จับตามองทิศทางเกษตรไทย จะก้าวไปทางไหน

ประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตมรสุม มีอากาศร้อนชื้น ฝนตกชุกในฤดูฝน จึงเหมาะสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2558 มีอัตราเพิ่มขึ้นจาก 8.3 ล้านล้านบาท เป็น 9.5 ล้านล้านบาท ก็ตาม แต่เมื่อมองลึกลงไปในภาคการเกษตร จีดีพี กลับลดลงที่ระดับ 6.2 แสนล้านบาท เนื่องมาจากมีปัญหาการส่งออกสินค้าเกษตรโดยรวม เริ่มจาก ข้าว พืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ในแต่ละปีส่งออกนำเงินตราเข้าประเทศ มีมูลค่า 1.5-1.7 แสนล้านบาท จากปริมาณการผลิต 21-22 ล้านตันข้าวสาร ในจำนวนนี้ใช้บริโภคภายในประเทศ 9.8 ล้านตัน และส่งออกอีก จำนวน 10.0 ล้านตัน ในรอบปีที่ผ่านมาประเทศคู่ค้าของไทยผลิตข้าวได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ก็ตาม และขณะเดียวกันประเทศเวียดนาม พม่า และอินเดีย มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย สามารถส่งออกได้ราคาถูกกว่า ตันละ 900-1,000 บาท ทำให้ประเทศคู่ค้าหันไปซื้อข้าวที่มีราคาถูกกว่า ข้าวไทยจึงเกิดปัญหาในเรื่องราคา

%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%ad4

ยางพารา ไทยเคยส่งออก 3 ล้านตัน แต่ที่ผ่านมาสหภาพยุโรปเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จีนก็มีปัญหาคล้ายคลึงกัน ส่วนญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวจากผลของสึนามิถล่ม ความต้องการนำเข้ายางธรรมชาติน้อยลงไป มีผลทำให้ราคายางในประเทศตกต่ำมาหลายปีติดต่อกัน

%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%ad2

มันสำปะหลัง ในแต่ละปีไทยผลิตมันสำปะหลังได้ 30 ล้านตัน ในรอบหลายปีที่ผ่านมาข้าวสาลีมีราคาตกต่ำเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกษตรกรนำข้าวสาลีไปเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ ขาดแคลนมันสำปะหลังมากขึ้นแน่นอน ปรากฏการณ์ดังกล่าวย่อมกระทบกระเทือนต่อการส่งออกมันสำปะหลังไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้าวโพด เคยผลิตได้ 4.6-4.8 ล้านตัน แต่ปีที่ผ่านมาประสบภาวะแห้งแล้งในต้นปี ทำให้ผลผลิตลดลงไม่เพียงพอสำหรับนำมาผลิตอาหารสัตว์ สิ่งสำคัญการปลูกข้าวโพดของไทยมีผลต่อการทำลายป่าไม้ รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาบริหารจัดการอย่างเหมาะสม

ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตเฉลี่ยแต่ละปี 10-12 ล้านตันทะลายสด การเกิดสภาวะแห้งแล้งทำให้ผลผลิตลดลง ในปีที่ผ่านมาไทยต้องนำเข้าน้ำมันปาล์ม จำนวน 50,000 ตัน เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งการบริโภค และทำไบโอดีเซลคู่ขนานกันไป

%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%ad7 %e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%ad8 %e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%ad9

ผลไม้และผลิตภัณฑ์ นำเงินตราเข้าประเทศ ประมาณ 1.0 แสนล้านบาท การบริโภคภายในประเทศและการส่งออกมีอัตราเพิ่มขึ้น 10.7 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะสับปะรด ลำไย และทุเรียน เป็นตัวนำตามมาด้วย มะพร้าวน้ำหอม ส้มโอ และกล้วยหอม

น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ มีมูลค่าเฉลี่ยทุกปี 9.8 หมื่นล้านบาท มีอัตราการบริโภคและส่งออกเพิ่มขึ้น 3.0 เปอร์เซ็นต์

ปลาและผลิตภัณฑ์จากปลา นำเงินตราเข้าประเทศ 1 แสนล้านบาท หลังจากมีการกีดกันการค้าและการใช้แรงงานต่างด้าว ทำให้การส่งออกลดลง 9.0 เปอร์เซ็นต์

เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ ทำเงินในแต่ละปี ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ในปีนี้มีอัตราส่งออกเพิ่มขึ้น 9.7 เปอร์เซ็นต์

สินค้านำเข้าที่สำคัญของไทย ข้าวสาลี นำเข้ามาใช้เป็นพืชอาหาร มูลค่า 6.9 หมื่นล้านบาท มีอัตราการนำเข้าเพิ่มขึ้น 49.0 เปอร์เซ็นต์

ถั่วเหลืองเมล็ด เพื่อใช้บริโภค มูลค่านำเข้า 4.1 หมื่นล้านบาท มีอัตราเพิ่มขึ้น 9.7 เปอร์เซ็นต์

กากถั่วเหลือง ใช้ผลิตอาหารสัตว์ มูลค่า 6.3 หมื่นล้านบาท มีอัตราลดลง 15 เปอร์เซ็นต์

ฝ้ายและเส้นใยฝ้าย นำเข้ามูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท มีอัตราเพิ่มขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์

แอปเปิ้ล องุ่น และผลไม้เมืองหนาวอื่นๆ มูลค่านำเข้า 3.3 หมื่นล้านบาท มีอัตราเพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์

นมและผลิตภัณฑ์นม มีมูลค่าการนำเข้า 1.9 ล้านบาท และต้องการในปริมาณคงที่

สรุปโดยรวม แม้ว่าสินค้าเกษตรของไทยหลายชนิดจะมีปัญหา แต่อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมา สินค้าเกษตรไทยก็ยังเกินดุลย์มาอย่างต่อเนื่อง

เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเป็นระบบ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รัฐบาลต้องทุ่มเทการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ในโอกาสนี้ ผมขอฝากการบ้านให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งวิจัยว่า เกษตรกรในแต่ละภูมิภาคควรมีรายได้ขั้นต่ำเป็นเท่าใด แนวคิดและวิธีปฏิบัติดังกล่าว ผมใช้มาแล้วเมื่อ 30 ปีก่อนโดยมิได้ลอกเลียนแนวคิดของเจ้าสัวคนดังของไทยแต่อย่างใด แล้วเร่งวิจัยหาขนาดไร่นาที่เหมาะสมกับเกษตรกรในการถือครอง ญี่ปุ่นเขากำหนดให้เกษตรกรแต่ละราย 6.25 ไร่ ส่วนเวียดนาม กำหนดให้ใช้ที่ดิน รายละ 12 ไร่ แต่ที่ดินยังเป็นของรัฐ เพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุด