ทิ้งงานเซลส์ เงินเดือน 6 หลัก ทำธุรกิจส่วนตัว มีฟาร์มแมวเบงกอลเสริม สร้างรายได้

หากไม่รู้มาก่อน ว่าแมวมีสายพันธุ์เบงกอล ที่มีลักษณะโดดเด่น เหมือนเสือ อาจจะคิดไปได้ว่า บ้านหลังนี้เลี้ยงเสือไว้เล่นๆ หรือเปล่า

แต่เพราะมีแมวสายพันธุ์เบงกอลที่มีลักษณะคล้ายเสือ ซึ่งถูกพัฒนาสายพันธุ์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 หรือ พ.ศ. 2523 ที่รัฐอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการผสมข้ามสายพันธุ์ ระหว่างแมวดาว (Asian Leopard Cat) กับแมวบ้าน (Domestic Shorthair) ในที่นี้คือ Egyptian Mau หรือพันธุ์แมวอียิปต์โบราณ และมีโครงสร้างเป็นลายจุด มีลักษณะที่เหมือนแมวป่า (Wild Cat) ซึ่งเป็นการผสมข้ามสายพันธุ์ของแมวดาวกับ E.Mau and Ocicat (ข้อมูลจาก Wikipedia) ทำให้เป็นไปได้ว่า สิ่งที่เห็นเดินเยื้องย่างภายในบ้านคน น่าจะเป็นแมวสายพันธุ์เบงกอล

คุณพลเดช กนกสังแคลนพรหม แฟนคุณชญาภา ผู้ช่วยดูแลฟาร์มแมว

คุณชญาภา พงษ์สุทธิโสภา อดีตพนักงานบริษัท ที่ทำรายได้ให้ตัวเองสูงเป็นตัวเลขถึงเดือนละ 6 หลัก แต่ในที่สุดการได้ทำงานอิสระ บริหารจัดการด้วยตัวเองก็เป็นงานที่คุณชญาภาพอใจมากกว่า จึงลาออกมาทำงานส่วนตัว ทำให้มีเวลามากขึ้น

เวลาที่มากขึ้น ทำให้มีบางช่วงรู้สึกเหงา จึงตัดสินใจเลี้ยงแมวไว้เป็นเพื่อน

“ตอนนั้นรู้จักแต่พันธุ์สกอตติช โฟลด์ จึงลองค้นหาในอินเตอร์เน็ต ก็พบพันธุ์เบงกอล ตอนแรกคิดว่าเสือ ดูโฉบเฉี่ยว รู้สึกชอบ จึงลองค้นความรู้เพิ่มเติมพบแหล่งเพาะขาย จึงตัดสินใจซื้อมาตัวแรกเป็นเพศเมีย หลังจากนั้นไม่นาน ก็อยากให้เขามีเพื่อน จึงซื้อเพศผู้มาเพิ่มอีก”

ผลงานการประกวดที่ได้รับรางวัล

ยุคที่เลี้ยงแรกๆ แมวพันธุ์เบงกอลที่รับเข้ามา คุณชญาภา คิดเพียงเลี้ยงเป็นเพื่อนแก้เหงา แต่เมื่อเกิดการผสมพันธุ์และได้ลูกแมวเพิ่ม ยิ่งทำให้คุณชญาภามีความสุขและซื้อเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ พร้อมๆ กับการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแมวพันธุ์เบงกอลไปด้วย ทำให้ภายหลังที่เริ่มรับแมวพันธุ์เบงกอลมาเลี้ยงเพิ่ม เป็นแมวที่มีใบรับรองสายพันธุ์ และบางส่วนเป็นแมวที่นำเข้ามาจากต่างประเทศพร้อมใบรับรองสายพันธุ์ จาก The International Cat Association (TICA) ประเทศสหรัฐอเมริกา

เมื่อเริ่มจำนวนมากขึ้น รูปลูกแมวที่น่ารักถูกโพสต์ลงโซเชียล ทำให้มีคนติดต่อขอรับไปเป็นเจ้าของ การแบ่งออกไปของลูกแมว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำฟาร์ม

คุณชญาภา เล่าว่า ก่อนหน้านี้ แมวพันธุ์เบงกอลถูกพัฒนามาหลายเจนเนอเรชั่น ทำให้ความดุร้ายที่มีอยู่ตามสายพันธุ์หมดไป นิสัยที่คงอยู่ก็เหมือนแมวบ้านทั่วไป ขี้อ้อน น่ารัก ชอบคลอเคลีย แต่ยังไม่ทิ้งคราบแมวป่า คือความว่องไว ฉลาด ปราดเปรียว ทั้งยังชอบเล่นน้ำ แตกต่างจากแมวพันธุ์อื่นทั่วไป แต่ทั้งนี้ลักษณะนิสัยของแมวแต่ละตัว ขึ้นอยู่กับลักษณะทางพันธุกรรมในสายพันธุ์ 60 เปอร์เซ็นต์ และอีก 40 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยง

คุณชญาภา ทำฟาร์มแมวบริเวณบ้านด้วยการแบ่งสัดส่วนสำหรับพื้นที่เลี้ยงแมวไว้ต่างหาก จัดเป็นพื้นที่ของแมวเด็ก แมวโต แมวท้อง พ่อแม่พันธุ์

“แมวพันธุ์เบงกอล มี 8 สี แต่สีหลักๆ ที่พบได้บ่อย 4 สี คือ บราวน์ สโนว์ ซิลเวอร์ และชาร์โคล ซึ่งที่ฟาร์มเรามีครบ ถ้าจะถามว่าสีไหนสวย คงต้องขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยง เพราะลายก็มีแยกย่อยออกไปอีก ซึ่งเรามีสีบราวน์มากกว่าสีอื่น เพราะเห็นว่า สีบราวน์ในประเทศไทยยังด้อยกว่าที่อื่นมาก จึงอยากบรีดให้ได้สีบราวน์ที่มีลักษณะเด่นให้ได้ในบ้านเรา”

การผสมพันธุ์ในแมวพันธุ์เบงกอล ฟาร์มแนะนำว่า ในแม่พันธุ์ควรมีอายุ 1 ปีขึ้นไป ส่วนพ่อพันธุ์อายุไม่น้อยกว่า 11 เดือน และการผสมพันธุ์ในแต่ละครั้ง ต้องคำนึงถึงความพร้อมของแม่พันธุ์เป็นสำคัญ ต้องรอให้แม่พันธุ์พร้อมผสม คือที่เรียกว่า เป็นสัด แม่พันธุ์จะแสดงอาการออกมาผ่านการร้อง ลักษณะท่าทาง เมื่อถึงเวลานั้นก็สามารถนำพ่อพันธุ์ไปผสมได้

หลังการผสม แม่แมวจะตั้งท้องราว 60-65 วัน หรือ 70 วันในแม่พันธุ์บางตัว

การคลอด ฟาร์มให้แม่แมวคลอดเองตามธรรมชาติ แต่จะคอยดูและสังเกตห่างๆ เพื่อเข้าช่วยเหลือ หากเห็นว่าแม่แมวช่วยเหลือลูกแมวที่เพิ่งคลอดไม่ได้ ก็เข้าไปช่วย เช่น การตัดสายรก การฉีกถุงรก การดูดน้ำคร่ำออกจากลูกแมว และเมื่อแม่แมวคลอดออกมาครบ จากนั้นก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแม่แมวเลี้ยงลูกตามธรรมชาติ

“เราแยกพื้นที่สำหรับแม่แมวเลี้ยงลูกไว้ต่างหาก ไม่ให้แมวอื่นรบกวน ลูกแมวจะกินนมแม่แมวไปนานประมาณ 2 สัปดาห์ หากสังเกตเห็นว่าน้ำนมแม่แมวน้อยหรือลูกแมวได้รับนมแม่ไม่เพียงพอ ก็ควรเสริมนมให้กับลูกแมว โดยป้อนนมเสริม จากนั้นลูกแมวจะเลียนแบบแม่แมวในการกินอาหารเม็ด น้ำ และการเข้ากระบะแมวเพื่อขับถ่ายเอง”

คุณชญาภา บอกว่า อาหารสำหรับแมว หลักๆ เป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูปที่มีคุณภาพ มีโปรตีนในอาหารเม็ดสำเร็จรูปสูง เพราะแมวพันธุ์เบงกอลเน้นกล้ามเนื้อ จึงต้องการโปรตีนสูง และเสริมอาหารเสริมให้กับลูกแมว แมวท้อง และแมวที่ต้องการการบำรุงสำหรับเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เป็นอกไก่ต้มฉีกและอาหารเปียกสำหรับแมว

ถึงแม้ว่า แมวพันธุ์เบงกอลจะเป็นแมวที่มีต้นกำเนิดจากต่างประเทศ แต่ก็เป็นแมวขนสั้น และชอบเล่นน้ำ ดังนั้น การเลี้ยงในประเทศไทย จึงสามารถเลี้ยงในอุณหภูมิห้องปกติได้

คุณชญาภา แนะนำสำหรับผู้เลี้ยงแมวพันธุ์เบงกอลมือใหม่ว่า ควรเลี้ยงด้วยระบบปิดเพื่อป้องกันโรค และอาจจะหลุดออกไปนอกบ้าน ทำให้เกิดการสูญเสีย

ปัจจุบันมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เกือบ 20 ตัว และผสมตามความเหมาะสม โดยดูจากความสมบูรณ์ของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เป็นหลัก ทำให้ต่อปี ได้ลูกแมวให้คนรักแมวพันธุ์เบงกอล 25-30 ตัว และก่อนน้องแมวย้ายบ้าน ทางฟาร์มจะฉีดวัคซีนหลักที่จำเป็นให้ครบถ้วนก่อน ซึ่งน้องแมวจะมีอายุประมาณ 3 เดือน จึงพร้อมย้ายบ้านได้

ค่าตัวน้องแมวราคาตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป หากเป็นเกรดเลี้ยงเล่น ราคาอยู่ที่ 15,000-20,000 บาท เกรดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ อยู่ที่ 20,000-60,000 บาท และเกรดประกวด ราคาเริ่มต้นที่ 60,000 บาท หากท่านใดสนใจ ติดตามได้ทางหน้าแฟนเพจเฟซบุ๊ก ONCE Bengals ฟาร์มแมว เบงกอล หรือติดต่อทางโทรศัพท์ ได้ที่หมายเลข 082-568-7400 ยินดีต้อนรับ

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354