ความศรัทธาที่มีต่อ “เหล็กน้ำพี้” บ้านทองแสนขัน เมืองตรอน อุตรดิตถ์

อาจารย์ประพัฒน์ กุสุมานนท์ นักปราชญ์เมืองอุตรดิตถ์ ได้กรุณาเล่าเรื่องราวฤทธิ์เดชของ “เหล็กน้ำพี้” ที่บ่อพระแสงให้ผมฟังขณะพาผมไปดูว่า บ่อแร่เหล็กกล้าที่เรียกกันว่า “เหล็กน้ำพี้” อยู่ในพื้นที่ตำบลน้ำพี้ แต่เดิมขึ้นอยู่กับอำเภอทองแสนขัน ใช้เวลาเดินทางจากตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ถึงบ่อเหล็กน้ำพี้ ราว 40 นาที

ศาลเจ้าพ่อ พระขรรค์ พระแสง และพระสุข โดยคนท้องถิ่นเคารพนับถือกันว่าเป็นเจ้าพ่อบ่อเหล็กน้ำพี้

ตำนานอำเภอทองแสนขันนั้น มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า คือ ตำบลบ่อทอง ซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งมานานแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไร เป็นชุมชนที่มีผู้คนหนาแน่น ชื่อว่า “หมู่บ้านแสนขัน” ครั้งนั้นมีพรานคนหนึ่ง เดินทางมาจากดินแดนล้านช้างเพื่อตามล่าช้างที่บริเวณแถบนี้ ซึ่งเข้าใจว่าคงจะมีช้างป่าชุกชุม ทุกวันนี้ก็ยังปรากฏหมู่บ้านท่าช้างอยู่ทางใต้หมู่บ้านแสนขัน สันนิษฐานว่าคงตั้งชื่อตามท่าน้ำที่ช้างใช้ดื่มและอาบเป็นประจำนั่นเอง

เมื่อพรานล่าช้างได้เดินทางมาถึงหมู่บ้านก็ได้ทราบว่า จะมีการก่อสร้างวัดพระแท่นศิลาอาสน์ จึงเกิดศรัทธาจะร่วมทำบุญก่อสร้างวัดด้วย เมื่อเดินทางกลับภูมิลำเนา จึงได้ชักชวนสมัครพรรคพวกร่วมกันบริจาคทอง นับได้จำนวนแสนขัน แล้วนำทองมาเพื่อสร้างวัดดังกล่าว ครั้นเมื่อเดินทางมาถึงหมู่บ้านแห่งนี้ ได้ทราบจากชาวบ้านว่า การก่อสร้างวัดพระแท่นศิลาอาสน์ได้ดำเนินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ครั้นจะนำทองกลับภูมิลำเนา ก็เกรงว่าจะยากลำบากและไม่ปลอดภัย อาจถูกโจรปล้นสะดมระหว่างทางได้ จึงได้นำทองทั้งหมดฝังไว้ที่บริเวณหมู่บ้านแห่งนี้ ต่อมาผู้คนจึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “หมู่บ้านทองแสนขัน ปัจจุบันเหลือเพียงชื่อ “หมู่บ้านแสนขัน” ต่อมายกฐานะเป็น อำเภอทองแสนขัน”

แร่เหล็กน้ำพี้ที่ผสมอยู่ในหิน

สำหรับ “น้ำพี้” นั้นเป็นชื่อเหล็กชั้นเยี่ยม ที่มีมาแต่โบราณกาล กำเนิดที่บ่อเหล็กน้ำพี้ บ้านน้ำพี้ ตำบลน้ำพี้ อยู่ในพื้นที่อำเภอทองแสนขัน ซึ่งแยกมาจากอำเภอตรอน หรือเมืองตรอนตรีสินธุ์เดิมของจังหวัดอุตรดิตถ์ หมู่บ้านน้ำพี้ มีประวัติความเป็นมา เรียกได้ว่าเป็นแหล่งสร้างสรรพาวุธของสยาม มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา การค้นพบแหล่งแร่เหล็กครั้งนั้น เชื่อกันว่าพบในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งเรื่องนี้มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ที่กล่าวอ้างถึงพระแสงของ้าว ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้กระทำยุทธหัตถี จนกระทั่งมีชัยชนะเหนือพม่าข้าศึกนั้น เป็นพระแสงของ้าว ที่ทำขึ้นจากเหล็กน้ำพี้ ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์โคลงของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ว่า

หัว กูมีแก้วเกิด อยู่ใน

ล้าน จึงเลี่ยนเตียนไป ดั่งนี้

นอก สุกแต่ในใส สุกปราบ

ครู ว่าชาติน้ำพี้ ของ้าวพระแสงทอง

แสดงว่า ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้มีการขุดพบแร่เหล็กที่บ้านน้ำพี้กันแล้ว ซึ่งนั่นก็หมายความว่า คนพื้นถิ่นที่ตั้งชุมชนอยู่ในเขตอำเภอทองแสนขันนั้น ได้พบเหล็กกล้าชั้นดีมานานกว่า 400 ปีมาแล้ว

บ่อเหล็กน้ำพี้ที่เคยขุดเหล็กขึ้นมา ปัจจุบันเป็นบ่อน้ำขัง

คุณภาพของเหล็กน้ำพี้นั้น ถือได้ว่าเป็นเหล็กที่มีความแข็งแกร่งและเหนียวเป็นพิเศษ เมื่อตีเป็นดาบหรืออาวุธต่างๆ จะมีสีเขียววาวเหมือนสีปีกแมลงทับ ดาบคู่มืออันลือชื่อของพระยาพิชัยดาบหัก ที่มีชื่อว่า “ดาบนันทกาวุธ” ซึ่งก็ตีจากเหล็กน้ำพี้แห่งนี้ พระเครื่องชั้นยอดของไทย เช่น พระพิจิตรเม็ดข้าวเม่า ก็มีส่วนผสมของเหล็กน้ำพี้เป็นสำคัญ

และเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ หลวงเจริญราษฎร์เจริญ นายอำเภอตรอนสมัยนั้น ได้นำแร่เหล็กจากบ่อพระแสง ตำบลน้ำพี้ มอบให้พระยาวิเศษฤๅชัย ข้าหลวงประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ดำรงตำแหน่งราวปี พ.ศ. (2469-2471) ได้นำพระแสงดาบขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นพระแสงศาสตราวุธมาจนทุกวันนี้

หลวงปู่ฟั้น

เมื่อนักวิชาการได้วิเคราะห์มวลสารของเหล็กน้ำพี้แล้ว ต่างยืนยันว่าเหล็กน้ำพี้ มีองค์ประกอบของแร่ธาตุที่หาได้ยาก มีความแข็งและเหนียวเป็นพิเศษ มีลักษณะอ่อนใน แข็งนอก

จากหลักฐานที่พบในรัชสมัยสมเด็จพระปิยมหาราช ขณะนั้นหมู่บ้านน้ำพี้ ยังมีช่างตีดาบอยู่ แต่มาถึงปัจจุบันอาชีพช่างตีดาบแทบจะสูญหายไปจากหมู่บ้านเกือบหมด

ในสมัยก่อน การที่จะตีดาบดีๆ ขึ้นมาใช้สักเล่มนั้น ต้องมีพิธีกรรมเริ่มต้นจาก เมื่อค้นพบแหล่งแร่เหล็กเนื้อดีแล้ว ผู้ที่จะไปขุดเอาแร่เหล็กจะต้องทำตนให้บริสุทธิ์หลายประการ เป็นต้นว่า ต้องนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลแปดอย่างน้อย 7-15 วัน ต้องงดเว้นจากการเบียดเบียน ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ดื่มสุราเมรัย ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเสพกาม ไม่พูดเพ้อเจ้อ หรือกล่าวคำเท็จ รักษาศีล ให้สมบูรณ์อย่างเคร่งครัด เมื่อครบกำหนดแล้ว จะต้องดูฤกษ์ ดูยาม หาวันเวลาที่เหมาะสม เพื่อทำพิธีบวงสรวงเจ้าที่เจ้าทางที่ปกปักรักษาบ่อแร่เหล็ก เพื่อขออนุญาต หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนี้ ผู้ที่ไปขุดอาจได้รับเภทภัยอย่างไม่คาดคิด

ประวัติหลวงปู่ฟั้น งอกไม้ เกิดที่จังหวัดแพร่ ผู้คิดค้นสร้างลูกประคำแร่เหล็กน้ำพี้ขึ้นมาเป็นวัตถุมงคล

จากนั้นทำพิธี “ล้อมแร่” เป็นการป้องกันแร่ธาตุหนี เชื่อกันว่าหากไม่ล้อมแร่ไว้ก่อน ถึงจะขุดไปอย่างไร ก็จะไม่พบแร่ธาตุเหล็กที่ต้องการ จะพบก็แต่แร่เหล็ก หรือขี้เหล็กที่ไม่มีคุณภาพ อีกทั้งจะต้องทำพิธีตัดเหล็กกันในวันดับ หรือวันแรม 15 ค่ำ เท่านั้น ถือว่าเป็นวันที่ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในราศีเดียวกับดวงอาทิตย์ ทำให้แสงดวงจันทร์ไม่ปรากฏ จึงเรียกวันนั้นว่าเป็นวันดับ ที่เชื่อว่าจะได้เหล็กที่มีคุณภาพดีที่สุด

นอกจากนี้ เมื่อตัดแร่เหล็กน้ำพี้มาได้แล้ว ก่อนที่จะนำมาหลอมตีเป็นดาบได้ ตามตำรากล่าวว่า จะต้องเสาะหาธาตุเหล็กที่มีพลังอานุภาพมาหลอมประสมไปด้วยหลายอย่าง ที่สำคัญๆ มีเหล็กแกนจากยอดเจดีย์หัก เหล็กตะปูตอกโลงศพ จาก 7 ป่าช้า ซึ่งจะต้องเป็นตะปูที่ตอกโลงศพผีตายทั้งกลมเท่านั้น เป็นการเพิ่มความเข้มแข็งของพลังจิตวิญญาณให้แก่ดาบ ส่วนผสมกระบวนการตีดาบ มีรายละเอียดกล่าวถึง ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เมื่อขุนแผนจะตีดาบ “ฟ้าฟื้น” อันเป็นดาบประจำตัวขุนแผน ความว่า

เอาเหล็กไหลเหล็กหล่อ “บ่อพระแสง”     เหล็กกำแพง “น้ำพี้” ทั้งเหล็กแร่

ทองคำสัมฤทธิ์นากอะแจ                เงินที่แท้ธาตุเหล็กทองแดงดง

เอามาสุมคุมควบเข้าเป็นแท่ง         เผาให้แดงตีแผ่แช่ยาผง

ไว้สามวันซัดเหล็กนั้นเล็กลง           ยังคงแต่พองามตามตำรา

ซัดเหล็กครบเสร็จถึงเจ็ดครั้ง          พอกระทั่งฤกษ์เช้าเสาร์สิบห้า

ก็ตัดไม้ปลูกศาลขึ้นเพียงตา            แล้วจัดหาสารพัดเครื่องบัตรพลี

เทียนทองติดตั้งเข้าทั้งคู่                 ศีรษะหมูเป็ดไก่ทั้งบายศรี

เอาสูบทั่งตั้งไว้ในพิธี                      เอาถ่านที่ต้องอย่างวางในนั้น

ช่างเหล็กดีฝีมือลือทั้งกรุง               ผ้าขาวนุ่งผ้าขาวห่มดูคมสัน

วางสายสิญจน์เสกลงเลขยันต์        คนสำคัญคอยดูซึ่งฤกษ์ดี

ครั้นได้พิชัยฤกษ์ราชฤทธิ์               พระอาทิตย์เที่ยงฤกษ์ราชสีห์

ขุนแผนสูบเหล็กให้แดงดี               นายช่างตีรีดรูปให้เรียวปลาย

ที่ตรงกลางกว้างงามสามนิ้วกึ่ง        ยาวถึงศอกกำมาหน้าลูกไก่

เผาชุบสามแดงแทงตะไบ               บัดเดี๋ยวใจเกลี้ยงพลันเป็นมันวับ

อานดีมิได้มีขนแมวพาด                  เลื่อมปราดเนื้อเขียวดูคมหมับ

เลื่อมพรายคล้ายแสงแมลงทับ        ปลั่งปลาบวาววับจับแสงตะวัน