งคือกำจัด “มด” โดยเฉพาะมดดำ ที่มันจะคาบเอาเพลี้ยแป้งที่มันอาศัยอยู่บริเวณใต้ใบหญ้าใต้โคนต้นมะม่วงขึ้นไปบนต้นมะม่วง เพื่ออาศัยกินสิ่งขับถ่ายของเพลี้ยแป้ง จึงทำให้เกิดการระบาดของเพลี้ยแป้งในมะม่วงนั้นเอง

การผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ในบัจจุบัน ต้องใช้ถุงห่อเพื่อให้ผิวสวย ลดการทำลายของโรคและแมลง

ดังนั้น ชาวสวนต้องเริ่มที่กำจัดมดให้ได้เสียก่อน ก่อนที่มดจะคาบเพลี้ยแป้งขึ้นต้นมะม่วง ตัวยาที่ฉีดมดได้ผลดีมากคือ ยาคาร์บาริล (เช่น เซฟวิน-85, เอส-85) ฉีดทั้งต้นมะม่วงและบริเวณดินโคนต้นมะม่วง เมื่อมดหมดไป เพลี้ยแป้งก็น้อยมาก ทำให้เราฉีดยากลุ่มมาลาไธออนและเมโทมิลน้อยลง เวลานี้แทบจะไม่เจอปัญหาเพลี้ยแป้งอีกเลย