ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี สวยงาม…น่าเที่ยวทั้งปี

นอกจากอาณาบริเวณสวยงามแล้ว รอบๆ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี น่าสนใจเที่ยวชม แต่ละฤดูกาลมีเสน่ห์แตกต่างกันไป สถานที่แห่งนี้ อยู่ติดกับเทือกเขาคิชฌกูฏ มีแหล่งน้ำใสไหลเย็นทั้งปี ช่วงหน้าหนาว อากาศเย็นสบาย

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี ตั้งอยู่ตำบลฉมัน อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เดิมเป็นสถานีทดลองยางจังหวัดจันทบุรี สังกัดกรมวิชาการเกษตร พื้นที่กว้างขวางถึง 2,600 ไร่

ผอ. ชลธี นุ่มหนู

ยุคเริ่มต้นของสถานี ที่นี่เฟื่องฟูเรื่องยางพารามาก แปลงปลูกยางพารากว้างใหญ่ มองไกลสุดลูกหูลูกตา ปัจจุบันยังหลงเหลือ มีร่องรอยของความเจริญรุ่งเรืองอยู่

หากย้อนไปยังจุดเริ่มต้น ต้องชมวิสัยทัศน์ของผู้เลือกสถานที่ นอกจากสภาพแวดล้อมเหมาะสม ผืนดินยังอุดมสมบูรณ์ เหมาะต่อการวิจัยและทดลอง ที่นี่มีความแตกต่างจากถิ่นอื่น คือต้นทุนทางธรรมชาติ ซึ่งงดงามมีเอกลักษณ์ น่าค้นหา

วิจัยและให้บริการ

คุณชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี ให้ข้อมูลว่า หน้าที่ของศูนย์วิจัยฯ คือการวิจัยและให้บริการ

การวิจัยที่ทำกันอยู่ คือวิจัยพืชท้องถิ่น น่าสนใจมากนั้น มีปลูกพืชตระกูลขิง ข่า ซึ่งรวมไปถึงกระวาน พืชทรงคุณค่าของจันทบุรี นอกจากนี้ ยังทำแปลงทดสอบ เช่น ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ผสมพันธุ์ทุเรียนได้พันธุ์ใหม่ ก็นำมาปลูกทดสอบเก็บตัวเลขที่นี่…เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ยังมีงานอื่นๆ อีกมาก

กระวานในแปลงทดลอง

ส่วนงานให้บริการ ก็เช่นการตรวจสอบแปลงจีเอพี ตรวจสอบร้านปัจจัยการผลิตทางการเกษตร อย่างนี้เป็นต้น

นอกจากวิจัย ยังมีแปลงเกษตรที่เป็นตัวอย่าง…บางพื้นที่มีปลูกข้าว ทำสวนผัก เลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลา เกษตรกรที่คุ้นเคยเฉพาะงานปลูกพืช 2-3 ชนิด หากเข้าไปดูงาน ไปขอรับบริการ จะได้แนวคิดนำไปปรับใช้ ลดความเสี่ยง มีรายได้หมุนเวียน

กรมวิชาการเกษตร มีหน่วยงานวิจัยกระจายอยู่ทุกภูมิภาคของไทย ส่วนใหญ่อยู่ห่างไกลพื้นที่มาก จัดภูมิทัศน์ได้สวยงาม ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านบางคน ที่อายุงาน 30 ปีขึ้นไป ได้ตระเวนไปพักตามศูนย์ต่างๆ เกือบทุกแห่ง โดยมีค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เป็นค่าบำรุงหอพัก เดิม 30 บาท ขยับมาเป็น 100 บาท เช้าๆ ตื่นขึ้นมา ผู้อำนวยการศูนย์ยังเลี้ยงกาแฟสดๆ อีกด้วย เช่นที่สถานีทดลองเกษตรที่สูงเขาค้อ ที่สูงดอยมูเซอ บางแห่งมีน้ำแร่อาบ คือสถานีทดลองพืชสวนฝาง จังหวัดเชียงใหม่ สถานที่ที่เอ่ยนามมา ได้เปลี่ยนแปลงฐานะไปแล้ว

ตึกอำนวยการ

ผอ. ชลธี บอกว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี อยู่ในโครงการท่องเที่ยวฯ ของกรมวิชาการเกษตร จุดเด่นอยู่ที่ธรรมชาติสวยงาม ทิวทัศน์โดดเด่น ลำธารมีน้ำไหลทั้งปี บรรยากาศโดยรอบร่มรื่น มีแปลงยางพารา แปลงไม้ผล สมุนไพร ปลูกอยู่อย่างหนาแน่น

ศูนย์วิจัยแห่งนี้ไปไม่ยาก เริ่มต้นที่ตัวเมืองจันท์ ใช้ถนนสายจันทบุรี-สระแก้ว เป็นถนน 4 เลน เลยพื้นที่ตัวอำเภอมะขาม (ไม่ผ่านตลาด) ตรงนั้นเป็นสามแยก รู้จักกันดีว่าแยกเข้า “ทุ่งเพล” เลี้ยวเข้าไปอีก 10 กิโลเมตร ก็ถึง เขามีป้ายบอกชัดเจน รวมระยะทางจากตัวเมืองจันท์ ราว 30 กิโลเมตรเศษๆ

ตรงปากประตูเข้าไปยังศูนย์ซ้ายมือ มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่เป็นดง บางต้นขนาดหลายคนโอบ หากอยากรู้ว่า เมื่อ 100-200 ปีมาแล้ว สภาพทั่วไปบริเวณนั้นเป็นอย่างไรให้ดูตรงนี้ เขากันไว้เป็นป่าอนุรักษ์ ผู้มอบให้คือ นายอำเภอเผียน อยู่รอด อดีตนายอำเภอมะขาม ถือว่ามีคุณค่าอย่างมาก

ภายในศูนย์มีแปลงปลูกพืชหลากหลายชนิด แต่ละแปลงมีถนนเชื่อมต่อ รวมแล้วระยะทางไม่ต่ำกว่า 10 กิโลเมตร ลักษณะของถนนสูงต่ำ แต่ราบเรียบ ถูกซ่อมบำรุงอย่างต่อเนื่อง จึงเหมาะมากสำหรับการนำจักรยานเข้าไปปั่น ระหว่างทางมีต้นไม้ใบหญ้าให้ศึกษา มีศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่

หากต้องการชมให้ครบตามที่จัดไว้ ต้องนั่งรถ เพราะระยะทางไกล

ที่พักตั้งอยู่ริมลำธารนี้

อ่างเก็บน้ำ เป็นสถานที่ที่พัฒนาขึ้นเพื่อนำน้ำมาใช้ทางการเกษตร บางช่วงได้เผื่อแผ่เกษตรกรข้างเคียง ผลจากการปรับปรุง เกิดภูมิทัศน์สวยงาม ด้านทิศตะวันตกมีเทือกเขาอันอุดมสมบูรณ์เป็นฉากหลัง

ผู้คนนิยมนำรถมาจอด พักผ่อนริมอ่างเก็บน้ำ ที่ไม่พลาดคือถ่ายภาพส่งให้คนรู้จักได้เห็นสิ่งสวยๆ งามด้วย

ที่พักสะดวกสบาย

อยู่ริมลำธาร มีน้ำไหลผ่าน

ผู้เข้ามาท่องเที่ยว แล้วอยากพักค้างคืน ทางศูนย์มีที่พัก 4 หลัง

หากคิดเหมาทั้งหลัง ราคาอยู่ที่ 3,000-4,500 บาท บางหลังพักได้ 20 คน หากคิดเป็นรายหัว 300 บาท เฉพาะค่าที่พัก ส่วนอาหารสามารถสั่งจากร้านใกล้ๆ

ทางจักรยานบริเวณศูนย์วิจัยฯ

กลุ่มไหนที่ประสงค์จะทำอาหาร เขามีครัวให้ โดยเฉพาะเตาปิ้งย่าง มีพร้อม

พิเศษมากสำหรับที่พัก ที่ตั้งอยู่ริมลำธาร หน้าร้อนลงเล่นน้ำได้อย่างสบาย ลำธารมีต้นกำเนิดมาจากขุนเขาคิชฌกูฏ จึงรับประกันว่าไม่มีแห้ง

เรื่องอาหารการกิน ถึงแม้ทางศูนย์วิจัยฯ ไม่มีบริการ แต่รอบๆ มีร้านอาหารอร่อย โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงจากเครื่องเทศท้องถิ่น อย่าง กระวาน ได้รับความสนใจจากผู้เข้าพักเป็นอย่างมาก อาทิ ไก่บ้านต้มกระวาน ไก่บ้านต้มระกำ และอื่นๆ

สำหรับระเบียบการเข้าพัก ก็เป็นไปตามที่กรมวิชาการเกษตรระบุไว้ เช่น ห้ามล่าสัตว์ ห้ามส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น เป็นต้น

ใครเคยไปสถานที่แห่งนี้ช่วงหนาว จะทราบดีว่า อิทธิพลเขาคิชฌกูฏแผ่ลงมาทำให้อากาศเย็น บางช่วงถึงกับยะเยือกเลยทีเดียว อากาศเย็นช่วยให้ต้นไม้ใบหญ้าเปลี่ยนสีไป อย่างยางพาราเดิมเคยใบเขียว กลายเป็นเหลืองแดง สวยไปอีกแบบ

ป่าอนุรักษ์

หน้าฝน มีเสน่ห์ต่างออกไป เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ตำบลฉมัน และบริเวณใกล้เคียง เป็นแหล่งผลิตผลไม้คุณภาพดี อย่าง เงาะ ทุเรียน มังคุด หลังสงกรานต์ เริ่มมีชาวสวนนำผลผลิตมาจำหน่าย

หน้าศูนย์วิจัยฯ มีร้านค้าที่ทางศูนย์จัดพื้นที่ไว้ให้ ผลผลิตจากที่นี่รับประกันว่ามีคุณภาพ ทุเรียนแก่จัด สะละรสหวานฉ่ำ ราคายุติธรรม ด้วยเหตุนี้ นักท่องเที่ยวจึงนิยมซื้อกลับบ้าน

สำหรับคอกาแฟ ไม่ควรพลาดอย่างเด็ดขาด ร้านกาแฟ “ง่ามไม้” เขายกกาแฟดี จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงรายมาให้ได้ลิ้มรสกัน ไม่ต้องขับรถไปไกลถึงถิ่นเหนือ

ผอ. ชลธี บอกว่า นอกจากวิจัยและทดลองเกี่ยวกับไม้ผลแล้ว ที่ลุ่มบางส่วนได้ทดลองปลูกข้าวพื้นเมือง ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีงานประจำปี คือ “เดิน วิ่ง ปั่น การกุศล กิจกรรมเกี่ยวข้าวเผาปลา เสวนาเกษตรอินทรีย์” ที่ผ่านมา จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม

ทิวทัศน์กินขาด ที่เห็นอยู่เป็นฉากหลังคือขุนเขาคิชฌกูฏ

กิจกรรมที่มีขึ้น ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี เพราะนอกจากสนุก ได้กุศลแล้วยังได้ความรู้ทางการเกษตร

แหล่งท่องเที่ยวข้างเคียง

ล้วนเด็ดๆ

ใครที่มีโอกาสแวะเข้าไปแถบนั้น จะทราบกันดีว่า เป็นชุมชนน่าเที่ยว หากมีเวลาเพียง 1 วัน อาจจะน้อยไป

แหล่งท่องเที่ยวที่ไปต่อได้คือ วัดเขาบรรจบ มีพระอุโบสถที่สวยงามมาก น่าแวะทำบุญให้จิตใจผ่องใส

น้ำตกเขาบรรจบ น้ำตกอ่าวเบง ก็อยู่ไม่ไกล

ผาหินกูบ ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม

ข้ามมาทางอำเภอเขาคิชฌกูฏ มีพระบาทพลวง เดิมสถานที่แห่งนี้ขึ้นกับอำเภอมะขาม แสดงว่าอยู่ไม่ไกลกัน

ร้านกาแฟง่ามไม้

“ที่ศูนย์เรามีแหล่งท่องเที่ยวสมบูรณ์แบบ มีน้ำตก ที่พัก ที่ประชุมสัมมนา มีสวนป่า มีศูนย์เรียนรู้การผลิตพืช บริเวณป่าแถบนี้มีช้างอยู่ 3-4 ตัว แต่ก็มีคนคอยติดตามและแจ้งระวัง รับรองปลอดภัย มีช้างแสดงว่า ป่าอุดมสมบูรณ์ อยากเชิญชวนมาเที่ยวกันครับ” ผอ. ชลธี บอก

จังหวัดจันทบุรี เป็นจังหวัดน่าเที่ยว มีครบทั้งทะเล ภูเขา แหล่งอารยธรรม รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น อาหารการกิน ผัก ผลไม้

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี เป็นอีกสถานที่หนึ่ง ที่น่าแวะเวียนไปเที่ยวกัน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ (039) 609-886, (081) 945-3326 หรือติดตาม FB:ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี